สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

แนวคิดในการทำโครงการ

by web team @17 ธ.ค. 47 10:21 ( IP : ) | Tags : สานสายใยเพื่อสุขภาพ

การสร้างเสริมสุขภาพเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในการปฏิรูประบบสุขภาพ เพราะการสร้างเสริมสุขภาพประกอบด้วยการที่สังคมมีจิตสำนึกหรือจินตนาการใหม่ในเรื่องสุขภาพดี และเกิดพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน สถานที่ทำงาน ระบบบริการสังคม สื่อมวลชน ตลอดจนนโยบาย คนและสังคมต้องมีคุณค่าและจิตสำนึกแห่งความดี คน องค์กร หรือสังคมที่ขาดคุณค่าและจิตสำนึกจะขาดพลังแห่งความถูกต้องและยั่งยืน การยึดเทคนิคเป็นตัวตั้งอย่างเดียว ไม่ช้าก็แปรผันขาดความถูกต้อง และนำไปสู่ความเสื่อม อย่างที่เห็นในระบบทั้งหลาย

โรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์ เป็นสถาบันที่อยู่ในชุมชนอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม บุคลากรในโรงเรียนร้อยละ ๖๐ อยู่ในสังคมที่ยังคงขาดจิตสำนึกในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ดังเช่น

  • สังเกตจากพฤติกรรมการออกกำลังกายที่ไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอทั้งๆ ที่โรงเรียนจัดคาบออกกำลังกายให้ก็ตามแต่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร้อยละ ๕๐ นำเวลาที่ถูกจัดไว้ไปกระทำกิจอย่างอื่น
  • พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม นักเรียนร้อยละ ๘๐ ที่ไม่ทราบพิษภัยที่เกิดจากน้ำอัดลม หรือหากทราบก็ไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มดังกล่าว ทั้งนี้อาจมีผลมาจากการเห็นโฆษณาจากสื่อต่างๆ พฤติกรรมวัยรุ่นย่อมต้องการเลียนแบบคนดัง จึงยังคงอุดหนุนน้ำที่มีพิษอยู่อย่างต่อเนื่อง และผลที่ตามมาในโรงเรียน พะตงประธานคีรีวัฒน์ในเรื่องนี้ ได้แก่ ขยะประเภทแก้วเคลือบเทียนไขที่บรรจุน้ำอัดลม เกลื่อนกลาดในบริเวณโรงเรียน ทั้งๆ ที่มีถังขยะให้มากมายแต่ก็ยังไม่เพียงพอกับผู้ผลิตขยะ
  • พฤติกรรมการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ยังคงมีให้เห็นได้ทั่วไป ทั้งๆ ที่โรงเรียนมีโครงการ ๕ ส อยู่ในระบบของโรงเรียนมีการประกวด มีการประเมินอยู่ตลอดช่วง แต่พฤติกรรมในด้านการลดปริมาณขยะของนักเรียนยังไม่เข้าไปในจิตสำนึก จำนวนห้องเรียนร้อยละ ๘๐ ที่ยังคงมีเศษกระดาษเกลื่อนกลาดอยู่ใต้โต๊ะ นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนยังไม่เห็นความสำคัญของการนำกระดาษมาใช้ในกระบวนการรีไซเคิล ไม่ว่าจะแยกมาจำหน่ายให้กับคนรับซื้อกระดาษ หรือ นำมาทำผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากกระดาษที่ไม่ใช้แล้ว
  • พฤติกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่เกื้อกูลต่อสุขภาพ เช่น การทิ้งน้ำเสียลงในคูระบายน้ำของโรงเรียน บรรดาผู้ผลิตน้ำเสีย เช่น กลุ่มแม่ค้าในโรงอาหาร เมื่อทำภารกิจจำหน่ายอาหารคาวหวานต่างๆ น้ำล้างจานชามที่ได้จะถูกปล่อยทิ้งไปโดยไม่ได้รับการบำบัดก่อนที่ต้นเหตุ โดยทุกร้านมีความเข้าใจว่าโรงเรียนมีระบบบ่อดักไขมันอยู่แล้ว ก็คงไม่จำเป็นต้องกำจัดไขมันก่อนทิ้งน้ำล้างถ้วยล้างจาน ดังนั้นสิ่งที่พบเห็นทุกวัน คือ ไขมันที่มากับน้ำทิ้งจากโรงอาหารจะล้นออกมายังคูระบายน้ำ ส่งกลิ่นรบกวนบุคลากรในโรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง ทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนไม่ดีเท่าที่ควร ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โรงเรียน/นักการ จะจัดการกลิ่นเหม็นในเวลาใด กอปรกับนักเรียนที่ช่วยกำจัดปัญหาสิ่งแวดล้อมในส่วนนี้มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ผลิต
  • กระบวนการนำสารเคมีมาใช้ในการเพาะปลูกพืชผักในโรงเรียนยังมีให้เห็น ซึ่งทำให้นักเรียนยังคงยึดมั่นว่าเป็นการถูกต้องที่จะใช้ปุ๋ยเคมีมาเร่งการเจริญเติบโต และนำความคิดเหล่านี้ไปใช้กับครอบครัวตนเอง หากทุกคนหันมาเลิกใช้ปุ๋ยเคมี และใช้ปุ๋ยชีวภาพที่สามารถจัดกระทำได้ด้วยตนเองในโรงเรียน จะมีผลดีต่อสุขภาพของเราทุกคนเพราะจะได้บริโภคผักปลอดสารพิษ และ ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา กล่าวคือ ไม่มีสารเคมีตกค้างในระบบของดินและน้ำในแหล่งน้ำชุมชน
  • อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับนักเรียนนำมาบริโภคมีน้อยมาก นักเรียนจึงไม่เห็นความสำคัญของการบริโภคเพื่อสุขภาพ ทุกอย่างยังดำเนินการไปอย่างปกติเปรียบเสมือนราวกับว่าทุกคนยังคงอยู่ในสังคมที่สุขภาพกาย สุขภาพจิตดี โดยไม่สนใจภัยสุขภาพที่กำลังคุกคามมาตลอดเวลา
  • การพัฒนาทางจิตวิญญาณยังคงมีน้อย ผลที่เห็นได้ตลอดเวลา ได้แก่ นักเรียนและบุคลากรส่วนใหญ่ ขาดระเบียบวินัย ขาดความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและสังคม บุคคลเหล่านั้นยังไม่สามารถเข้าถึงสภาวะความสุขทางจิตวิญญาณ อันทำให้สุขภาพดี
  • นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนร้อยละ ๖๐ ขาดการเรียนรู้ที่ดี หลายคนจึงไม่มีความสุขที่เกิดจากการสร้างสุขภาวะ หลายคนยังไม่ปฏิรูปการเรียนรู้ ไปสู่การเรียนรู้ที่ทำให้สุขภาพจิตดี

โรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์ มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากรในโรงเรียนโดยอาศัยพฤติกรรมด้านการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อที่นำมาสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีของโรงเรียนอันจะนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพ การรณรงค์ในเรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษ โดยใช้เทคโนโลยี EM ในโรงเรียนเพื่อปลูกฝังการนำทักษะเกษตรธรรมชาติไปใช้กับบ้านตนเองหรือในชุมชน เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารธรรมชาติในการปลูกพืชผัก และไม่หันกลับไปใช้สารเคมี ปรับพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้อง โดยการรณรงค์ในเรื่องการดื่มน้ำสมุนไพร หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และการเรียนรู้ที่จะนำคนและสถานการณ์จริงเป็นตัวตั้งในการปฏิรูปการเรียนรู้ของแต่ละรายวิชาเพื่อปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนที่แท้จริง โดยนักเรียน และเพื่อนักเรียน

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว