สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สรุปแผนงานและกิจกรรมโครงการ

photo  , 300x400 pixel , 44,202 bytes.

โครงการได้กำหนดแผนงานที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์โครงการ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามคาดหมาย แผนงานที่เกิดขึ้นในโครงการประกอบด้วย 2 แผนงาน 4 กิจกรรม ได้แก่ แผนงาน 1 การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษา กิจกรรม 1 เวทีสัมมนาปัญหาและสำรวจการเรียนรู้เพศศึกษาในเยาวชน กิจกรรม 2 การสัมมนาแนวทางการพัฒนาการสอนเพศศึกษา แผนงาน 2 พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาในเยาวชน กิจกรรม 3 กระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละคร กิจกรรม 4 การประชุมสัมมนา การพัฒนากิจกรรมเรียนรู้เพศศึกษา

การดำเนินตาม 2 แผนงานนี้มีกิจกรรมที่การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่สอดรับกันในแผนงานเดียวกันและระหว่างแผนงาน จนเป็นกระบวนการของโครงการ เกิดผลลัพธ์ของโครงการ 2 ส่วน คือ 1. รูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละคร 2. แผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับการจัดการเรียนรู้เพศศึกษา

การดำเนินงานตามแผนงานโครงการ แผนงาน 1 การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษา เป้าหมายแผนงาน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อปัญหาที่เกี่ยวกับเพศของเยาวชนในสังคม และกระตุ้นการขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาร่วมกันในบทบาทของตน

แนวความคิด หากพิจารณาถึงความขอบเขตเนื้อหาของ "เพศศึกษา" (ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องที่ว่าด้วยสรีระ) เนื้อหาเนื้อหาการเรียนรู้ต่างๆก็ปรากฏอยู่ในหลายกลุ่มสาระที่เด็กนักเรียนได้เรียนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ขาดหายไปในการสร้างการเรียนรู้ของเด็กคือการเชื่อมโยงเนื้อหาของเรื่องเพศศึกษาที่ปรากฏอยู่แต่ละกลุ่มสาระนั้นให้เป็นเอกภาพและมีทิศทาง ให้เป็นการเรียนรู้ที่พลังพอต่อการปลูกฝังในชีวิตของเด็กนักเรียน และเด็กสามารถที่จะเชื่อมโยงเนื้อหาสาระที่เรียนกับปรากฏการในชีวิตจริงได้
นอกจากหลักสูตรในการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาแล้ว ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเรียนรู้เพศศึกษาของเด็กคือ ตัวครูผู้สอน และด้วยเหตุผลที่ว่า เป้าหมายการสอนเพศศึกษานั้นเป็นการสอน/สร้างทัศนคติแก่เด็ก ฉะนั้นตัวผู้สอนเองจะต้องเรียนรู้ที่จะมีทัศนคติในเรื่องเพศที่เหมาะสมด้วย เพราะเด็กจะเกิดการซึมซับทัศนคติจากครูผู้สอน ฉะนั้นการสอนเพศศึกษาในเด็กตัวครูผู้สอนเองจะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและมีทัศนคติของตัวเองที่เหมาะสมในเรื่องเพศ ภายใต้บริบทวัฒนธรรมแบบคนไทย ซึ่งจะเป็นตัวแบบในวิธีคิดเรื่องนี้แก่เด็ก "เด็กจะเรียนรู้จากการที่ผู้ใหญ่ทำให้ดู มากกว่าบอกให้ทำ" การแสดงออกของครูทั้งวัจนะภาษา และอวัจนะภาษาจึงเป็นตัวแบบการเรียนรู้ของเด็ก ความสำคัญของการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษา จึงเป็นการพัฒนาที่ตัวผู้สอน เพราะตัวผู้สอนจะกำหนดรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน

การเรียนรู้เพื่อยกระดับความคิด ทัศนคติ และความเข้าใจของบุคคลที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่นั้น จะต้องเรียนรู้จากสภาพการณ์ที่เป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะวัยผู้ใหญ่เป็นวัยที่มีความคิดอยู่กับความเป็นจริง การยกระดับจึงต้องอาศัยการเรียนรู้จาก "ประเด็นปัญหา" แล้วนำไปสู่การสร้างความคิดความเข้าใจและทัศนคติใหม่ๆ ต่อการสอนเพศศึกษา ประเด็นปัญหาทางเพศหรือพฤติกรรมทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็ก จึงเป็นหัวข้อเริ่มต้นการเรียนรู้ของครู แล้วนำพามาไปสู่การพิจารณาวิเคราะห์ตนเองและบริบทในการจัดการเรียนการสอนซึ่งเป็นปลายทางของกระบวนการที่จะสร้างความคิดใหม่ในการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เป็นจริงและตรงความสนใจของผู้เรียน

วิธีการที่จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนขึ้นในวัยผู้ใหญ่อย่างครูผู้สอนนี้ อาจจะไม่ใช่วิธีการอบรมเพียงครั้งเดียวแล้วติดตามภายหลังว่าปรับเปลี่ยนมากน้อยขนาดไหน แต่จะเป็นวิธีการที่ค่อยๆสร้างการเรียนรู้และความรู้สึกร่วมต่อประเด็นปัญหาพฤติกรรมทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็ก แนวทางของแผนงานจึงออกแบบให้ครูผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสเจอกันบ่อยๆ ในรูปแบบเวทีสัมมนา เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนคิดวิเคราะห์และเติมข้อมูลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเรื่องเพศศึกษาด้วยแล้ว ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในทำงาน ไม่เรียกร้องและเร่งรัดครูผู้เข้าร่วมมากเกินไป ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาอย่างหนึ่ง

บทสังเคราะห์การดำเนินงาน การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษานี้ ได้เริ่มต้นประสานงานกับเขตพื้นที่การศึกษาในส่วนของการดำเนินงานและคัดสรรกลุ่มเป้าหมาย โดยทางโครงการมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติงานกับโรงเรียนระดับเล็กและระดับกลางที่ไม่มีส่วนงานขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อความคล้องตัวในการดำเนินงานแบบนำร่องและสร้างความสัมพันธ์กับครูและผู้บริหารอย่างใกล้ชิด
การประสานงานในช่วงต้นได้ดำเนินงานผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมีอุปสรรคในการประสานงานกับโรงเรียนบางอำเภอซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ในระยะต่อมาของการดำเนินงานจึงประสานงานทางไปรษณีย์ ซึ่งสามารถเข้าถึงโรงเรียนเป้าหมายได้ดีกว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจึงเป็นการประสานกันโดยตรงระหว่างโครงการกับโรงเรียน

ลักษณะของครูกลุ่มเป้าหมายจำแนกได้ 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ กลุ่มครูที่สนใจในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับทางเพศของเด็กนักเรียน และปรารถนาที่จะแก้ไขปัญหาช่วยเหลือเด็ก อีกกลุ่มเป็นครูที่เข้าร่วมกิจกรรมตามหน้าที่ความรับผิดชอบ ซึ่งมีผลต่อระดับความตื่นตัวต่อประเด็นปัญหาของนักเรียนที่แตกต่างกัน กลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรมเพราะสนใจปัญหาทางเพศของเด็กจะมีการตื่นตัวมากว่ากลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรมโดยหน้าที่ ด้วยเหตุผลที่ว่า ได้พบประสบเจอ มีประสบการณ์หรือมีกรณีพฤติกรรมของเด็กที่เกิดขึ้นในโรงเรียน แต่ทั้งนี้เป็นเพียงปัจจัยเสริมที่เป็นแรงผลักของครูแต่ละท่าน

เรื่องเพศศึกษา เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนต่อการยอมรับและทำความเข้าใจ โดยพื้นฐานของครูที่เข้าร่วมโครงการมีความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษาในเชิงกว้างดีระดับหนึ่ง สามารถต่อยอดความคิดที่เป็นทุนเดิมของครูได้โดยที่ไม่ต้องสร้างความเข้าใจใหม่ในเรื่องนี้  มีเพียงระดับความมั่นใจต่อประเด็นเพศศึกษาว่า สิ่งที่ตนเข้าใจอยู่นั้นถูกต้องเปล่า ซึ่งครูทั้งหมดต้องการสร้างความมั่นใจให้กับตนเองในความรู้เรื่องเพศศึกษา

ขั้นตอนกระบวนการโครงการที่นำพาครูให้เกิดการเรียนรู้ต่อยอดจากทุนเดิม คือ 1. วิเคราะห์และประเมินปัญหาทางเพศของเด็กและเยาวชนร่วมกัน ครูทุกท่านที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมได้นำร่วมกันระดมความคิด ร่วมกันวิเคราะห์และเปลี่ยนและนำเสนอ เพื่อประเมินสถานการณ์ปัญหาทางเพศของเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้น จากการสังเกตปรากฏการณ์รอบตัวและพฤติกรรมเด็กในโรงเรียน ทำให้ครูได้ตรวจสอบและรับรู้ภาพรวมของเด็กในประเด็นที่เกี่ยวกับเพศ แล้วนำไปสู่การคิดหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาตามบทบาทที่ตนทำได้ 2. ทำความเข้าใจกับประเด็นทางเพศเชิงลึก และ เรียนรู้กลยุทธ์การสอนเพศศึกษา เมื่อเกิดความเข้าใจต่อปัญหาและเกิดความรู้สึกร่วมกันต่อปัญหาทางเพศของเด็กแล้ว ได้เรียนรู้เป็นประสบการณ์ตรงถึงปัญหาเชิงลึกที่เกิดขึ้นจากแลกเปลี่ยนกับเยาวชน เพื่อทำความเข้าใจต่อความจำเป็นและแนวทางของการจัดการเรียนรู้เพศศึกษา ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ 3. วิเคราะห์ตนเองผ่านการทำSWOT และวางแผนการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาของตน เป็นบันไดขั้นสุดท้ายของกระบวนการที่ทำให้เกิดการมองเห็นภาพสะท้อนตัวเอง โดยทำการคิดวิเคราะห์ถึง จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค ของแต่ละคน ณ ปัจจุบัน แล้วค้นแนวทางที่พัฒนาจากจุดนี้เพื่อยกระดับความสามารถและศักยภาพของครูในการสอนเพศศึกษาแก่เด็ก โดยมีผลลัพธ์ออกมาเป็นแผนปฏิบัติการที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไปของโครงการ

การดำเนินงานในเชิงกระบวนการลักษณะนี้ เรียกร้องความพร้อมในเรื่องเวลาและความเข้าใจในการทำงานร่วมกันของครูแต่ละท่าน เนื่องจากแต่ละกิจกรรมในกระบวนการกำหนดเป้าหมายอย่างกว้างๆ และพร้อมที่จะปรับไปสู่แนวทางที่สอดคล้องกับกระบวนคิดแต่ละลำดับขั้นตอน เพื่อนำพาครูผู้เข้าร่วมโครงการนี้ไปตลอดกระบวนการ การดำเนินงานเชิงกระบวนการเช่นนี้จะมีส่วนต่อความไม่เข้าใจในระยะแรก แต่ภายหลังสิ้นกระบวนการ คณะครูเกิดความเชื่อมั่นและยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างโครงการกับครู และระหว่างครูด้วยกันเอง ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินงานอยู่บนพื้นฐานการการที่ทุกฝ่ายจะต้องเรียนรู้กันและกัน เสร็จสิ้นโครงการะยะแรก ความเข้าใจถึงการดำเนินงานในรูปแบบนี้จึงมีมากขึ้น และรู้ว่าการจัดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเช่นนี้ เป็นการสร้างการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากงานอบรม

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในกระบวนการของโครงการ ทำให้ครูเกิดความเข้าใจและมองแนวทางการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับเพศศึกษากับเด็กและเยาวชนมากขึ้น ข้ามพ้นมายาคติที่ตัวเองเคยรับรู้ไปสู่สภาพการณ์ที่เป็นจริงของปัญหา และไม่ละเลยที่จะวิเคราะห์ลักษณะของตนเอง การพูดคุยแลกเปลี่ยนในกระบวนการของโครงการจึงก่อให้เกิดความรู้สึกที่จะพัฒนาศักยภาพหรือยกระดับการจัดการเรียนรู้ของตน ดังการนำเสนอแผนปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ
แผนการสร้างความรู้ความเข้าใจของผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษา ได้แก่ การดำเนินที่เน้นการสร้างการเรียนรู้ให้กับตัวครูผู้สอนเองถึงเรื่อง ความรู้ทางเพศศึกษา การสอนเพศศึกษา จิตวิทยาและพัฒนาการ การจัดการกับปัญหาของเด็ก
แผนด้านการพัฒนาศักยภาพทั่วไปของผู้สอน  เป็นการดำเนินที่เพิ่มเติมศักยภาพและโลกทัศน์ต่อการจัดการเรียนรู้ให้เด็ก ได้แก่ การฝึกฝนพัฒนาจิต การศึกษาดูงาน การจัดโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้อื่น แผนด้านการส่งเสริมจัดการศึกษา เป็นดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการทำงานในระบบของโรงเรียนที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพขึ้น เช่น กิจกรรมสร้างความเข้าใจของผู้ปกครองในเรื่องเพศศึกษา พัฒนาระบบดูแลนักเรียนของโรงเรียน กิจกรรมการให้ความรู้เสริมจากวิทยากรภายนอก เป็นต้น แผนด้านการสร้างสื่อการเรียนรู้เพศศึกษา ดำเนินการเพื่อให้เกิดสื่อรูปแบบในการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา ทั้งเป็นการผลิตและจัดหาสื่อการสอน และกิจกรรมด้านสื่อในโรงเรียน

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำงานกับครูในโครงการ ระดับความเข้าใจของครูที่ปรากฏเด่นชัดมีในทั้งระดับที่เข้าใจมากขึ้นและกำลังอยู่ระดับทำความเข้าใจ ซึ่งมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการก้าวผ่านจากจุดเดิมของครูแต่ละท่าน ได้แก่ ระดับการสัมผัสรับรู้ปัญหาของเด็ก ทัศนคติต่อปรากฏการณ์ภาพรวมทางสังคม ความเข้าใจต่อการจัดการเรียนรู้ที่มีความหมายให้เด็ก ระดับความรู้เรื่องเพศศึกษา ทักษะการคิดและการวิเคราะห์ของตนเพื่อแก้ไขปัญหา  ศักยภาพในการจัดการปัญหาของเด็ก เป็นต้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงในการทำงานระยะต่อไป สิ่งที่ปรากฏเป็นผลที่เกิดจากกระบวนการทำงานของโครงการ ไม่ได้อยู่ที่ระดับมากน้อยของความเข้าใจ แต่เป็นความพยายามที่จะทำความเข้าใจ ใส่ใจและระลึกถึงประเด็นทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็ก เมื่อผลเกิดเป็นเช่นนี้แล้ว คำถามที่ตามมาในความคิดของครูคือ "จะสอนเพศศึกษากับเด็กอย่างไร วิธีไหน"

สรุปการดำเนินงานตามแผนงาน 1 แผนการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษา ได้ให้ความสำคัญกับตัวผู้สอนเพศศึกษา การดำเนินมีแนวทางที่มุ่งในการทำให้ครูผู้สอนเกิดความเข้าใจจริงในสภาพการณ์และปัญหาทาเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน และมองเห็นลักษณะของตัวเองมากขึ้น โดยมีคณะครูเข้าร่วมกิจกรรมในแผนงานนี้ เป็นจำนวน 41ท่าน จาก 22 โรงเรียน ของในพื้นที่การศึกษาเขต 2 จังหวัดสงขลา ซึ่งประกอบด้วย 5 อำเภอได้แก่ อ.หาดใหญ่ อ.คลองหอยโข่ง อ.บางกล่ำ อ.ควนเนียง และ อ.รัตภูมิ
การดำเนินงานที่เกิดขึ้น เป็นการดำเนินงานลักษณะเชิงกระบวนการ โดยการจัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 3 ครั้งได้แก่ เวทีสัมมนาครู ระดมความเห็นปัญหาปัญหาการเรียนรู้เพศศึกษาของเยาวชน(ครั้งที่ 1) การสัมมนาแนวทางการพัฒนาการสอนเพศศึกษา(ครั้งที่ 2) สัมมนาการพัฒนากิจกรรมเรียนรู้เพศศึกษา(ครั้งที่ 3 เชื่อมโยงกับแผนงาน2) ตามแนวความคิดของการดำเนินงาน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเรียนรู้ร่วมกันทุกฝ่าย วิทยากร คณะทำงาน คณะครู เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ จ.สงขลา ซึ่งกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมโดยการศึกษาพิจารณาที่จะพัฒนาตนเองให้เกิดความพร้อมและมีศักยกภาพในการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาที่สูงขึ้นกว่าเดิม ก่อนที่ครูจะได้ลงมือจัดการเรียนรู้จริง โดยมีกลุ่มละครการศึกษามานีมานะเป็นผู้จัดกระบวนการพัฒนา และเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลาเป็นผู้หนุนเสริมทางความคิดและการปฏิบัติของครู

ผลลัพธ์ของแผนงานที่เกิดขึ้น 1.แผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพของครูในการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาให้เด็ก ประกอบด้วย แผนงานด้านต่างๆ ดังนี้ • แผนการสร้างความรู้ความเข้าใจของผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษา • แผนด้านการพัฒนาศักยภาพทั่วไปของผู้สอน
• แผนด้านการส่งเสริมจัดการศึกษา • แผนด้านการสร้างสื่อการเรียนรู้เพศศึกษา 2. คณะครูที่เข้าร่วม เกิดความเข้าใจถึงสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทางเพศของเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นอยู่ และเกิดตื่นตัวต่อการจัดการเรียนรู้เพศศึกษา พร้อมที่จะพัฒนาตนเองตามแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพของครูในการจัดการเรียนรู้เพศศึกษา

การดำเนินตามแผนงานนี้สามารถบรรลุเป้าหมายและความคาดหวัง ซึ่งพิจารณาได้จากรายละเอียดของการมีส่วนร่วมในแต่ละเวทีสัมมนาและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของแผนงาน สิ่งสำคัญไม่ใช่ปริมาณหรืออัตราของผู้เข้าร่วมแต่เป็นผลที่เกิดในเชิงคุณภาพของที่เป็นรูปธรรมของการขับเคลื่อนในพื้นที่

ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในแผนงาน 1. โครงการใช้วิธีการสื่อสารประสานงานผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ 2 สงขลา ไปยังโรงเรียนเป้าหมายของการทำงาน พบปัญหาว่า บางโรงเรียนไม่ได้รับหนังสือประสานงาน เนื่องจากอยู่เกิดความผิดพลาดที่ผู้มารับหนังสือที่เขตพื้นที่ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลพอสมควร และยังไม่มีโทรศัพท์พื้นฐาน ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา  หนังสือประสานงานไปไม่ถึงบางโรงเรียนจึงทำให้จำนวนครูที่เข้าร่วมกิจกรรมเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ เนื่องจากไม่ทราบเรื่องของกิจกรรม แต่โครงการได้ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการประสานงานกับครูโดยตรงตามที่อยู่ที่ครูแต่ละท่านให้ไว้ในการสัมมนาครั้งแรก และเรียนผู้อำนวยการโรงเรียนของตนอีกครั้ง เพื่อติดตามเรื่องที่ประสานภายในระบบโรงเรียนเอง เป็นการแก้ปัญหาได้สำหรับบางโรงเรียน 2. มีปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถทำให้ครูเข้าร่วมกิจกรรมตามแผนงานได้ครบ เช่น ครูจะต้องไปทำหน้าที่กรรมการคูหาเลือกตั้งซ้อม  จังหวะของการจัดแข่งขันกีฬาประจำปี งานบริการชุมชนอื่นๆ เป็นต้น เหล่านี้ทำให้ครูบางท่านเข้าร่วมกิจกรรมไม่ครบ หรือสลับเปลี่ยนกับครูท่านอื่นในโรงเรียน ประกอบกับรูปแบบการดำเนินงานของแผนงานนี้เรียนร้องเวลาและการมีส่วนร่วมของครูมาก
3. การดำเนินงานในกิจกรรมที่ 1 ด้วยวิธีการที่หลากหลายและเป็นการค้นหาวิธีการทำงานแบบใหม่ จึงทำให้ใช้เวลาตามความเป็นจริงมากกว่าที่วางแผนไว้

ข้อค้นพบและบทเรียน 1. การดำเนินงานในลักษณะเชิงกระบวนการเช่นนี้ สามารถสร้างความตื่นตัวและเกิดผลการเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกจากภายในของครูได้มากกว่า(การดำเนินที่เป็นการอบรมเพียงครั้งเดียว)
2. การจัดโอกาสให้ครูได้สำรวจเพื่อพิจารณาตนเองจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ครูเห็นจุดเด่นและจุดด้อยของตน ซึ่งจะทำให้เห็นว่าตนเองควรจะพัฒนาส่วนไหนต่อไปเพื่อให้เกิดความมั่นใจและมีศักยภาพในการการสอนเพศศึกษาแก่เด็ก  นัยยะหนึ่งคือการสร้างการยอมรับและวางแผนการพัฒนาร่วมกันโดยยึดตัวครูเป็นสำคัญ 3. กระบวนการที่ใช้ในแผนงานนี้เรียกร้องปัจจัยเอื้อหนุนหลายส่วนได้แก่ ความเข้าใจและการสนับสนุนจากผู้บริหารของโรงเรียน การจัดเวลาในภาระหน้าที่ของตัวครู ความยืดหยุ่นในการจัดการกับลำดับแต่ละขั้นของกระบวนการให้สอดคล้องกับความคิด ความต้องการของครู ณ เวลานั้น


แผนงาน 2 พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาในเยาวชน เป้าหมายแผนงาน ศึกษาและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนักเรียนประถม แนวความคิด กิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษา ถูกสร้างขึ้นภายใต้วิธีคิดแบบงานพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ โดยอาศัยการค้นหาและทดลองปฏิบัติ การสร้างกิจกรรมการเรียนรู้อาศัยองค์ประกอบทางความคิดหลายส่วน ได้แก่ ความสนใจในการเรียนรู้ของเด็ก สภาพจริงของปัญหาทั้งตัวเด็กและครอบครัว ข้อจำกัดในการเรียนการสอน ทฤษฏีการเรียนรู้ องค์ความรู้ของเครื่องมือการเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนการสอน เป็นต้น เพื่อนำมาสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่สามารถช่วยพัฒนาผู้เรียนได้

ความตั้งใจอย่างหนึ่งของรูปแบบการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นคือมุ่งที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาได้แนวคิดการเรียนรู้ที่สำคัญในแต่ละครั้งจากการเรียนที่โรงเรียน แล้วเชื่อมโยงกับความคิด ความเป็นจริงของวิถีชีวิตที่บ้าน ฉะนั้นการจัดการเรียนรู้จึงมุ่งหมายที่จะสร้างการพูดคุยเรื่องที่เกี่ยวกับเพศศึกษาในบ้านให้ผู้เรียนด้วย ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ครอบครัวมีบทบาทในเรื่องอบรมสอนสั่งในเรื่องดังกล่าวกับลูกกับหลานของตน ด้วยความเชื่อที่ว่า ไม่ว่าผู้ใหญ่ในบ้านจะสอนเรื่องเพศกับเด็กอย่างไร ก็เป็นการสอนอยู่บนพื้นฐานของความรักและความห่วงใยต่อลูกหลานของตน สิ่งนี้จะสามารถช่วยให้เด็กเข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกันตนเองได้

เพศศึกษาเป็นการศึกษาที่ว่าด้วย ความเป็นเพศชาย เพศหญิง การพัฒนาการทางเพศตั้งแต่วัยทารก วัยเด็ก วัยเจริญพันธุ์ วัยทอง ไปจนถึงวัยชรา การวางแผนครอบครัว การกำเนิดบุตร รวมทั้งความรัก การครองคู่ โดยมีเพศสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้นเอง

การเรียนรู้เพศศึกษาเป็นสอนให้เกิดเจตคติและแนวคิดแก่ผู้เรียน หากเป็นการเรียนรู้ที่เกิดผลเพียงแค่ความรู้ ผู้เรียนก็สามารถนำความรู้นั้นไปต่อยอดการเรียนรู้ในชั้นที่สูงขึ้นได้ แต่อาจไม่สามารถเชื่อมโยงกับความเป็นจริงในการดำรงชีวิตได้ การจัดกิจกรรมเรียนรู้แต่ละครั้งต้องนำพาผู้เรียนให้เกิดแนวคิดที่สำคัญของแต่ละเนื้อหานั้นๆ สร้างเจตคติและแนวคิดที่ดีให้กับผู้เรียน

การเรียนรู้ที่สามารถสร้างแนวคิดให้กับผู้เรียนได้ต้องอาศัยเครื่องมือการเรียนรู้ที่มีศักยภาพ และสอดคล้องกับผู้เรียน ละครจึงเป็นเครื่องมือ(As a teaching tool) ที่นำพาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่วางไว้และตอบสนองการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ดี เพราะโดยพื้นฐานของละครแล้วเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ จิตนาการและความเชื่อซึ่งเป็นทักษะที่ปรากฏในละคร ก็เกิดขึ้นมาพร้อมกับมนุษย์ ไม่ว่าละครจะเป็นส่วนประกอบใดในกระบวนการเรียนรู้ ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่สร้างให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุขได้ และที่สำคัญละครยังสามารถสร้างการเรียนรู้ที่คงทนได้นานกว่าวิธีการเรียนรู้อื่นๆ ทั้งยังเป็นการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)

ละครในการศึกษา(Drama-in-education) หรือ DIE เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่ใช้กิจกรรมทางละครมาปรับใช้โดยมี "ครู" เป็นผู้รับผิดชอบวางแผนในการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียน แสวงหาแนวทาง ความคิดและการแก้ปัญหาโดยผ่านการแสดงบทบาทสมมติ การเล่นละครสด การแสดงออก ละครการศึกษาDIE ต้องมีการวางแผนที่ดี และเป็นโครงการต่อเนื่องในโรงเรียน หัวข้อที่ใช้ในการวางแผนนั้นเป็นหัวข้อที่ก่อให้เกิดการพัฒนาทางความคิด การใช้เหตุผล ความเข้าใจผู้อื่น การพัฒนาตนเองและกลุ่ม พัฒนาความคิดด้านสังคม การใช้ภาษา การเรียนรู้วิชาอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อเด็กๆในกลุ่ม ละครประเภทนี้ไม่ต้องการผู้ชม แต่หากมีการตกลงกันระหว่างผู้นำกลุ่ม(ครู) กับผู้ร่วมกิจกรรมก็สามารถพัฒนาจนเป็นการแสดงละครเวทีแบบเต็มรูปแบบได้

รูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละครนี้เป็นรูปแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาเพศศึกษาที่อยากการเรียนรู้ กำหนดเนื้อตามความสนใจและความสงสัย มีส่วนร่วมเป็นผู้ปฏิบัติในกิจกรรมการเรียนรู้เอง ผ่านกิจกรรมละครในการศึกษา(DIE) ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้โดยผู้เรียนลงมือปฏิบัติ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการประมวลผลและประเมินผลการเรียนรู้ ด้วยการนำเสนอความคิดจากการเรียนรู้เป็นการแสดงละคร

กรอบความคิดการดำเนินงาน บทสังเคราะห์การดำเนินงาน ผลจากที่ได้ดำเนินการตามกิจกรรมที่1เวทีสัมมนาปัญหาและสำรวจการเรียนรู้เพศศึกษาในเยาวชน ได้ประสานงานกับโรงเรียนที่ได้ร่วมกิจกรรม 2 โรงเรียนได้แก่ โรงเรียนบ้านยางงาม และโรงเรียนวัดควนลัง เพื่อเลือกเป็นโรงเรียนที่ใช้ในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละคร โดยมีเกณฑ์การเลือกคือ ความตื่นตัวสนใจในประเด็กการเรียนรู้เพศศึกษาของเด็ก และความเป็นไปได้ในการสนับสนุนของครูและผู้บริหารของโรงเรียน รูปแบบการทำงานได้อาศัยและทบทวนแนวคิดต่างๆเพื่อค้นหาทิศทางของการเรียนรู้เพศศึกษา โดยการรวบรวมแนวคิดของบุคคลต่างๆที่ทำงานในส่วนภาคสังคม ที่สะท้อนต่อการเรียนรู้เพศศึกษาของเด็ก  การทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้เพศศึกษา ความสนใจในประเด็นทางเพศศึกษาต่างๆของผู้เรียน และประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมทางละครของกลุ่มมานีมานะ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นจริงตลอดภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2548 โดยทางโรงเรียนได้อำนวยการด้านเวลาในการเรียนของนักเรียนให้กับการดำเนินงานในครั้งนี้ รูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาที่ถูกสร้างขึ้น จากการที่ได้รวบรวมสรุปองค์ความรู้และข้อมูลที่ใช้ในการสร้างกิจกรรมการเรียนเพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละครแล้ว นำมาสู่การออกแบบโครงร่างหลักสูตรการเรียนรู้ แล้วสร้างเป็นกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาผ่านละครในการศึกษา ซึ่งมีรูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาดังนี้

รูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละคร องค์ประกอบของรูปแบบการเรียนรู้ รูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมานี้มีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ 1. กิจกรรมการเรียนรู้ ที่เรียกว่า ละครในการศึกษา
2. เนื้อหาการเรียนรู้เพศศึกษา ที่ตอบสนองและมีความหมายกับผู้เรียน
3. รูปแบบการเรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการ ที่ถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกันตลอดหลักสูตร
4. สื่อการจัดกิจกรรม ที่มีนำเสนอความจริงแก่ผู้เรียน 5. ผู้สอน ที่มีทัศนคติเชิงบวกในประเด็นที่เกี่ยวกับเพศ

การประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ในแต่ละครั้งของการเรียนรู้ผู้เรียนจะต้องเขียนรายงานสรุปแนวคิดที่ได้จากการเรียนรู้แต่ละครั้ง และหลังเสร็จสิ้นคาบเรียนเนื้อหาทั้งหมด ผู้เรียนได้สังเคราะห์เนื้อหาการเรียนรู้แล้วผลิตเป็นการแสดงละครหุ่นเงา เพื่อเป็นการประเมินความเข้าใจจากการเรียนรู้

นอกจากนี้การดำเนินงานได้ทำการทดสอบการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนก่อนและหลังเพื่อเปรียบเทียบผลของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป พบว่าหลังการเรียนรู้ กลุ่มเป้าหมายมีคะแนนเฉลี่ยเจตคติ สูงกว่าก่อนการเรียนรู้

จากรูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมานี้ ได้ถูกนำมาเป็นตัวอย่างของการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาให้กับครู และได้ค้นหาแนวทางที่จะยกระดับครูให้สามารถใช้รูปแบบการเรียนรู้หรือกิจกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้ไปใช้ในการสอนกับเด็กนักเรียน พบแนวทางในการพัฒนาครูดังนี้ 1. สร้างความเข้าใจของครูในเนื้อหาเพศศึกษาให้มากขึ้น 2. เสริมศักยภาพในเทคนิคที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้เพศศึกษา 3. จัดประสบการณ์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยคำนึงถึงทุนเดิมที่มีอยู่ในตัวครูเป็นฐานของการยกระดับ 4. พัฒนาสื่อสำหรับใช้ในการจัดการเรียนรู้เพศศึกษา

สรุปการดำเนินงานตามแผนงาน 2 แผนงานพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาได้ดำเนินงานในสภาพ แวดล้อมที่มีการจัดการเรียนรู้เป็นจริง โดยทางโรงเรียนอำนวยการด้านเวลาให้เป็นชั่วโมงการเรียนรู้พิเศษขึ้น และได้ดำเนินงานตลอดภาคเรียน ใช้เวลาในการจัดกิจกรรม 16 คาบเรียนสัปดาห์ละ 1 คาบเรียน
การดำเนินงานตามแผนงานนี้ เป็นการค้นหาและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยาการลงปฏิบัติการจัดการเรียนรู้กับเด็กนักเรียน เพื่อทดสอบและศึกษาถึงรูปแบบการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น โดยรูปแบบและกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมดเกิดจากการประมวลความรู้ ข้อมูล และประสบการณ์ นำมาสร้างเป็นการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละคร

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น 1. เกิดรูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษา ที่มีลำดับกระบวนการเรียนรู้ ดังนี้ ขั้นที่ 1 สำรวจความสนใจของตนเอง ขั้นที่ 2 เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติกิจกรรมในคาบเรียน ขั้นที่ 3 เชื่อมโยงความคิดเพิ่มเติมที่บ้านและสรุปความเข้าใจของตน ขั้นที่ 4 สังเคราะห์ความคิดจากการเรียนรู้ ขั้นที่ 5 นำเสนอความคิดของตน

  1. เกิดแผนการสอนเนื้อหาเพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละคร ประกอบด้วย 12 คาบการเรียนรู้ คาบ 1 เรื่อง หนุ่มสาวยุคใหม่ คาบ 2 เรื่อง เธอและผม เจริญเติบโต คาบ 3 เรื่อง ส่วนสงวน คาบ 4 เรื่อง ของรักของหวง คาบ 5 เรื่อง การกำเนิด คาบ 6 เรื่อง ความรู้สึกในวัยหนุ่มสาว คาบ 7 เรื่อง เพศที่ปรากฏในสื่อ คาบ 8 เรื่อง รักแท้รักเทียม คาบ 9 เรื่อง โรคแห่งความไว้วางใจ คาบ 10 เรื่อง การตัดสินใจ คาบ 11 เรื่อง การปฏิเสธ คาบ 12 เรื่อง คุณค่าในตนเอง

  2. เกิดแนวทางของพัฒนาศักยภาพครูเพื่อใช้แผนการเรียนรู้เพศศึกษาที่ถูกพัฒนาขึ้น ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการของแผนงานที่ 1

  3. สร้างความเข้าใจของครูในเนื้อหาเพศศึกษาให้มากขึ้น
  4. เสริมศักยภาพในเทคนิคที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้เพศศึกษา
  5. จัดประสบการณ์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยคำนึงถึงทุนเดิมที่มีอยู่ในตัวครูเป็นฐานของการยกระดับ
  6. พัฒนาสื่อสำหรับใช้ในการจัดการเรียนรู้เพศศึกษา

ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในแผนงาน 1. การดำเนินการตามแผนงานต้องอิงกับเวลาของโรงเรียนที่แผนงานเข้าไปดำเนินการ จึงพบอุปสรรคด้านเวลาบ้างช่วงไม่ต่อเนื่อง เพราะทางโรงเรียนมีกิจกรรมอย่างอื่นที่จัดให้นักเรียนเช่น การแข่งขันกีฬา การตรวจสุขภาพโดยอนามัย ซึ่งทางโครงการต้องปรับเปลี่ยนไปตามจังหวะและเวลาที่เหมาะสม 2. ขาดสื่อรูปภาพเชิงสรีระวิทยา ที่จะสามารถช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและอำนวยให้การเรียนรู้สะดวกมากยิ่งขึ้น ทำให้เด็กทำความเข้าใจในเนื้อหาโดยการเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิมหรือเทียบเคียง

ข้อค้นพบและบทเรียน 1. การใช้ละครในการศึกษา(DIE) เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษานี้ ไม่มีรูปแบบโครงร่างของแผนการสอนที่ชัดเจน แต่เป็นการนำกิจกรรมทางการละครมารับใช้ประเด็นและลำดับการเรียนรู้  และออกแบบให้เหมาะสมกับเนื้อหาและแนวคิดการเรียนรู้ที่สำคัญในแต่ละครั้งของการเรียน 2. หากการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาได้ดำเนินงานร่วมกับผู้ปกครองในการให้การเรียนรู้ของเด็ก จะช่วยให้การเรียนรู้เกิดพลังในเชิงปลูกฝังมากยิ่งขึ้น และเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนและบ้าน ซึ่งเป็นการจัดการเกี่ยววกกับสิ่งแวดล้อมของชีวิตเด็กให้เป็นการเรียนรู้ที่สร้างสมดุล และทัศนคติเชิงแนวคิดให้กับเด็กได้ 3. การเรียนรู้เพศศึกษาที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงการเรียนรู้ในเนื้อหาเพศศึกษาเท่านั้น หากแต่เป็นการเรียนรู้แนวคิดและวิธีคิดต่อเรื่องนั้นในเนื้อหาที่เรียนแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นแนวคิดเชิงทัศนคติ และมีความหมายต่อการใช้ชีวิต ฉะนั้นแนวคิดที่ได้จากการเรียนรู้ดังกล่าวเด็กสามารถนำไปใช้ประยุกต์ในเรื่องต่างๆในชีวิตได้ ไม่เฉพาะเรื่องเพศศึกษาเท่านั้น

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว