สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ถอดรหัสความปวด ปวดหัว ปวดไหล่ ปวดเนื้อ ปวดตัว

by wanna @15 มี.ค. 50 16:10 ( IP : 222...181 ) | Tags : สาระน่ารู้
photo  , 337x256 pixel , 8,574 bytes.

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 15 มีนาคม 2550 07:34 น.

      สารพัดสาระพันอาการปวดทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ว่าใครต่างเคยโดนพิษสงเล่นงานมาแล้วทั้งสิ้น แต่ปัญหาก็คือ แทบไม่มีใครศึกษากันอย่างจริงๆ จังๆ ว่า อาการปวดที่ซุกซ่อนอยู่ในร่างกายของเราและแผลงฤทธิ์มากบ้างน้อยบ้าง ผลุบๆโผล่ๆในชีวิตประจำวันนั้น จะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไรและกินระยะเวลายาวนานเพียงใด


ความปวด ปัญหาที่ไม่มีใครอยากเจอ

      คงมีแต่เพียงคำพูดติดตลกที่นำมาใช้แซวกันขำๆว่าา แก่ หรือ สูงวัย แล้ว เมื่อใครสักคนบ่นว่าปวดเมื่อย เพราะความเข้าใจที่ว่าความปวดเมื่อยมักเป็นโรคที่อยู่คู่กับผู้สูงอายุ
      อย่างไรก็ตาม สำหรับหนุ่มๆสาวๆ เองเคยได้ลองสังเกตตัวเองบ้างหรือไม่ว่าวันๆหนึ่งตัวเองรู้สึกเมื่อยล้าตามร่างกายกี่ครั้ง โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ชีวิตกว่าครึ่งค่อนวันฝากไว้ในออฟฟิศ ติดหนึบอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์
      ...ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาช่วยกัน ถอดรหัส สัญญาณเตือนภัยเหล่านี้กันให้ละเอียดรอบคอบ เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาธรรมดาที่จะมองข้ามกันได้อีกต่อไป
            รศ.นพ.ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช นายกสมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย ให้นิยามความปวดเอาไว้ว่า หมายถึงความรู้สึกไม่สบายกายหรือจิตใจจากการบาดเจ็บเนื้อเยื่อหรือประสบการณ์ทางอารมณ์ รวมถึงภาวะที่เป็นแนวโน้มถึงการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อด้วย
      ทั้งนี้ ความปวดตามร่างกายนับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ซึ่งทุกครั้งที่รู้สึกมีอาการปวดก็สามารถตีความหมายได้ว่าในขณะนั้นร่างกายได้ส่งสัญญาณเตือนภัยบางอย่าง และความปวดนี้เป็นโรคที่พบในทุกเพศทุกวัย แต่มีน้อยคนที่จะให้ความสนใจเพราะอาการปวดนั้นไม่ได้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตหรือหากจะมีก็เป็นเพียงส่วนน้อย แต่เป็นบ่อยๆ เข้าก็มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้เช่นกัน
      ที่สำคัญคือ เมื่อมีอาการปวดบ่อยๆ เข้าก็จะชักนำไปสู่การเกิดภาวะปวดชนิดที่เรียกว่า เรื้อรัง ได้ อย่างไรก็ตาม หากใครที่เริ่มสงสัยว่าตนเองปวดถึงขั้นเรื้อรังหรือไม่ ก็สามารถใช้ระยะเวลาเป็นเครื่องมือในการวัดคือต้องมีอาการต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป
      ปัจจุบันนี้มีประชากรผู้ใหญ่ 1 ใน 5 คนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะความปวดเรื้อรัง โดยภาวะดังกล่าวอาจกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งได้ เนื่องจากจำนวนประชากรสูงอายุและผู้ป่วยโรคอื่นที่เกี่ยวข้องมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ความปวดจากการอักเสบ และความปวดที่เกี่ยวเนื่องกับระบบประสาท

        รศ.นพ.ประดิษฐ์อธิบายเพิ่มเติมถึงความปวดทั้ง 2 ประเภทที่กล่าวมาแล้วว่าความปวดจากการอักเสบมีสาเหตุมาจากอาการโรคข้ออักเสบชนิดข้อเสื่อม ถือเป็นโรคที่พบได้มากที่สุดซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการแตกของกระดูกอ่อนบริเวณข้อ มักเกิดขึ้นกับข้อที่ต้องแบกรับน้ำหนัก เช่นสะโพก เข่า และบริเวณหลังส่วนล่าง โรคนี้มักจะมีความสัมพันธ์กับความชรา แต่ปัจจัยอื่นๆก็เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้ เช่น ความอ้วน หรือกรรมพันธุ์ และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ที่มักจะพบในเพศหญิงช่วงอายุ 30-50 ปี
      ส่วนความปวดที่เกี่ยวเนื่องกับระบบประสาท ได้แก่ ความเจ็บปวดที่ระบบประสาทรอบนอก เป็นผลสืบเนื่องจากการป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคงูสวัด โดยจะมีอาการเจ็บแปลบเรื้อรังเป็นๆหายๆ และความเจ็บปวดที่ประสาทส่วนกลาง ซึ่งรวมถึงการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังโดยตรงหรือบริเวณอื่น เช่น มีอาการเจ็บปวดบริเวณปลายมือและเท้าหลายแห่ง เป็นต้น
      อาการปวดนอกเหนือจากสาเหตุที่มาจากโรคต่างๆที่ว่ามาแล้วนั้น ปัจจุบันโดยเฉพาะคนในวัยทำงานที่ต้องนั่งอยู่ในออฟฟิศทั้งวันก็มักจะพบกับอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวเพราะต้องนั่งทำงานทั้งวัน ร่างกายไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ถือเป็นการดำเนินชีวิตด้วยพฤติกรรมแบบผิดๆ จนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังอย่างไม่รู้ตัวหรือเรียกอีกอย่างว่าเป็น ออฟฟิศซินโดรม ซึ่งนับวันจะมีปริมาณผู้ป่วยด้วยโรคนี้สูงขึ้น และไม่ค่อยมีคนให้ความใส่ใจเพราะจะเป็นๆหายๆ กระทั่งเป็นมากจนร่างกายทนไม่ไหวถึงไปพบแพทย์
            อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า อาการปวดจนกลายสภาพเป็นโรคปวดเรื้อรังนั้นล้วนมาจากพฤติกรรมเสี่ยงและการดำเนินชีวิตในรูปแบบผิดๆ ซึ่งเกิดขึ้นมากในสังคมทุกวันนี้ ทว่า เมื่อมันมาเยือนหรือย่างกรายเข้ามาแล้วเราคงต้องเตรียมตั้งมือรับ
      สำหรับการเยียวยาภาวะปวดเรื้อรังนั้น รศ.นพ.ประดิษฐ์บอกว่า หากพบว่าตนเองหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการปวดไม่ว่าจะลักษณะใด ถ้านานกว่า 3 เดือนอย่าได้นิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปวดโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้ตามโรงพยาบาลใหญ่หลายแห่งในประเทศไทยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนี้แล้ว เพื่อทำการวินิจฉัยและรับการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองหรือบำบัดด้วยตนเอง เพราะยิ่งจะทำให้การรักษายากขึ้นด้วย
      ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยนั้น นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพชีวิตและจิตใจของผู้ป่วยแล้ว ยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วมีสูงถึงกว่าร้อยละ 30 แต่โดยมากมักได้รับการรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาต่ำกว่าที่ควร โดยแนวโน้มดังกล่าวได้แพร่มาถึงภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก อย่างในฮ่องกงมีผู้ป่วยด้วยโรคปวดเรื้อรังสูงถึง 560,000 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 5.3 ล้านคน ซึ่งพบว่าผู้ป่วยในภูมิภาคนี้ส่วนมากจะเลือกวิธีการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก เช่น การนวดจุด การกินยาสมุนไพร หรือซื้อยามากินเอง ซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ตรงจุดและให้ผลไม่แน่นอน
      หากมีอาการปวดเกิดขึ้นต้องเริ่มตีโจทย์ในร่างกายตัวเองให้ได้ โดยใช้พื้นฐานง่ายๆ คือ ร่างกาย จิตใจ สังคม ต้องค่อยๆพิจารณาไปทีละข้อว่าเรามีสาเหตุมาจากอะไรที่ทำให้ปวด ส่วนวิธีการรักษานอกจากพบแพทย์แล้วนั้น แนะนำให้ออกกำลังกาย เช่น การเล่นโยคะ พร้อมกับปรับปรุงพฤติกรรม คือหากมีสาเหตุมาจากการทำงานที่ต้องนั่งทั้งวันก็ต้องหมั่นขยับร่างกายบ้าง นี่ถือเป็นการรักษาแบบผสมผสาน รศ.นพ.ประดิษฐ์ฝากไว้ทิ้งท้าย


การฝึกโยคะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อช่วยลดปัญหาความปวดที่เกิดขึ้น

          แน่นอนว่าเมื่อกล่าวถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยบำบัดและบรรเทาอาการปวดสิ่งหนึ่งที่นึกถึงก็คือการออกกำลังกาย ซึ่ง โยคะ ดูเหมือนจะเป็นศาสตร์ทางเลือกที่กำลังอินเทรนด์กันมากในขณะนี้
      ชมชื่น สิทธิเวช หรือ ครูหนู ปรมาจารย์ด้านโยคะแห่งสถาบันบ้านโยคะได้อธิบายว่าวิถีของโยคะไม่ใช่การรักษาโรค แต่เป็นทางเลือกให้แก่ทุกคนได้ลองปฏิบัติเพื่อสามารถบรรเทาและป้องกันจากโรคภัยไข้เจ็บที่เราไม่อยากให้เป็นได้ ถ้าเลือกนำมาใช้ให้ถูกวิธี
      สำหรับโรคเรื้อรังอย่างเช่นอาการปวดนั้น ผู้ที่มีอาการควรไปปรึกษาแพทย์เสียก่อนว่าการออกกำลังกายสามารถช่วยได้บำบัดได้หรือไม่ หากแพทย์ระบุว่าสามารถทำได้ โยคะก็ถือเป็นทางเลือกที่น่าลองอย่างมาก
      ทั้งนี้ โยคะที่เห็นตามสื่อทั่วไปมักนำเสนอแต่ท่าทางที่ปฏิบัติตามยาก แต่สวยงามมากด้วยสรรพคุณชวนให้ลองทำตาม ขณะที่ครูหนูกลับบอกว่าโยคะคือการยืดกล้ามเนื้อ กระดูกสันหลัง แต่ต้องไม่ถึงกับทำให้ตัวเองเกร็งจนเกินไป อยู่ในท่าสบายๆ การยืดตัวกอรปกับการหายใจเข้า-ออกลึกๆ จะทำให้ปอดขยาย ซึ่งคนทำงานส่วนใหญ่มักพบกับปัญหาสุขภาพเพราะอิริยาบถขณะนั่งทำงานในออฟฟิศ ดังนั้น ควรหันมาเตือนสติตัวเองอยู่เสมอคือต้องรู้จักจัดสรีระของตัวเองให้ถูกต้อง และหมั่นผ่อนคลายบ่อยๆ
      ท่าโยคะง่ายๆที่จะแนะนำซึ่งสามารถทำกันได้ในที่ทำงานคือ ขณะนั่งอยู่บนเก้าอี้ให้ยืดตัวตรงแล้วหายใจเข้าลึกๆ จากนั้นหายใจออกด้วยการกระแทกลมหายใจแรงๆ จะเป็นเหมือนการได้ปลดปล่อย และต้องหมั่นฝึกลมหายใจโดยพยายามหายใจช้าๆ เบาๆ หายใจเข้าท้องต้องป่อง หายใจออกท้องต้องยุบ การหายใจที่ดีจะช่วยให้ร่ายการเราเกิดความสมดุลได้ ครูหนูกล่าวทิ้งไว้เป็นข้อคิด

Comment #1
ความปวดโรคข้อตอขากรร (Not Member)
Posted @2 ก.ค. 50 11:28 ip : 202...5

สาเหตุของการเกิดโรคและแนวทางการจัดการความสำหรับผ้ที่มีอาการปวดบริเวณใบหน้า ช่องปากและข้อต่อขากรรไกร

Comment #2ปวดคอ, ปวดหลัง, ปวดไหล่,ปวดสะโพก,ปวดขา
magicstone333 (Not Member)
Posted @21 ก.ย. 51 15:40 ip : 124...85

การรักษาอาการปวดจากกล้ามเนื้อมีหลายวิธี การยืดกล้ามเนื้อ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ ที่บ้าน ด้วยตนเอง  ด้วย ~hang up lifegear~ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามลิงค์นี้ครับ http://geocities.com/inversion_table/ chawalit:0818438041

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว