สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สรุปการดำเนินงานโครงการ

photo  , 248x186 pixel , 38,364 bytes.

คำนำ ปัญหาสุขภาวะที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนของเรา ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจาการขาดการเรียนรู้ในที่มีผลต่อชีวิตและสามารถนำมาใช้ได้จริงในชิวิตประจำวันของเด็กและเยาวฃน ขณะเดียวกันมีปัจจัยหลายอย่างที่ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ให้เกิดทุกขภาวะ เช่น สื่อกระแสหลัก สภาพแวงดล้อมในชุมชน หรือแม้กระทั้งความคิดของผู้ใหญ่ใกล้ตัวเด็กเอง

เรื่องเพศศึกษาเป็นการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะที่เป็นหนึ่งในสาระสำคัญต่อชีวิตเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะวัยรุ่นตอนต้นที่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าวจากร่างกายที่กำลังเปลี่ยนแปลงเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่  สิ่งสำคัญไม่ใช่อยู่ที่องค์ความรู้เรื่องเพศที่เด็กอยากจะรู้เท่านั้น แต่สิ่งที่มีผลต่อการเจริญ เติบโตทางความคิดในสาระนี้ที่มีความหมายต่อพฤติกรรมการดำรงชีวิตของเด็กและเยาวชนเองคือ การเรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการในเรื่องดังกล่าว

รูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยทางกลุ่มมานีมานะนี้ ได้ผ่านกระบวนการทำงานที่พยายามพิสูจน์สมมติฐานและศึกษาทดลองปฏิบัติจริง จนเกิดเป็นรูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาอย่างความหมายกับชีวิตของเด็กวัยรุ่นตอนต้น โดยเฉพาะเครื่องมือการเรียนรู้ที่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย คือ ละครการศึกษา ที่ถูกนำมาใช้รองรับการเรียนรู้เรื่องนี้ ซึ่งเป็นความน่าสนใจในการดำเนินงานต่อไปให้เกิดผลต่อสังคมในวงกว้าง

กลุ่มมานีมานะหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลจากการทำงานภายใต้โครงการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละครนี้ จะมีประโยชน์ไม่เพียงแต่ในแง่ของเทคนิคสอนเท่านั้น แต่ยังให้แนวคิด ทิศทาง วิธีการ และมุมใหม่ของกระบวนการทางศิลปะเพื่อการพัฒนา อันเป็นสิ่งที่สร้างให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อชีวิตได้จริง และเป็นกลวิธีการหนึ่งในการพัฒนามนุษย์ตัวน้อยให้เข้มแข็งภายใต้สังคมที่เป็นอยู่ และเติบโตดูแลสังคมให้มีภาวะที่เป็นสุขต่อไป

กิตติกรรมประกาศ นับเป็นก้าวแรกที่กลุ่มละครการศึกษามานีมานะได้ทำงานร่วมกับเพื่อนครูของสถานศึกษาต่างๆ และเป็นก้าวแรกที่ทางกลุ่มได้นำประสบการณ์การทำงานด้านละครการศึกษา มาสร้างสรรค์การจัดการเรียนรู้ใหม่ๆให้กับเด็ก ค้นหา พัฒนาและทดลองปฏิบัติจนพบแนวทางการทำงานใหม่ที่น่าสนใจในระดับพื้นและเกิดเป็นตัวแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาของเด็กระดับประถมศึกษาตอนปลายผ่านเทคนิคทางละคร อันเป็นส่วนหนึ่งของละครการศึกษาที่ยังถือว่าใหม่ในสังคมของเรา ทั้งเนื้อหาและวิธีการ

แววตาของเด็กวัยรุ่นตอนต้นที่กำลังทำกิจกรรมการเรียนรู้ในชั่วโมงที่สอนเรื่องเพศศึกษานี้ บอกถึงคำตอบบางอย่างของสมมติฐานที่อยู่ในใจของคนทำงาน หลายๆครั้งที่ได้เกิดความรู้สึกว่า "ใช่"  ซึ่งบ่อยครั้งนั้นก็มักจะนำมาซึ่งความสุขแห่งการเรียนรู้ของเด็ก แต่ก็อีกบ่อยครั้งเหมือนกันที่คำว่า "ใช่" ไม่ปรากฏในความรู้สึกของเราเอง และในแววตาของเด็กๆนั้นก็ดูจะว่างเปล่าตามกัน แต่นั้นก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่ได้เจอข้อค้นพบในการทำงานที่ก่อให้เกิดประสบการณ์และความรู้ใหม่ ตั้งแต่ระดับงานในชั่วโมงสอน จนถึงการทำงานระดับโครงการ เพราะนั้นคือ การเรียนรู้ของคนทำงาน และเป็นสิ่งที่สำคัญอีกเช่นกัน เมื่อการทำงานครั้งนี้เกิดผลให้เด็กเรียนรู้ ครูเรียนรู้ และเราเรียนรู้ เรียนรู้ร่วมกันบนหนทางที่ไม่ใช่ที่จะหาคำตอบว่าถูกหรือผิด

คุณประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานในโครงการนี้ ต้อง ขอบพระคุณ เหล่าบุคคลที่เป็นเสมือนคลังความคิดและแรงบันดาลใจในการทำงาน ได้แก่ นพ. อนันต์ บุญโสภณ ผู้เปิดความคิดและโลกทัศน์ต่อเรื่องเพศศึกษาออกจากกรอบเติมๆของคนทำงานอย่างเราผ่านการสื่อสารเรื่องดังกล่าวทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ คุณสิทธิศักดิ์ ตันมงคล ที่ปรึกษาและแรงบันดาลใจทางความคิดตลอดกาล อจ.สุคลธจิต วงษ์เผือก แห่งภาควิชานาฏยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร  คุณพฤหัส พหลกลบุตร แห่งมูลนิธิสื่อชาวบ้าน คณะที่ปรึกษาการทำงานที่ให้กำลังใจเสมอมา และ อจ.ชโลม เกตุจินดา จากเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา ผู้ติดตามหนุนเสริมการทำงานของโครงการปี 47

คณะทำงานขอขอบคุณ อาสาสมัครที่มีจิตสาธารณะ คุณณัฐวรรณ อิสระทะ คุณจุฑา สังขชาติ คุณวิไลลักษณ์ รุจิระ  คุณวรรภา ยงค์สาโรจน์  คุณสุวรรณี เกิดชื่นและคุณอินทศิริ หนูอักษร กับความสำเร็จและคุณประโยชน์ที่เกิดขึ้นในการทำงานโครงการนี้

ทางกลุ่มมานีมานะ ขอของพระคุณยิ่ง สำหรับ สำนักงานพื้นที่การศึกษาเขต 2 สงขลา ที่สนับสนุนโอกาสในการทำงานโครงการในเขตพื้นที่การศึกษา รวมถึง ผู้อำนวยการและคณะครูของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และขอบพระคุณยิ่ง สำหรับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สนับสนุนทุนการดำเนินงานผ่าน มูลนิธิสาธารณะสุขแห่งชาติ มายังเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา

บทสรุปย่อการดำเนินงาน โครงการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละคร เป็นงานต่อยอดจากการทำงานของทางกลุ่มมานีมานะในประเด็นเพศศึกษามาก่อนหน้านี้ ซึ่งการดำเนินงานในโครงกานี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ผ่านมายังโครงการเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพระดับจังหวัด โดยมูลนิธิสาธารณะสุขแห่งชาติ(มสช.)

วัตถุประสงค์ในการดำเนินงานโครงการนี้เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนักเรียนประถมโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของครู เยาวชน และบุคคลที่มีแนวคิดทางสังคมในพื้นที่ และเพื่อสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อปัญหาที่เกี่ยวกับเพศของเยาวชนในสังคม และกระตุ้นการขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาร่วมกันในบทบาทของตน ซึ่งได้ดำเนินงานกับกลุ่มเป้าหมายเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และกลุ่มครูที่สนใจต่อประเด็นปัญหาทางเพศและการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาในเยาวชน ของพื้นที่เขตการศึกษา 2 สงขลา

การดำเนินงานเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมายอันอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดของกระบวนการเรียนรู้ ดำเนินงานในลักษณะคู่ขนานระหว่างการศึกษาพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางละครและการขับเคลื่อนประเด็นในพื้นที่ โดยอาศัยองค์ความรู้ต่างๆและประการณ์ทำงานของทางกลุ่มเป็นฐานในการพัฒนา ผ่านการสำรวจศึกษาในเชิงประเด็น กิจกรรมการประชุมสัมมนาอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติการสอนจริง

ผลการดำเนินงานพบว่า ผู้เรียนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้มีความสนใจในการเรียนรู้ในเนื้อหาเพศศึกษาเป็นอย่างมาก ขาดโอกาสและกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นเรื่องเป็นราวที่สามารถสร้างความเข้าใจต่อความใคร่รู้ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยนี้ได้ อีกทั้งผู้สอนเห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่จำเป็นจะต้องจัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาให้แก่ผู้เรียน แต่ไม่แน่ใจในความถ่องแท้ในเชิงวิธีการสอนและระดับของเนื้อหาการเรียนรู้

สรุปผลการศึกษาและพัฒนาซึ่งเป็นการดำเนินงานของโครงการได้ว่า การจัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาควรเป็นการจัดการเรียนรู้เชิงระบบโดยอาศัยองค์ประกอบได้แก่
1) ครูผู้สอนที่มีแนวคิดเชิงทัศนคติที่ถูกต้องและเป็นด้านบวกกับมิติทางเพศ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนในเนื้อหาสาระและกลวิธีการสอน  ผู้สอนควรจะยกระดับและพัฒนาตนเองให้เกิดความพร้อมต่อการให้การเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาแก่ผู้เรียน
2) มีรูปแบบกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถตอบสนองและก่อให้เกิดความหมายต่อชีวิตของผู้เรียนได้ ซึ่งในโครงการได้ศึกษาและพัฒนาเป็นรูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละคร ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้น1 สำรวจความสนใจของตนเอง ขั้น2 เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติกิจกรรมในคาบ ขั้น3 เชื่อมโยงความคิดเพิ่มเติมที่บ้านและสรุปความเข้าใจของตน ขั้น4 สังเคราะห์ความคิดจากการเรียนรู้ ขั้น5 สื่อสารความคิดกับสังคม โดยมีโครงสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางของละครในการศึกษา ซึ่งเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาโดยใช้กระบวนการทางศิลปะ 3) มีสื่อการจัดกิจกรรมการเรียน ที่นำเสนอความจริงแก่ผู้เรียน ความจริงนี้ได้แก่ ธรรมชาติที่เป็นจริง ไม่ได้ปรับปรุงแต่งให้เพื่อดึงดูดความสนใจ ตั้งอยู่บนความเป็นวิชาการและความเป็นวิทยาศาสตร์
นอกจากแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากโครงการแล้ว การดำเนินงานที่ที่สามารถยกระดับผู้สอนให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนในเชิงสังคมมากยิ่งขึ้นจำเป็นต้องมีการหนุนเสริมให้เกิดเป็นเครือข่ายของการครูผู้สอนในการเรียนรู้ร่วมกัน อันเป็นทิศทางที่สามารถกระตุ้นให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสังคมมากยิ่งขึ้น

ความสำคัญและประเด็นสุขภาพที่เกี่ยวข้อง โครงการการเรียนรู้เพศศึกษาระดับประถมศึกษา ถือกำเนิดจากสภาพปัญหาเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นกับเยาวชน โดยเล็งเห็นว่า เยาวชนขาดโอกาสในการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้เยาวชนมีทัศนคติและพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม นำไปสู่ความเสี่ยงต่อปัญหาทางเพศ กลาย เป็นทุกขภาวะแห่งวัย และปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมทางเพศนี้ ไม่จำกัดเฉพาะในช่วงวัยเยาวชน แต่มีผลสืบเนื่องระยะยาวเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพในวันหน้าได้เสมอกัน

จากการดำเนินงานโครงการวัยสะอาด ละความเสี่ยง เลี่ยงปัญหาเอดส์ ปี 2546  ของทางกลุ่มละครการศึกษามานีมานะ ได้มีการสรุปบทเรียนและเกิดข้อค้นพบว่า เยาวชนโดยส่วนใหญ่  ยังมีความเข้าใจพื้นฐานและทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์(STDs & AIDS) และการป้องกันน้อยมาก มีความคิดในเชิงแยกส่วนและไม่สามารถนำมาสู่การปฏิบัติจริงในชีวิตได้ เนื่องจากเยาวชนมีความคิดพหุมาตรฐาน ในขณะที่สิ่งแวดล้อมในวิถีชีวิตในเมืองหาดใหญ่รอบตัวเยาวชน กระตุ้นให้เกิดความสนใจในเรื่องเพศเป็นอย่างมากและเยาวชนมีโอกาสน้อยในการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาที่นำไปสู่การจัดการพฤติกรรมที่นำไปสู่ความเสี่ยงได้อย่างเท่าทัน

ข้อค้นพบดังกล่าวสะท้อนถึงสภาวะที่น่าเป็นห่วงในการใช้ชีวิตของเยาวชน และแสดงให้เห็นถึงค่านิยมทางเพศและภูมิความคิดในเรื่องเพศที่บกพร่อง และก่อให้เกิดความเสี่ยงในพฤติกรรมทางเพศได้ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยเรื่อง ความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ และพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคเอดส์ของเยาวชน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดย มาลี สบายยิ่ง  พบว่า เยาวชนชายอายุ 15-24 ปี ส่วนใหญ่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกกับเพื่อนสนิท รองลงมาคือหญิงบริการและเพื่อนไม่สนิท เกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกพบว่า ร้อยละ 81.0 ไม่ได้ใช้ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า มั่นใจในตัวผู้หญิง รู้จักกันดี เชื่อใจ ไว้ใจกันและกัน ไม่รู้ว่าต้องใช้ ลืม ไม่จำเป็นต้องป้องกัน และยังพบว่า เยาวชนส่วนใหญ่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์น้อยมาก และมีความกลัวต่อโรคเอดส์ เพียงเล็กน้อย มีเพียงบางส่วนที่กลัวมาก

นอกจากนั้นแล้ว ทัศนคติในเรื่องเพศที่ไม่ถูกต้อง และพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ดังที่คุณปิยรัตน์ สินพิศุทธ์  ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ถึงทัศนคติของเยาวชนที่ได้รับเชื้อเอดส์ ความได้ว่า โดยส่วนใหญ่แล้วเยาวชนมีทัศนคติและความกลัวต่อผู้ป่วยเอดส์ แต่ไม่ได้กลัวผู้ติดเชื้อเอดส์ เนื่องจากที่ผู้ติดเชื้อก็ดูเหมือนคนทั่วๆไป เพราะยังไม่มีการแสดงออกทางอาการใดๆ ซึ่งการมองแต่เพียงภายนอกเช่นนี้ ทำให้เยาวชนจำนวนมากไม่ป้องกันตัวขณะมีเพศสัมพันธ์ และเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคเอดส์สูงด้วยเพราะขาดความเข้าใจในการป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง

สภาวการณ์ดังกล่าวที่ยังคงปรากฏกับเยาวชนนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน
สภาพของความเป็นเมืองหาดใหญ่ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมทางสังคมจึงเปิดกว้าง มีธุรกิจสถานบันเทิงเริงรมย์หลายแห่งที่โดดเด่น และการค้าอื่นที่เกี่ยวพัน เยาวชนจึงได้มีโอกาสรู้เห็นเรื่องเพศอย่างหลงทาง วิถีชีวิตครอบครัวของเยาวชนที่อาศัยอยู่ในเมืองหาดใหญ่ มุ่งเน้นการประกอบอาชีพเพื่อสร้างฐานะเศรษฐกิจตามระดับค่าครองชีพที่สูง ส่งผลให้ครอบครัวของเยาวชนมีเวลาน้อยในการพูดคุยหรือสอนเรื่องเพศกันในบ้าน เนื่องจากความสนใจหลักของครอบครัวอยู่ที่การทำมาหากิน และครอบครัวได้ฝากความหวังในการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ให้กับโรงเรียน ด้วยตัวเยาวชนเองเติบโตเป็นวัยรุ่น วัยที่มีความสนใจและการอยากรู้อยากเห็นในเรื่องเพศ ได้เข้าใจเรื่องเพศจากเพื่อน เยาวชนรุ่นพี่ และสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่อลามกอนาจาร แทนที่ได้รับความรู้ความเข้าใจเรื่องดังกล่าวจากครอบครัว จากสถานศึกษา ทำให้ธุรกิจการค้าขายที่เกี่ยวกับเรื่องทางเพศและสื่ออนาจารที่มีอยู่ทั่วไปในเมืองหาดใหญ่ ก้าวเข้ามาฉวยโอกาสแสวงหาผลกำไรจากความอยากรู้อยากเห็นของวัยรุ่น และมีบทบาทสูงในการสร้างความเข้าใจและเปิดโอกาสให้เยาวชนรู้เรื่องเพศอย่างไม่ถูกต้อง ก่อความเสียหายกับเยาวชนทั้งหญิงและชาย

จากสภาวการณ์ซับซ้อนที่เกิดขึ้น เยาวชนมีพัฒนาการและวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับทางเพศเปลี่ยนไปจากอดีต กอปรกับการยอมรับการแสดงออกทางเพศอย่างเสรีตามอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก ซ้ำยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงที่นำมาสู่ปัญหาทางเพศ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ก่อนวัยอันควร การได้รับเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ เป็นการบั่นทอนสุขภาวะของเยาวชนเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างความเข้าใจ ทัศนคติ และพัฒนาความสามารถการจัดการกับความเสี่ยงที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเยาวชนในการใช้ชีวิต โดยมีกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัย  และมีทิศทางในเชิงรุกเพื่อที่จะปลูกฝัง สร้างภูมิคุ้มกันในเยาวชนก่อนเข้าสู่วัยรุ่นเต็มตัว ก่อนที่เยาวชนจะเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวตามยถากรรม ชวนให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดค่านิยม ความคิดที่ทำให้เกิดการเกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่อปัญหาทางเพศต่างๆในชีวิต

กลุ่มละครการศึกษามานีมานะ ได้ตระหนักอย่างจริงจังถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาวะของเยาวชนดังกล่าว และทำงานประเด็นเพศศึกษาและเอดส์มาตลอด ได้สะสมประสบการณ์ ทั้งในด้านองค์ความรู้และเทคนิควิธีการสร้างการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมทางการละคร โครงการการเรียนรู้เพศศึกษาอย่างเป็นกระบวนการระดับประถมศึกษา ระยะที่ 1 การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมละคร นี้ มีลักษณะที่เป็นโครงการปฏิบัติการโดยตรงเพื่อพัฒนาเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้เพศศึกษาเพื่อให้เป็นตัวแบบการสอนเพศศึกษา และชักชวนคุณครูและโรงเรียนในพื้นที่โครงการหันมามองปัญหาของเด็กเยาวชนผ่านการทำงานเชิงกระบวนการในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับคุณภาพของเด็กและเยาวชน ให้เกิดภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งต่อปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาทางเพศ

วัตถุประสงค์โครงการ 1. ศึกษาและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนักเรียนประถมโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของครู เยาวชน และบุคคลที่มีแนวคิดทางสังคมในพื้นที่ 2. เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อปัญหาที่เกี่ยวกับเพศของเยาวชนในสังคม และกระตุ้นการขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาร่วมกันในบทบาทของตน

กลุ่มเป้าหมายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การดำเนินงานของโครงการเน้นทิศทางเชิงรุกต่อการจัดการปัญหาทางเพศ โดยพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่สามารถสร้างความเข้าใจและปลูกฝังความคิดที่ถูกต้องในเรื่องเพศให้กับเด็กในวัยที่เริ่มสนใจเรียนรู้เรื่องเพศและยังไม่เกิดความคิดที่ซับซ้อนมากนัก ซึ่งโครงการมีกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน 2 ส่วน ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายโครงการ
1. เด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ โดยตรงจากการใช้รูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากโครงการนี้ จำนวน 76 คน 2. กลุ่มครูที่สนใจต่อประเด็นปัญหาทางเพศของเยาวชนและการจัดการเรียนรู้เพศศึกษา เป็นกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวพันโดยตรงกับการจัดการเรียนรู้ให้เด็กนักเรียน เป็นบุคลากรที่จะเป็นผู้ใช้รูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาที่ได้พัฒนาขึ้นมาจากโครงการนี้ในอนาคต และเป็นผู้มี่ส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนในระบบการศึกษา จำนวน 41 คน
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการทำงาน 1. บุคคลที่มีแนวคิดทางสังคมในพื้นที่ ได้แก่บุคลากรที่ทำงาน/ที่เคยทำงานหรือกิจกรรมเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน หรือเป็นบุคคลที่ได้มีส่วนร่วมในการทำงานในด้านสุขภาพในพื้นที่ 2. ที่ปรึกษาโครงการ ผู้ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาในการดำเนิน งานของโครงการได้แก่ นพ.อนันต์ บุญโสภณ สูตินรีแพทย์, อาจารย์สุคนธจิต วงษ์เผือก อาจารย์สาขานาฏยศาสตร์ อักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร และคุณพฤหัส พหลกลบุตร มูลนิธิสื่อชาวบ้านและนักการศึกษาอิสระ

พื้นที่ดำเนินการงาน โครงการฯได้พิจารณากำหนดเลือกพื้นที่ดำเนินงานของ คือ พื้นที่การศึกษาสงขลาเขต 2 ประกอบไปด้วย อำเภอหาดใหญ่ อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอควนเนียง อำเภอรัตภูมิ และอำเภอบางกล่ำ และมีจำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมในโครงการจำนวน 22 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนที่เข้าร่วมนี้เกิดขึ้นจากการตอบรับในการประสานงานและทำงานที่ต่อ เนื่องกับครูของแต่ละโรงเรียน ภายใต้การดำเนินงานนอกระบบโรงเรียนและการบริหารจัดการของกลุ่มเป้าหมายให้เกิดการมีส่วนร่วมในโครงการ

แนวคิดในการพัฒนาอันสอดคล้องกับกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แนวทางการพัฒนาการเรียนรู้เพศศึกษาคือ การสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน นั้นหมายถึง สิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีคุณค่าต่อการดำรงชีวิต ผู้เรียนสามารถนำการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นไปใช้จริงและประยุกต์ใช้ในสภาวะต่างๆได้ เพื่อให้เกิดการยกระดับการเจริญเติบโตไปสู่ความสมบูรณ์ของการเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 มาตรา 6 ที่ว่า "การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข" การขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมายของเด็กนักเรียนนั้น เป็นเสมือนเป้าหมายหลักของการยกระดับคุณภาพของคน และครูคงหนีไม่พ้นกับการถูกคาดหวังในการขับเคลื่อนดังกล่าว  ถึงแม้ว่าครูจะถูกคาดหวังจากสังคมอย่างไรก็ตาม การศึกษาก็เป็นระบบที่คนทุกคนต้องผ่าน เป็นระบบที่กำหนดความเป็นไปของคนในสังคม หากการทำงานใดๆก็ตามที่สามารถเสริมความเข้มแข็งและคุณภาพของการจัดการเรียนรู้ได้ เป้าหมายดังกล่าวก็เกิดขึ้นได้จริง  นั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับฐานของสังคม
การสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์จริงของสังคมและตอบสนองความสนใจของผู้เรียนเป็นเรื่องที่สำคัญของการจัดการเรียนรู้ การอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้เรียนกำหนดเนื้อหาสาระและวิธีการเรียนรู้ จึงเป็นกลวิธีในการสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายแก่ผู้เรียน เมื่อผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่อยากรู้แล้วก็จะเชื่อมโยงกับประสบการณ์ในชีวิตจริงและเกิดข้อสงสัยและคำถามที่อาจนำไปสู่การค้นหาคำตอบของสิ่งที่เรียนนั้น พัฒนาเป็นความรู้ที่เกิดจากสิ่งที่อยากเรียน ซึ่งแนวทางตรงกับ การจัดกระบวนการเรียนรู้ ใน มาตรา 24 ดังนี้คือ 1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล 2) ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้เพื่อป้องกันและแก้ปัญญา 3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติ ให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง 4) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆอย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา 5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนกาเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ 6) จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง และ

บุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ ครูมีบทบาทเป็นผู้จัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนอาจมีข้อจำกัดในการที่จะนำพานักเรียนไปสู่การเรียนรู้ที่สามารถเชื่อมโยงได้กับชีวิตจริงและสภาพจริงของสังคม อันเนื่องจากภาระหน้าที่ความรับผิดชอบหลักในโรงเรียน ครูจึงไม่มีเวลาพอที่จะศึกษาและติดตามสถานการณ์ ประเด็นทางสังคม  ความเคลื่อนไหวต่างๆ หรือความรู้ใหม่ๆที่เกิดขึ้นในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี การจัดการเรียนรู้ให้เด็กนักเรียนจึงยึดอยู่กับหนังสือตำราต่างๆ ซึ่งเป็นแนวทางของเนื้อหาการเรียนรู้ที่ไม่ได้อิงกับสภาวการณ์และความเป็นจริงของชีวิตและสังคมที่เกิดขึ้น ฉะนั้นแนวทางของโครงการจึงปรากฏในบทบาทที่สร้างพื้นที่ร่วมระหว่างการจัดการเรียนการสอนของครูที่อิงเนื้อหาในตำราเรียนกับสภาพการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นปัจจุบันในสังคมและความสนใจของผู้เรียน ให้เกิดเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายและเชื่อมโยงกับชีวิต อันสอดคล้องกับหลักการในการจัดทำสาระการเรียนรู้ในมาตรา 27 ซึ่ง "ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีแก่ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ"

หากการเรียนที่มีความหมายเกิดจากการนำผู้เรียนเป็นสำคัญ(Learner-centered) ในการเรียนรู้แล้ว เครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ที่เรียกว่า "ละคร" ก็เป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ เพราะละคร เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับของ "มนุษย์"

ละครในมิติของเครื่องมือพัฒนามนุษย์นั้น เป็นเครื่องมือทางการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่มีศักยภาพก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่เครื่องมืออื่นๆยากจะทำได้ ละครได้ให้คุณค่าและประโยชน์ที่หลากหลายนำไปสู่การพัฒนาของมนุษย์ เช่นละครมีคุณค่าในระดับอารมณ์ ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนานและมีความสุข หรืออาจจะทำให้เราเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คุณค่าในระดับสมอง ละครที่สอดแทรกเนื้อหาสาระจะทำให้เรามีความคิดใหม่ๆหรือองค์ความรู้ที่กว้างไกลขึ้น คุณค่าในระดับจิตใจ ละครบางเรื่องอาจทำให้รู้สึกรู้แจ้งเห็นจริง นำไปสู่การตระหนักทางปัญญา

ตั้งแต่วัยเด็ก มนุษย์มีจิตนาการ ความเชื่อ สมาธิ ประสบการณ์ วัจนะภาษาและอวัจนะภาษา ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นทักษะพื้นฐานที่ปรากฏในเครื่องมือการเรียนรู้ที่เรียกกว่าละคร อาจเรียกได้ว่า ละครเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่สอดคล้องมากกับความเป็นธรรมชาติของมนุษย์

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ธรรมชาติของมนุษย์จะต้องมีความสัมพันธ์กับสรรพสิ่งรอบตัวเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่าง สงบ สุขและสันติ ความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร เป็นรูปแบบที่ก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ ร่วมกันภายใต้บรรยากาศและความรู้สึกที่ปลอดภัย พร้อมที่จะปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ ลดตัวตนของแต่ละคนลงก้าวไปสู่การทำความเข้าใจในความคิดของผู้อื่น และเป็นพื้นฐานของการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การให้เกียรติต่อกัน เป็นการเปิดประตูมาสู่การพูดจากทำความเข้าใจและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ยิ่งเป็นการแลกเปลี่ยนที่นำไปสู่การขยายความเข้าใจจากโลกทัศน์เดิมแล้ว ก็เป็นหนทางหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญญาขึ้นได้ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยเดียวกันหรือต่างวัย ต่างประสบการณ์

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว