สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

'บุหรี่' เลิกไม่ยาก

by Little Bear @7 มิ.ย. 54 09:48 ( IP : 61...88 ) | Tags : ปกิณกะ , สาระน่ารู้
photo  , 297x157 pixel , 21,776 bytes.

แม้จะเลยวัน "งดสูบบุหรี่โลก" เมื่อ 31 พ.ค. ไปแล้ว แต่ผมก็อยากจะเขียนชี้ชวนให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงขอเขียนย้อนหลัง สาเหตุเพราะ ปีนี้การจัดกิจกรรมชี้ชวนให้งดสูบบุหรี่ค่อนข้างจะเงียบ ประจวบกับเป็นช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และสถิติที่ออกมาปรากฏว่า คนไทยสูบบุหรี่มาก และอายุผู้สูบลดลงไปและรวมถึงวัยรุ่นและสตรีก็สูบมากขึ้นด้วย

แม้จะพิสูจน์ชัดแล้วว่า บุหรี่ทำลายสุขภาพกับทำให้เสียทรัพย์ แต่คนติดบุหรี่ก็ยังสูบต่อไป โดยที่ไม่เกรงกลัวหรืออย่างไรไม่ทราบ กับที่แน่ๆ คือ การสูบบุหรี่ทำให้เสียค่าใช้จ่ายมาก เกิดปัญหาโดย "รายได้ ชักหน้า ไม่ถึงหลัง" การเปิดใจหันมาคิดเรื่องเลิกสูบบุหรี่อีกครั้ง เป็นสิ่งควรทำยิ่ง

ก่อนอื่นต้องบอกว่า คนที่สูบบุหรี่จนติดนั้นเป็นเพราะเพื่อนชวน หรือคึกคะนอง หรืออยากเท่ เหมือนเพื่อน ที่จะได้เข้าสังคม มีบทบาทเท่าเทียมกับเพื่อนในกลุ่ม ซึ่งเมื่อสูบจนติดแล้วก็เลิกยาก แล้วสูบเรื่อยมาจนกลายเป็นเลิกไม่ได้ ติดบุหรี่เรื้อรัง แล้วจากนั้นก็คิดเข้าข้างว่า ไม่จำเป็นต้องเลิก และก็ไม่เสียหายอะไรนัก ซึ่งตรงข้ามกับเหตุผลความเป็นจริงว่า จริง ๆ แล้ว การเลิกบุหรี่ เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดในยุคนี้ แต่ที่ยังไม่เลิกกันส่วนมาก เพราะเลิกยาก (โดยบางคนได้พยายามแล้ว)

เรื่องนี้ผมไม่อยากปล่อยผ่านและขอโอกาสเขียนเรื่องนี้ในวันนี้ โดยย้อนหลังวันจริงของการระดมงดสูบบุหรี่ โดยขอชี้ชวนท่านงดสูบบุหรี่ จากตัวอย่างประสบการณ์ของผม)

ส่วนตัวผมเชื่อว่า คนติดบุหรี่เพราะ 2 เหตุผลข้ออ้างคือ 1) สูบเพื่อแก้เหงา โดยเฉพาะ การคลายเครียด กับ 2) การเอาอย่างเพื่อนกับเพื่อเข้าสังคม รวมถึงการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มด้วย ที่ผมขันอาสามาเขียน เพราะผมเริ่มต้นสูบบุหรี่ขณะเรียนอยู่ในต่างประเทศ ด้วยอาการเรียนหนัก และเหงา รวมถึงการมีบรรยากาศที่เย็น อีกทั้งหาซื้อง่าย จึงเริ่มต้นสูบ แล้วจากนั้นก็สูบติดต่อกันมาต่อเนื่องนานนับรวมแล้วนานถึง 13 ปีติดต่อกัน จนเลิกสูบได้เมื่อ 32 ปีที่ผ่านมา

สถิติที่ผมสูบต่อวัน คือ วันละ 3 ซองครึ่ง และบางกรณียังมีการสูบไปป์สลับกันด้วย การสูบบุหรี่ของผมนั้น หนักมาก และต้องสูบในทุกครั้งที่มีงานยุ่งมาก บุหรี่ จึงคล้ายกับสิ่งที่เข้ามาอยู่กับเราในขณะที่ต้องมีการใช้สมองขบคิด โดยเฉพาะในขณะแต่งตำราหรือเขียนหนังสือหรือเมื่อมีการต้องถกเถียงกันในที่ประชุม เป็นต้น

ไม่ว่าจะอย่างไร ผมต้องยอมรับว่าผมสูบบุหรี่จนติด เพราะแพ้ใจของตัวเอง คือ ใจอ่อน เหงาและคิดถึงบ้าน ขณะเรียนอยู่เมืองนอก แล้วเมื่อกลับมาทำงานก็ยิ่งบานปลายมากขึ้นคือ สูบหนักติดต่อกันทั้งวันสูบจนชาที่ปากและลิ้น และมีกลิ่นนิโคตินออกมากับเหงื่อตามรูเหงื่อ

แต่ขณะนั้น อายุไม่มากด้วยวัยยี่สิบกว่าถึงสามสิบกว่า ร่างกายยังแข็งแรงจึงไม่รู้สึกอะไร คือไม่กลัวและไม่เสียดายเงินด้วย แต่เมื่ออายุมากขึ้น ผมก็เริ่มรู้สึกเริ่มเหนื่อยเมื่อต้องเดินขึ้นบันไดสูง 4-5 ชั้น แต่ก็เข้าข้างตัวยังคงสูบต่อเนื่องไปเรื่อย แล้วยังพูดจาติดตลกเข้าข้างตัวว่า ผมสูบมากไม่ใช่เพราะอยากได้โบนัสมากขึ้น (เพราะภรรยาผมทำงานอยู่โรงงานยาสูบ) และได้ขอให้ผมเลิกมาตลอดแต่ผมไม่ยอมเลิก ซึ่งลึกๆ แล้วต้องบอกว่าเลิกไม่ได้นั่นเอง

ผลเสียที่ตามมามีนับไม่ถ้วน คือ สุขภาพไม่ดีเหนื่อยง่ายและ ร่างกายสะสมพิษเอาไว้มากมาย รวมไปถึงผลกระทบที่มีไปถึงสมาชิกในครอบครัว ที่ต้องถูกกระทบ ทั้งในบ้านและ ในรถยนต์ที่ไปพร้อมกัน ปรากฏตามหลังมาว่า ลูกบางคนมีภูมิแพ้ แล้วจนมาถึงวันหนึ่งผมไม่สบายและได้คิด จึงเลิกบุหรี่ได้ ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ผมเลิกบุหรี่มาได้แล้วนานถึง 32 ปี

เหตุที่เลิกบุหรี่ได้นั้น ก็เช่นเดียวกับที่ติดบุหรี่ คือ การแพ้ใจตัวเองคือกลัวและได้คิด นั้นคือเย็นวันหนึ่งที่ได้กินข้าว ดื่มเบียร์กับสูบบุหรี่กับเพื่อนสนิทพอตกค่ำปรากฏว่าจุกหน้าอกหายใจอ่อนเบา

ขณะที่ลูกคนเล็กยังแค่ขวบเดียว เหตุที่ต้องกลัวเพราะหัวใจเต้นอ่อน กลัวเป็นโรคหัวใจ อ่อนเพลียจนลุกไม่ขึ้น จะเอามือยกขึ้นมาอุ้มลูกก็ยกไม่ไหว ในเวลานั้นเอง ทำให้ได้คิด และหลังจากพักฟื้นอยู่นาน ก็มีอาการกระวนกระวายอยากสูบ เมื่อใดที่เห็น "มือก็จะไปคว้า" ต้องห้ามใจตัวเอง ไม่นานนักก็เลิกได้

ข้อคิดที่ทำให้ผมเลิกบุหรี่คือ ผมจ้างพี่เลี้ยงผู้ช่วยพยาบาล เลี้ยงลูกคนเล็ก ปรากฏว่า เงินเดือนค่าเลี้ยงเฉลี่ยต่อวันและเมื่อรวมยอดแล้ว ปรากฏว่า ค่าจ้างคนเลี้ยงลูกอย่างมีระดับ ยังถูกกว่าเงินค่าบุหรี่ที่ผมสูบเสียอีก ส่วนเหตุผลต่อมา ก็คือ การเริ่มคิดถึงสุขภาพ เพราะสำคัญเหนือทุกสิ่ง ดังเช่นที่ผู้ใหญ่ได้ฝากคำสอนให้ผมไว้ คือ ดร.ปวย โดยท่านบอกว่า "สุขภาพต้องมาก่อน ครอบครัวมาที่สอง และงานมาที่สาม"

ซึ่งผมทำตรงกันข้าม อ้างถึงงานหนักเครียดและสู้ด้วยการสูบบุหรี่กินเหล้าเบียร์ประจำ ซึ่งเมื่อคิดถึงค่าใช้จ่ายแล้ว การเลิกบุหรี่ทำให้ผมมีเงินเหลือ ประหยัดงบไปใช้จ่ายสิ่งอื่นได้มากมาย โดยเฉพาะข้ออ้างว่า ถ้าไม่สูบบุหรี่แล้วหัวไม่แล่นคิดไม่ออกนั้น ผมยืนยันว่า ไม่จริงครับ เพราะหลังจากเลิกบุหรี่มา ในช่วงสามสิบปี หัวสมองก็ยังแล่นใช้ได้ "คิดได้-เขียนออก" ซึ่งผมเขียนตำราไว้มากถึง 27 รายการและเขียนบทความต่อเนื่องกว่ายี่สิบปี โดยไม่เกี่ยวกับบุหรี่เลย

กับที่ภูมิใจคือ การได้ออกกำลังกาย กลายเป็นคนมีเกียรติที่จะไปเข้าที่ไหนได้ ทุกที่แม้ที่มีการห้ามสูบบุหรี่ก็ตาม ส่วนที่ดีใจมากคือ ผมไได้ชี้ชวนคนรู้จักผ่านภรรยาเขาให้เลิกสูบบุหรี่ได้อีก 2 คน ซึ่งทุกครั้งที่พบ เขาจะขอบคุณเรื่องที่ผมแนะจนสามีเขาเลิกบุหรี่ได้

วิธีการเลิกบุหรี่ ตามแนวผมคือ "ก่อนอื่นขอให้ยอมรับก่อนว่า เราใจอ่อน จึงสูบบุหรี่ จนติด แล้วตั้งมั่นแน่วแน่ว่า จะเลิกสูบให้ได้ ซึ่งวิธีการไม่ยาก หากเพียงได้คิดถึง 2 อย่างคือ ทุกวันนี้ คุณภาพไชีวิตของเราและคนใกล้ตัวมีค่ายิ่ง ขณะที่สิ่งแวดล้อมเลวลง เช่นนี้แล้ว ทำไมเราไม่หันมารักและรักษาสุขภาพให้ดี โดยไม่สูบบุหรี่" คิดถึงตรงนี้แล้ว เหตุผลจะทำให้เราเลิกบุหรี่ได้ และเมื่อเริ่มเลิก ให้พยายามหาสิ่งสนใจที่ชอบทำเพื่อให้ลืม แล้วเมื่อผ่านไปเลิกได้ ท่านจะกลายเป็นคนมีเกียรติที่ทุกคนจะรักนับถือ กับมีเงินเหลือไว้ใช้จ่ายสิ่งจำเป็น เป็นรางวัลชีวิตได้ปีละชิ้น

ผมขอชี้ชวนให้ท่านคิดและเลิกสูบบุหรี่เพื่อ คนใกล้ตัว เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเท่ากับคืนคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีให้เราด้วยในตัว

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย ธงชัย สันติวงษ์

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว