สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

แนวคิดในการทำโครงการ

โครงการการเรียนรู้เพศศึกษาอย่างเป็นกระบวนการระดับประถมศึกษา ถือกำเนิดจากสภาพปัญหาเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นกับเยาวชน โดยเล็งเห็นว่า เยาวชนขาดโอกาสในการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้เยาวชนมีทัศนคติและพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม นำไปสู่ความเสี่ยงต่อปัญหาทางเพศ กลายเป็นทุกขภาวะแห่งวัย และปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมทางเพศนี้ ไม่จำกัดเฉพาะในช่วงวัยเยาวชน แต่มีผลสืบเนื่องระยะยาวเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพในวันหน้าได้เสมอกัน

จากการดำเนินงานโครงการวัยสะอาด ละความเสี่ยง เลี่ยงปัญหาเอดส์ ปี 2546  ของทางกลุ่มละครการศึกษามานีมานะ ได้มีการสรุปบทเรียนและค้นพบว่า เยาวชนโดยส่วนใหญ่  ยังมีความเข้าใจพื้นฐานและทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs & AIDS) และการป้องกันน้อยมาก มีความคิดในเชิงแยกส่วนและไม่สามารถนำมาสู่การปฏิบัติจริงในชีวิตได้ เนื่องจากเยาวชนมีความคิดพหุมาตรฐาน ในขณะที่สิ่งแวดล้อมในวิถีชีวิตในเมืองหาดใหญ่รอบตัวเยาวชน กระตุ้นให้เกิดความสนใจในเรื่องเพศเป็นอย่างมาก และเยาวชนมีโอกาสน้อยในการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาที่นำไปสู่การจัดการพฤติกรรมที่นำไปสู่ความเสี่ยงได้อย่างเท่าทัน

ข้อค้นพบดังกล่าวสะท้อนถึงสภาวะที่น่าเป็นห่วงในการใช้ชีวิตของเยาวชน และแสดงให้เห็นถึงค่านิยมทางเพศและภูมิความคิดในเรื่องเพศที่บกพร่อง และก่อให้เกิดความเสี่ยงในพฤติกรรมทางเพศได้ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยเรื่อง ความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ และพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคเอดส์ของเยาวชน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดย มาลี สบายยิ่ง  พบว่า
เยาวชนชายอายุ 15-24 ปี ส่วนใหญ่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกกับเพื่อนสนิท รองลงมาคือหญิงบริการและเพื่อนไม่สนิท เกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกพบว่า ร้อยละ 81.0 ไม่ได้ใช้ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า มั่นใจในตัวผู้หญิง รู้จักกันดี เชื่อใจ ไว้ใจกันและกัน ไม่รู้ว่าต้องใช้ ลืม ไม่จำเป็นต้องป้องกัน
และยังพบว่า  เยาวชนส่วนใหญ่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์น้อยมาก และมีความกลัวต่อโรคเอดส์ เพียงเล็กน้อย มีเพียงบางส่วนที่กลัวมาก

นอกจากนั้นแล้ว ทัศนคติในเรื่องเพศที่ไม่ถูกต้อง และพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ดังที่ ปิยรัตน์ สินพิศุทธ์  ได้ให้สัมภาษณ์ไว้เกี่ยวกับทัศนคติของเยาวชนที่ติดเชื้อเอดส์ ความได้ว่า โดยส่วนใหญ่แล้วเยาวชนมีทัศนคติและความกลัวต่อผู้ป่วยเอดส์ แต่ไม่ได้กลัวผู้ติดเชื้อเอดส์ เนื่องจากที่ผู้ติดเชื้อก็ดูเหมือนคนทั่วๆไป เพราะยังไม่มีการแสดงออกทางอาการใดๆ ซึ่งการมองแต่เพียงภายนอกเช่นนี้ ทำให้เยาวชนจำนวนมากไม่ป้องกันตัวขณะมีเพศสัมพันธ์ และเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคเอดส์สูงด้วยเพราะขาดความเข้าใจในการป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง

สภาพการณ์ที่ยังคงปรากฏกับเยาวชนนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน
สภาพของความเป็นเมืองหาดใหญ่ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมทางสังคมจึงเปิดกว้าง มีธุรกิจสถานบันเทิงเริงรมย์หลายแห่งที่โดดเด่น และการค้าอื่นที่เกี่ยวพัน เยาวชนจึงได้มีโอกาสรู้เห็นเรื่องเพศอย่างหลงทาง

ภาวะของวิถีชีวิตครอบครัวของเยาวชนที่อาศัยอยู่ในเมืองหาดใหญ่ มุ่งเน้นการประกอบอาชีพเพื่อสร้างฐานะเศรษฐกิจในครอบครัวให้สูงขึ้นตามค่าครองชีพที่สูง เกิดผลให้เยาวชนได้มีโอกาสน้อยในการเรียนรู้เรื่องเพศอย่างถูกต้องจากครอบครัว เนื่องจากความสนใจหลักของครอบครัวอยู่ที่การทำมาหากิน และครอบครัวได้ฝากความหวังในการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ในโรงเรียน

ด้วยตัวเยาวชนเองที่ก้าวย่างสู่วัยรุ่น กำลังแสวงหาคำตอบของการอยากรู้อยากเห็นในเรื่องเพศจากสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว แทนที่จะได้รับความรู้ความเข้าใจเรื่องดังกล่าวจากครอบครัว จากสถานศึกษาแต่กลับได้เรียนรู้จากเพื่อน เยาวชนรุ่นพี่ และสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่อลามกอนาจารที่มีอยู่ทั่วไปในเมืองหาดใหญ่ ทำให้ช่องทางธุรกิจที่เกี่ยวกับทางเพศและสื่ออนาจาร ก้าวเข้ามาฉวยโอกาสแสวงหาผลกำไรจากความอยากรู้อยากเห็นของวัยรุ่น และมีบทบาทสูงในการสร้างความเข้าใจเรื่องเพศอย่างไม่ถูกต้องกับวัยรุ่น ก่อความเสียหายกับเยาวชนทั้งหญิงและชาย

จากสภาวการณ์ซับซ้อนที่เกิดขึ้น เยาวชนมีพัฒนาการและวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับทางเพศเปลี่ยนไปจากอดีต กอปรกับการยอมรับการแสดงออกทางเพศอย่างเสรีตามอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก ซ้ำยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงที่นำมาสู่ปัญหาทางเพศ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ก่อนวัยอันควร การได้รับเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ เป็นการบั่นทอนสุขภาวะของเยาวชนเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างความเข้าใจ ทัศนคติ และพัฒนาความสามารถการจัดการกับความเสี่ยงที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเยาวชนในการใช้ชีวิต โดยมีกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัย  และมีทิศทางในเชิงรุกเพื่อที่จะปลูกฝัง สร้างภูมิคุ้มกันในเยาวชนก่อนเข้าสู่วัยรุ่นเต็มตัว

กลุ่มละครการศึกษา มานีมานะ ได้ตระหนักอย่างจริงจังถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาวะของเยาวชนดังกล่าว และสนใจในการทำงานรณรงค์ในประเด็นเพศศึกษามาตลอด ได้สะสมประสบการณ์ ทั้งในด้านองค์ความรู้และเทคนิควิธีการสร้างการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมทางการละคร โครงการการเรียนรู้เพศศึกษาอย่างเป็นกระบวนการระดับประถมศึกษา ระยะที่ 1 พัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมละคร นี้ มีลักษณะที่เป็นโครงการปฏิบัติการโดยตรงเพื่อพัฒนาการเรียนรู้เพศศึกษาของเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย ในขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาตัวแบบการสอนเพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละครให้กับครูและโรงเรียนต่างๆ สำหรับการขยายผลการเรียนการสอนเพศศึกษาระดับประถมในโรงเรียนสู่วงกว้างในระยะต่อไปของโครงการอีกด้วย

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว