สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

กิจกรรม 3 กระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละคร

photo  , 248x186 pixel , 19,023 bytes.

กระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละคร แนวคิดการดำเนินงานกิจกรรม การสร้างรูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษานี้มีโจทย์เบื้องต้นที่กำหนดไว้ คือ ต้องการให้เกิดเป็นรูปแบบที่สามารถสอดคล้องกับลักษณะของกลุ่มเป้าหมายที่เรียน โดยเฉพาะความสนใจในเนื้อหาเพศศึกษาต่างๆ เกิดการสื่อสารสองทางที่แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน มีบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนาน เป็นการเรียนรู้ที่นำเสนอความเป็นจริงของธรรมชาติ และให้คุณค่ากับตัวผู้เรียน ซึ่งโจทย์เบื้องต้นที่ได้กำหนดนี้ มีความคาดหวังที่ให้เกิดประสิทธิผลแก่ผู้เรียน เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมาย ใช่เกิดความรู้ความเข้าใจเพียงเนื้อหาในเรื่องราวที่ได้เรียนในแต่ละครั้ง แต่มุ่งหมายในการสร้างแนวคิดเชิงทัศนคติให้กับผู้เรียน ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้เรียนเองในอนาคต และรูปแบบการเรียนรู้นี้ก็คาดหวังให้ตัวผู้สอนเองบรรลุความประสงค์ในใจที่ปรารถนาให้ผู้เรียนเข้มแข็งต่อต่อสิ่งยั่วเย้าให้เกิดปัญหาทางเพศในชีวิตที่ใช่เพียงการนำความรู้ไปตอบข้อสอบในระดับการเรียนที่สูงขึ้นเท่านั้น การสร้างรูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละครนี้ ได้อาศัยองค์ความรู้และข้อมูลที่สำคัญต่างๆที่ว่าด้วย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 การวิธีการเรียนรู้ต่างๆ ละครการศึกษา พัฒนาการทางร่างกายและจิตใจด้านเกี่ยวกับเพศ ความสนใจและข้อสงสัยในหัวข้อเพศศึกษาของผู้เรียน และการเรียนรู้อนามัยเจริญพันธุ์และเพศศึกษา นำมาสังเคราะห์เป็นรูปแบบการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาโดยผู้เรียนได้ปฏิบัติผ่านกิจกรรมและแบบฝึกหัดทางกาละคร การดำเนินงานเน้นการทดลองให้เกิดการดำเนินงานจริงในบริบทและจังหวะเวลาในการเรียนของนักเรียนที่เป็นจริง โดยเลือกดำเนินงาน 2 โรงเรียน โรงเรียนแรกให้เป็นการทดลองแผนการสอนที่คิดขึ้น ส่วนโรงเรียนที่สองให้นำแผนการสอนที่ได้ปรับแก้ไขแล้วจากการสอนโรงเรียนแรกมาทำการสอนทดลองลองซ้ำอีกครั้ง และ ทำการวัดประสิทธิผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ได้เรียนตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้น รูปแบบการเรียนรู้ที่ได้พัฒนาขึ้นกำหนดให้เป็นรูปแบบการเรียนรู้วิชาเพศศึกษาโดยเฉพาะ เพราะจะเกิดเป็นตัวแบบการดำเนินการจัดการเรียนรู้ที่เต็มรูปแบบ และศึกษาองค์ประกอบและปัจจัยต่างๆที่มี่ผลต่อความสำเร็จและล้มเหลวของรูปแบบนี้ได้ และเมื่อรูปแบบนี้นำไปสู่การปรับใช้จริงของครูผู้สอนตามแต่ละโรงเรียน ก็จะทราบถึงแนวทางการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพได้

วัตถุประสงค์ 1. เพื่อนำองค์ความรู้และข้อมูลที่สำคัญต่างๆมาพัฒนาให้เกิดเป็นรูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละครสำหรับผู้เรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 2. เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละคร ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น องค์ความรู้และข้อมูลที่ใช้ในการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 มาตรา 6 การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข มาตรา 7 ในกระบวนการเรียนรู้ต้องปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง มาตรา 24 การจัดการศึกษาต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องต่อไปนี้ 1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล 2) ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้เพื่อป้องกันและแก้ปัญญา 3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติ ให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง 4) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆอย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา 5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนกาเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ 6) จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ มาตรา 26 ให้สถานศึกษาจัดการประเมินผลผู้เรียนโดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรมและการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอนตามความเหมาะสมของแต่ละระดับและรูปแบบการศึกษา มาตรา 27 ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ               ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีแก่ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

วิธีการเรียนรู้ต่างๆ ผลการศึกษาวิจัยในเรื่องการเปรียบเทียบการเรียนรู้โดยวิธีการต่างๆ โดย ดร.เอ็ดการณ์ เดล พบว่า การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์นาฏการ(ละคร) เป็นวิธีการที่ได้ผลดีเยี่ยมกว่าวิธีการเรียนรู้อื่นๆ อีก 9 วิธี อันได้แก่ การบรรยาย การอภิปราย ศึกษานอกสถานที่ ชมการสาธิต นิทรรศการ ภาพยนตร์ ภาพนิ่ง ทัศนะสัญลักษณ์ และวัจนะสัญลักษณ์ เนื่องจากทำให้ผู้เรียนสามารถจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ได้ถึง 90 เปอร์เช็นต์ แม้ว่าเวลาผ่านไปถึง 2 สัปดาห์

ละครการศึกษา ละครการศึกษามีมิติที่หลากหลายนำไปสู่การพัฒนาของมนุษย์ เช่นละครมีคุณค่าในระดับอารมณ์ ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนานและมีความสุข หรืออาจจะทำให้เราเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คุณค่าในระดับสมอง ละครที่สอดแทรกเนื้อหาสาระจะทำให้เรามีความคิดใหม่ๆหรือองค์ความรู้ที่กว้างไกลขึ้น คุณค่าในระดับจิตใจ ละครบางเรื่องอาจทำให้รู้สึกรู้แจ้งเห็นจริง นำไปสู่การตระหนักทางปัญญา บทบาทของละครที่ใช้ในการศึกษาและพัฒนาเด็ก ประกอบด้วย 5 มิติ
1. ละครในมิติที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ 2. ละครในมิติที่เป็นวิถีสู่การเรียนรู้
3. ละครในมิติของสื่อและพื้นที่แสดงออก 4. ละครในมิติของศิลปะ 5. ละครในมิติที่เป็นเครื่องมือพัฒนามนุษย์ เหตุผลที่ต้องใช้ละครเป็นเครื่องมือในเรียนรู้ เพราะ ละครมีความเป็นรูปแบบศิลปะที่ยิ่งใหญ่มากของโลก เพราะละครเป็นสื่อที่เก่าแก่ที่สุด เกิดขึ้นมาพร้อมกับมนุษย์ ละครช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะเข้าใจ และมีวิธีการเรียนรู้ที่แบบยากที่จะได้ในการเรียนรู้จากวิชาอื่นๆ
ละครตั้งอยู่บนพื้นฐานของมนุษย์หลายด้าน ละครสามารถสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กได้มากที่สุดนั้นคือการเล่น ละคร-ใน-การศึกษา(Drama-in-education)
ละครในการศึกษา เป็นละครในโรงเรียนที่พัฒนาขึ้นในประเทศอังกฤษ จากแนวคิดเรื่องการเล่นของเด็กเป็นวิธีการเรียนรู้ตามธรรมชาติ นักคิด เช่น สเลด และไบรอันเวย์ สนับสนุนการเล่นอย่างอิสระและควบคุมกระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาตินี้น้อยที่สุด วิธีการของเวย์ได้รับการตอบสนองสูงจากครูและผู้ปฏิบัติงานละครทั้งในอังกฤษและในสหรัฐอเมริกา แต่ในสหรัฐฯนั้น การแสดงละครแบบมีเรื่องราวในขั้นตอนละครสร้างสรรค์ ช่วยกำหนดกรอบในการพัฒนาความคิดของผู้ร่วมกิจกรรมได้ดีกว่า ครูในโรงเรียนที่ทำกิจกรรมละครไม่รู้ว่าควรปล่อยให้เด้กมีอิสระมากเพียงใดหรื่อควบคุมอย่างไรจึงจะดีที่สุดสำหรับเด็กและเยาวชน โดโรธี ฮีทโคท และเกลวิน บอลตัน นำเสนอแนวคิดเรื่อง ละครในการศึกษา โดยให้ครูเป็นผู้วางแผนกิจกรรมทางละครที่เหมาะสมกับกลุ่มเด็กของตน เทคนิคละครในการศึกษานี้เน้นที่กระบวนการเล่นบทบาทสมมติ(role play) การแสดงออก(acting out) ในละครสด(improvisation) และละครสถานการณ์(situation drama) ขั้นตอนในละครการศึกษามีดังต่อไปนี้คือ 1. เกมส์และกิจกรรมการเล่น(games and exercises) แบบฝึกหัดเรื่องการเคลื่อนไหว การทำท่าทาง ลีลาเพื่อสื่อความหมาย การเล่นเกมส์และการฝึกจินตนาการร่วมกัน กิจกรรมที่เน้นการร่วมมือก้น การสร้างวินัยทางการละคร ฝึกสมาธิ ความเชื่อ และการแสดงออกในการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล 2. บทบาทสมมติ(role play)และการแสดงออก(acting out) ครูจัดกิจกรรมที่ให้เด็กได้สวมบทบาทเป็นผู้อื่นในสถานการณ์และเงื่อนไขที่ครูวางแผนไว้ ซึ่งอาจเป็นเรื่องจากครอบครัว หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม บทเรียนในวิชาใดวิชาหนึ่ง บทบาทสมมติในการแสดงสดนี้สำคัญมาก เพราะมี 2 ระดับคือ ระดับที่ 1 การแสดงบทบาทตามที่เด็กมองเห็นและเข้าใจจากภายนอก โดยถือเอาการเลียนแบบท่าทางการกระทำ เช่น เป็นพ่อต้องนั่งไขว่ห้าอง อ่านหนังสือพิมพ์ เป็นแม้ค้าต้องถือกระจาดร้องขายของ ระดับที่ 2 การแสดงเป็นบทบาทนั้นในสถานการณ์ที่กำหนดขึ้น ในสถานการณ์ดังกล่าวมีความขัดแย้งและปัญหาที่ชัดเจน ผู้ทำกิจกรรมต้องมีความเข้าใจในปัญหาและต้องใช้ความรู้ ตลอดจนประสบการณ์ของตนในการพัฒนาเรื่องราวกับเพื่อนที่ร่วมทำกิจกรรม เพื่อแก้ไขปัญหา หรือข้อขัดแย้งให้ลุล่วงไป การเรียนรู้ผ่านการเล่นละครสด ในการทำกิจกรรมการแสดละครที่เด็กทำร่วมกันนั้นไม่ต้องการผู้ชมที่เป็นคนนอกกลุ่ม สิ่งสำคัญอยู่ที่เด็กได้ทดลองสวมบทบาทเป็นผู้อื่นได้แสดงความคิดเห็นของตนในเหตุการณ์สมมติผ่านการแสดง และเมื่อการแสดงสิ้นสุดลงกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมจะได้พูดคุย วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ต่างๆทั้งในเรื่องความเป็นไปได้ และความสมเหตุผล ถ้าเป็นผู้อื่นสวมบทบาทนี้ เหตุการณ์จะสามารถพัฒนาในแบบอื่นได้หรือไม่ อาจสลับบทบาทกันและทดลองแสดงในเหตุการณ์เดิมอีก แล้วแต่เด็กจะตกลงกัน 3. การเรียนรู้ผ่านกระบวนการของละคร(situation drama) ก่อนที่จะแสดงสดนั้นนักเรียนจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับตัวละครที่ต้องสวมบทบาท ปัญหาและจุดมุ่งหมายของตัวละคร และเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และทำไมจึงทำเช่นนั้น ผู้ร่วมกิจกรรมต้องมีความชัดเจนในจุดมุ่งหมายของตัวละครที่เขาสวมบทบาท การเผชิญหน้าปัญหาและการตัดสินใจกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งในกิจกรรมละครนี้เปิดว่างไว้ให้ผู้แสดงบทบาทได้พัฒนาการกระทำ การแก้ไขปัญหาต่างๆด้วยตนเอง ละครในแนวคิดตะวันตกเน้นการลงมือกระทำและปฏิกิริยาโต้ตอบของนักแสดงอื่นในกลุ่มที่แสดงร่วมกัน วิธีคิดเช่นนี้เป็นพื้นฐานการแสดงละครเวทีเช่นเดียวกัน

พัฒนาการทางร่างกายและจิตใจด้านเกี่ยวกับเพศ การเจริญเติบโตจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและซับซ้อน ระยะเวลาตั้งแต่แรกเกิดเติบโตไปเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น จนถึงวัยหนุ่มสาว ใช้เวลานานถึง 20 ปี ซึงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ความคิด สติปัญญา อารมณ์ สังคม และมีพัฒนาการทางเพศ พัฒนาการทางเพศ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมทางเพศ บทบาททางเพศ แรงผลักดันทางเพศ รวมทั้งทุติยลักษณะทางเพศ การเปลี่ยนแปลงนี้มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการคือ ลักษณะประจำตัวแต่ละบุคคล พันธุกรรม อิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม และประสบการณ์จากสังคมและชุมชนต่างๆกันไป การเลี้ยงดูตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ปี จะมีความสำคัญต่อบุคลิกภาพ และพัฒนาการทางเพศมาก
บุคลิกภาพของมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดมีพัฒนาการเป็นขั้นๆ มีผู้ศึกษาและเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับพัฒนาบุคลิกภาพนี้เป็นจำนวนมาก แต่ทฤษฎีที่ไดรับการเชื่อถือกันมาก คือ ทฤษฎีพัฒนาการบุคลิกภาพของฟรอยด์ ฟรอยด์สนใจแรงขับทางเพศมาก จึงอธิบายสาเหตุของพัฒนาการทางเพศแต่ละขั้นว่ามีความสัมพันธ์กับอวัยวะที่ตอบสนอง และให้ความสุขความพึงพอใจทางเพศต่างกันไปในแต่ละวัย คือ บริเวณปาก บริเวณทวารหนัก บริเวณอวัยวะเพศ ในการพัฒนาแต่ละขั้นตอนเหล่านี้ ถ้าเด็กได้รับการตอบสนองที่ดี และมีความสุขเพียงพอ ก็จะพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี พัฒนาการวัยรุ่นตอนต้น(อายุ 9-14 ปี) ลักษณะทั่วไป
การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จะเกิดขึ้นโดยฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมองจะหลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้น ทำให้เด็กวัยรุ่นทั้งชายและหญิงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เด็กจะมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างมากจนดูลักษณะแขนขายาวเก้งก้าง ในระยะแรกนี้เด็กจะยังปรับตัวกับร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ดี จะมีความวิตกกังวลกับร่างกายของตนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการประหม่า อาย ขาดความมั่นใจ ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ยาก ทนไม่ได้ต่อการวิพากษ์วิจารณ์ บางครั้งอาจมีการต่อต้าน ก้าวร้าว มีเรื่องกระทบกระเทือนใจเพียงเล็กน้อยก็อาจจะเสียใจมาก จนถึงขนาดอาขฆ่าตัวตายได้ การเข้าสู่วัยสาว การเข้าสู่วัยสาวของเด็กผู้หญิงจะเริ่มเมื่อต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนไปกระตุ้นต่อมรังไข่ ทำให้รังไข่เจริญเติบโตและหลั่งฮอร์โมนเพศหญิงไปกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่อวัยวะเพศ การเปลี่ยนแปลงที่เห็นครั้งแรกคือบริเวณรอบหัวนม หัวนมเดิมเป็นตุ่มจะยื่นออกมา มีความสูงเพิ่มขึ้นและมีไขมันมาพอกพูนร่างกาย มีเต้านมใหญ่ออกมา กระดูกเชิงกรานขยายใหญ่ขึ้น มีขนที่หัวเหน่าและรักแร้ แคมและคลิตอริส จะมีไขมันมาพอใต้ผิวหนังบริเวณนี้ ผิวหนังตามใบหน้า หลัง และต้นแขนก็จะขับไขมันออกมามาก ทำให้เกิดสิว ต่อมเหงื่อก็จะขับเหงื่ออกมามาก ทำให้มีกลิ่นตัว หลังจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ประมาณ 1 ปี เด็กหญิงก็จะมีประจำเดือนครั้งแรกตามมา ในปัจจุบันนี้เด็กผู้หญิงจะรับรู้เรื่องการมีประจำเดือนจากแม่ ครู หรือหนังสือเรียนและสื่อ แต่ยังมีวัยรุ่นเป็นจำนวนมากที่ยังวิตกกังวล และรอคอยว่าเมื่อไรจะมีประจำเดือนมา มีไม่น้อยที่เข้าใจผิดว่าประจำเดือนเป็นเลือดเสียที่ร่างกายขับออกมา ในช่วงปีหรือสองปีแรกการมีประจำเดือนอาจจะไม่มีการตกไข่ และประจำเดือนอาจจะยังมาไม่สม่ำเสมอ หลังจากระยะนี้จึงจะมีไข่ตก ซึ่งอาจจะทำให้วัยรุ่นบางคนเกิดอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือนมา ก็จะเกิดความวิตกกังวลอย่างมากว่าจะเป็นโรคร้ายต่างๆตามมา พ่อแม่หรือครู ควรจะให้ความรู้เรื่องนี้อย่างละเอียด ให้เด็กเข้าใจและดูแลตนเองได้ ในระยะนี้การรับรู้ความเป็นเพศใดของตนจะกลับมามีความสำคัญมากอีกครั้งหนึ่ง สำหรับวัยรุ่นหญิงบางคนที่มีความสนิทกับพ่อมากกว่าแม่ และมีความคิดฝันว่าตัวเองเป็นเด็กผู้ชายเหมือนกับพ่อ ก็จะยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้แล้ว การที่จะยอมรับความเป็นผู้หญิงได้นั้นขึ้นอยู่กับการรับรู้ในความเป็นเพศหญิงของตนว่ามั่นคงเพียงใด ซึ่งความรับรู้นี้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูในวัยเด็กตอนตน ในระยะ 2-6 ปี พ่อเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากต่อลูกชายและลูกสาว พ่อจะต้องรักและให้เกียรติแม่ ทำให้ลูกสาวรับรู้ถึงความสำเร็จของความเป็นผู้หญิง พ่อควรจะให้ความรักและรักษาความสนิทสนมกับลูกให้พอเหมาะ เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่มั่นใจในการเปลี่ยนแปลงของตนเอง ถ้าพ่อห่างเหินไปเพราะลูกโตแล้วและไม่ควรอยู่ใกล้ชิด จะทำให้ลูกไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงการเป็นผู้หญิงของตนเอง จะเกิดการรับรู้และเลียนแบบทางเพศที่ผิดปกติไป ถ้าพ่อและแม่หย่ากันในช่วงนี้ จะมีผลต่อลูกอย่างมาก เด็กสาวหลายคนพยายามทำตัวเลียนแบบพ่อ เพื่อจะได้ดูแลแม่และน้อง การเข้าสู่วัยหนุ่ม ในเด็กชายจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายน้อยกว่าเด็กหญิง ฮอร์โมนเพศจากต่อมใต้สมองจะกระตุ้นอวัยวะเพศให้เจริญเติบโตขึ้น เมื่ออายุประมาณ 12-13 ปี อัณฑะจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นสิ่งแรก ผิวหนังที่หุ้มอัณฑะจะมีสีดำคล้ำและหยาบกร้าน มีขนที่หัวเหน่าและรักแร้ อวัยวะเพศที่อยู่ภายใต้ได้แก่ต่อมลูกหมาก ถุงผลิตน้ำเลี้ยงอสุจิและท่อเก็บน้ำอสุจิจะมีการพัฒนาและสามารถสร้างตัวอสุจิขึ้นเป็นครั้งแรก หนวดเครา ขนตามร่างกายจะขึ้นตามมาหลังจากที่มีขนขึ้นที่หัวเหน่าประมาณ 2 ปี มีเสียงใหญ่ห้าวขึ้น เริ่มมีการหลั่งน้ำกามครั้งแรกหรือฝันเปียกเมื่ออายุประมาณ 14 ปี แต่ยังไม่มีตัวอสุจิ อัณฑะจะเริ่มสร้างตัวอสุจิประมาณ 1 ปีหลังจากที่มีการหลั่งครั้งแรกแล้ว หรือเมื่ออายุประมาณ 14-16 ปี เมื่อมีการหลั่งครั้งแรกเด็กชายจะรู้สึกตกใจและกังวลใจเช่นเดียวกับเด็กสาวเมื่อมีประจำเดือนครั้งแรก ถึงแม้ว่าจะมีการเตรียมตัวหรือรู้ตัวมาก่อน แต่เด็กส่วนมากก็ยังกังวลกับความรู้สึกทางเพศที่ต้องเก็บกดไว้ รวมทั้งการแข็งตัวขององคชาต ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในวัยนี้ เช่นเดียวกันกับเด็กสาว เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มความรู้สึกผูกพันสนิทสนมกับแม่และรู้สึกว่าเป็นคู่แข่งกับพ่อจะกลับมาใหม่ การแข่งขันเพื่อที่จะเอาชนะพ่อก็จะเกิดขึ้น เขาจึงไม่ยอมรับความคิดของพ่อ ทำให้เกิดการถกเถียงกันขึ้นได้บ่อยๆ เด็กสาวจะถกเถียงต่อต้านหรือก้าวร้าวต่อแม่ ในระยะนี้พ่อแม่ต้องเข้าใจความรู้สึกของลูกที่อยู่ในวัยรุ่น จะต้องไม่สร้างความกดดัน ซึ่งจะเพิ่มความเครียดให้กับวัยรุ่น ปล่อยให้เขาได้มีโอกาสที่จะแสวงหาตัวเองและปรับตัว ในสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อเวลาเปลี่ยนไป และเขาค้นพบตัวเองมีเหตุผลขึ้น เขาก็จะยอมรับความคิดและเหตุผลของพ่อแม่ได้ และก็จะเกิดการลอกเลียนแบบบทบาททางเพศจากพ่อแม่หรือผู้มีอิทธิพลในความรู้สึกนึกคิดของเขาที่เหมาะสมกับเพศของตนเอง ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ใช้อำนาจกับลูก พ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อทำร้ายแม่ หรือแม่ข่มขู่พ่อเกินไป ครอบครัวไม่อบอุ่น ไม่มีความสุข วัยรุ่นก็จะคิดว่าชีวิตแต่งงานน่ากลัว และไม่สามารถรับรู้ได้ว่าการมีชีวิตครอบครัวมีความสุข ก็จะไม่สามารถพัฒนาไปสู่การมีสัมพันธ์ทางเพศกับเพศตรงข้ามได้ จะชอบเพศเดียวกันและผูกพันกับเพื่อนเพศเดียวกันมากเกินไป จนไม่แน่ใจในความเป็นเพศหญิงชายของตนเอง ไม่กล้าที่จะรักเพศตรงข้าม กลัวจะมีปัญหาต่างๆตามมา จึงมีพฤติกรรมรักร่วมเพศก็มี แต่ถ้าปัจจัยพื้นฐานทางครอบครัวและการเลี้ยงดูมาถูกต้อง ความรู้สึกนี้จะเป็นอยู่เพียงระยะสั้นๆ ชั่วคราว เมื่อวัยรุ่นมีความมั่นใจในตนเอง และบทบาททางเพศของตนเอง อารมณ์รักร่วมเพศก็จะถูกเบนไปสู่เพศตรงข้าม และสามารถมีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามได้

ความสนใจและข้อสงสัยในหัวข้อเพศศึกษาของผู้เรียน จากการการสำรวจเก็บข้อมูลการเรียนรู้เพศศึกษาของเยาวชน ในกิจกรรมเวทีสัมมนาปัญหาและสำรวจการเรียนรู้เพศศึกษาในเยาวชน  ผลจากการสังเคราะห์ข้อมูลทำให้ทราบถึงระดับความรู้ความเข้าใจพื้นฐานการเรียนรู้ของเด็ก และ ทราบถึงความสนใจและข้อสงสัยในหัวข้อเพศศึกษาต่างๆ สามารถนำมาสู่การกำหนดขอบเขตเนื้อหาที่อยากจะเรียนในกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษา ซึ่งจะเป็นเนื้อหาการเรียนรู้ที่สามารถตอบสนองและตรงความต้องการที่อยากจะรู้ตามวัยของผู้เรียน การให้ผู้เรียนได้มีโอกาสกำหนดเนื้อหาการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ ที่ให้ผู้เรียนได้หัดตั้งโจทย์การเรียนรู้ของตน และกระตุ้นให้เกิดนิสัยการตั้งคำถามในสิ่งที่ตนอยากเรียนรู้ แล้วนำไปสู่การแสวงหาคำตอบในกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนิสัยใฝ่รู้ให้กับผู้เรียน

การเรียนรู้อนามัยเจริญพันธุ์และเพศศึกษา ผศ.นพ.พนม  เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เสนอแนวทางกาสอนเพศศึกษา-ครอบครัวศึกษาในวัยรุ่น(Family Life Education for Adolescence)
ปัจจัยส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องเพศและครอบครัวในวัยรุ่น ในการเรียนรู้เรื่องเพศและครอบครัวในวัยรุ่น ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีมีดังนี้ 1. ผู้สอน ผู้สอนที่ดีมีลักษณะ ดังนี้. 1.1. ทัศนคติดี ผู้สอนควรต้องมีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องเพศ ไม่มองเป็นเรื่องสกปรกน่าอายเปิดใจกว้าง ยอมรับในพฤติกรรมทางเพศได้มาก แต่ก็มีขอบเขตตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี มองเด็กนักเรียนในทางที่ดี มองโลกในแง่ดี และมีทัศนคติต่อการสอนเรื่องเพศ ไม่ได้มองว่าเป็นการยั่วยุให้เด็กมีพฤติกรรมทางเพศมากขึ้น 1.2  มีความรู้เรื่องเพศและครอบครัว  ผู้สอนควรมีความไผ่รู้ในเรื่องต่าง ๆ มีโลกทัศน์กว้าง มีแหล่งข้อมูลข่าวสาร และที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ เพื่อสามารถกำหนดเนื้อหาของการเรียนการสอน และถ่ายทอดข้อมูลต่าง ๆ ได้ตามวัตถุประสงค์
1.3 มีทักษะในการสอน ทักษะการสอนเรื่องเพศและครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะจะต้องครอบคลุมการสอนทั้งในด้านเจตคติ (Affective domain), ด้านความรู้ (Cognitive domain) และด้านทักษะ (Psychomotor domain) ผู้สอนต้องรู้จักการเตรียมความพร้อมแก่ผู้เรียน กระตุ้นให้วัยรุ่นอยากรู้ตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน กระตุ้นให้วัยรุ่นพร้อมที่จะเรียนในห้อง ผู้สอนควรมีทักษะในการสอนแบบกลุ่มย่อย , กลุ่มใหญ่ และสอนหรือให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล (Group and individual counseling) ผู้สอนควรมีทักษะในการกระตุ้น ให้นักเรียนแสดงออก ซักถาม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เรียนรู้ร่วมกัน สร้างค่านิยมใหม่ที่ถูกต้อง นักเรียนควรมีโอกาสมีส่วนร่วมอย่างมาก เนื่องจากวัยรุ่นมักจะเรียนรู้จากเพื่อนด้วยกันเอง ผู้สอนควรแยกแยะเนื้อหา และปัญหาที่จะสอนเป็นรายกลุ่ม หรือรายบุคคล รู้จักจัดกระบวนการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับเนื้อหา วัตถุประสงค์ และวัยของเด็ก ผู้สอนควรมีทักษะในการสื่อความหมายให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง เข้าใจได้ง่าย ผู้สอนควรเปิดโอกาสให้มีการซักถามในระยะท้ายของการสอนด้วยเสมอ เพื่อจะได้มีโอกาสตอบข้อสงสัยให้กระจ่าง 1.4 เป็นแบบอย่างที่ดี (role model) ผู้สอนควรเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งในการสอนและการดำเนินชีวิตจริง เด็กจะเกิดการเลียนแบบ (identification) ความประพฤติของผู้สอนโดยไม่รู้ตัว  ผู้สอนที่ดี อาจเป็นครูอาจารย์ , พ่อแม่ , ญาติสนิท ซึ่งวัยรุ่นมีความสำคัญอยู่แล้ว 2. ผู้เรียน ผู้เรียนอาจมีวัยแตกต่างกันตั้งแต่วัยรุ่นตอนต้นถึงวัยรุ่นตอนปลาย ทำให้ความพร้อมในการรับรู้แตกต่างกันด้วย เช่น วัยรุ่นตอนต้น 12 - 14 ปี มีความพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจในวัยรุ่น การคบเพื่อนต่างเพศ ความผิดปกติทางเพศที่พบได้บ่อย รักร่วมเพศ และการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง วัยรุ่นตอนกลาง 14 - 16 ปี มีความพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่อง การเลือกคบแฟน การเลือกคู่ครอง การแต่งงานและชีวิตครอบครัว เพศสัมพันธ์และปฏิกิริยาตอบสนองทางเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์และการแท้งบุตร การคุมกำเนิด    วัยรุ่นตอนปลาย 16 - 18 ปี มีความพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่อง การวางแผนครอบครัว การคลอดบุตร การป้องกันปัญหาทางเพศ  จะเห็นว่า เนื้อหาส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับวัยของเด็กวัยรุ่น นั่นคือเด็กจะเรียนรู้ก่อนจะเกิดปัญหา  และ  สามารถป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้  ผู้เรียนอาจจะมีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศแตกต่างกัน บางคนอยากรู้มาก บางคนอยากรู้น้อย บางคนทำเป็นไม่อยากรู้ แต่ส่วนมากทุกคนจะอยากรู้ และไม่ค่อยกล้าแสดงออกว่าอยากรู้ วัยรุ่นที่เป็นหนุ่มสาวเร็วจะมีความสนใจมากกว่าเด็กที่ยังไม่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น  วัยรุ่นที่กล้าพูดกล้าแสดงออก กล้าถามจะเป็นผู้กระตุ้นให้เด็กที่ไม่กล้าถามได้แสดงออกมากขึ้น การเรียนเป็นกลุ่มจึงมีบรรยากาศที่กระตุ้นได้ดี - กลุ่มที่วัยเดียวกัน จะแสดงออกได้ดีกว่ากลุ่มต่างวัย - กลุ่มต่างวัยจะมีความหลากหลายของความคิดเห็น เกิดการเรียนรู้ได้กว้างขวางกว่ากลุ่มวัยเดียวกัน - กลุ่มเพศเดียวกัน จะแสดงออกเปิดเผยกว่ากลุ่มคละเพศ - กลุ่มคละเพศ จะได้เรียนรู้ความแตกต่างของเพศได้ดีกว่ากลุ่มเพศเดียวกัน และมีโอกาสฝึกทักษะสังคมระหว่างเพื่อน ทำงานได้ดีขึ้น
3. สื่อการสอน จากพื้นฐานจิตวิทยาในการเรียนรู้ในวัยรุ่น สื่อการสอนที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี ควรมีลักษณะดังนี้ 1.  ตื่นเต้นสนุกสนานเร้าใจท้าทาย  ชวนคิด  ชวนให้มีส่วนร่วม ให้วัยรุ่นได้กระทำด้วยตนเอง 2.  นำเสนอโดยบุคคลซึ่งวัยรุ่นชื่นชม ชื่นชอบ เช่น ดารา นักร้อง นักแสดง นักกีฬา ซึ่งมีชีวิตเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นตัวอย่างให้เลียนแบบได้ดี 3.  มีการกระตุ้นประสาทสัมผัสหลายด้าน เช่น ทั้งทางประสาทตา ประสาทหู ประสาทสัมผัส ชวนให้คิดหรือจินตนาการ 4.  มีการสื่อสารสองทาง (interactive) คือสามารถตอบสนองต่อการแสดงความคิดเห็น คำถาม หรือ คำตอบชวนให้นักศึกษาด้วยตนเอง 5.  กระตุ้นให้คิดและตัดสินใจด้วยตนเอง มากกว่าการบังคับยัดเยียดให้วัยรุ่นยอมรับ
6.  มีข้อมูลเพิ่มเติมที่สามารถค้นหาได้ง่ายด้วยตนเอง (references) สื่อที่ดีจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และกระบวนการเรียนการสอน โดยอาจทำให้มีความหลากหลาย เช่น หนังสือ แผ่นผับ โปสเตอร์ เทปวิทยุ  เทปโทรทัศน์ เป็นต้น 4.  การจัดการเรียนการสอน (Learning process) ผู้สอนควรจัดการเรียนการสอนโดยมีหลัก ดังนี้ สนุก ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากที่สุด เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน มีการสื่อสารได้สองทาง ผู้สอนถ่ายทอดข้อมูล ผู้เรียนตอบสนองให้เห็นด้วย มีโอกาสให้ผู้เรียนซักถาม

การดำเนินงาน กิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษา ถูกสร้างขึ้นภายใต้วิธีคิดแบบงานพัฒนารูปแบบการเรียนรู้  ประกอบด้วย 2 ขั้นคือ ขั้นพัฒนารูปแบบความคิด และขั้นทดสอบผลประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนรู้ ได้สร้างและทดลองใช้กับเด็กนักเรียน พร้อมปรับปรุงองค์ประกอบและกิจกรรมที่มีปัญหา เพื่อที่จะให้เกิดเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ขึ้น

ขั้นพัฒนารูปแบบความคิด ศึกษาค้นคว้าทฤษฎี แนวคิด หลักการ องค์ความรู้ ข้อมูลจากเด็กและครู และประสบการณ์ทำงานของกลุ่ม เพื่อให้ได้แนวทางของรูปแบบการเรียนรู้ที่จะบรรลุอย่างดีมีคุณภาพและประสิทธิภาพ มีขั้นตอน มีองค์ประกอบ ผ่านการพิจารณาและกลั่นกรองเบื้องต้น เลือกเฟ้นด้วยความมั่นใจว่ามีความจำเป็นต่อการบรรลุผลการเรียนรู้ของเด็ก

แผนการเรียนรู้เพศศึกษา คำอธิบายรายวิชา ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางเพศของจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแห่งวัยในมิติการเชื่อมโยงระหว่างร่างกายและจิตใจ สัมพันธภาพและความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศในเชิงสรีระ  ความคาดหวังต่อบทบาท  และการแสดงออกทางเพศ เรียนรู้พฤติกรรมปฏิสัมพันธ์ทางเพศที่เหมาะสมกับกาลเทศะ ผลกระทบที่ตามมา และความเชื่อมโยงกับบริบทในการดำเนินชีวิตของตนเองบนพื้นฐานของการเคารพในสิทธิของผู้อื่น  การดูแลสุขภาพทางเพศ    สิทธิในการเลือกปฏิบัติและไม่ปฏิบัติตามวิถีชีวิตทางเพศที่สอดคล้องกับความเหมาะสมส่วนบุคคล สังคมและวัฒนธรรม  โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของผู้เรียนผ่านกิจกรรมทางการละคร มุ่งให้ผู้เรียนฝึกใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์วิจารณ์ และการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ การสื่อสารความคิดความรู้สึกกับบุคคลอื่นๆ  การบอกความรู้สึกและความต้องการของตนเอง การตัดสินใจและปฏิเสธต่อรอง เพื่อปลูกฝังทัศนคติและค่านิยม ตลอดจนพฤติกรรมทางเพศที่อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้องและสำนึกถึงความรับผิดชอบ
จุดประสงค์แผนการเรียนรู้ 1. มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรมชาติของพัฒนาการทางเพศที่เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงสู่วัยรุ่น 2. มีเจตคติต่อประเด็นทางเพศในเชิงบวก เหมาะสมสอดคล้องกับการดำเนินชีวิต บนฐานความคิดในการเคารพสิทธิ คำนึงถึงความแตกต่างส่วนบุคคล และไม่ก่อความทุกข์แก่บุคคลอื่นและตนเอง 3. รู้วิธีป้องกันสถานการณ์ความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดจากปัญหาทางเพศ 4. เกิดแนวคิดการตระหนักคุณค่าในตัวเองและมีความรู้สึกนับถือตนเอง

การออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ เนื้อหาและสาระสำคัญในการเรียนรู้ที่จะเกิดข

Comment #1
รักเด็กดี (Not Member)
Posted @5 ก.ค. 50 17:25 ip : 61...176
Photo :  , 640x630 pixel 24,855 bytes

ดีแล้วค่ะจะได้ให้เด็กๆทุกคนเรียนรู้กับสิ่งที่ไม่เคยเรียนรู้

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว