สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

30 บาท กับทางออกไม่ให้โรงพยาบาลเจ๊ง

by kai @18 ก.พ. 49 22:41 ( IP : 58...246 ) | Tags : มุมมองหมอ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

เมื่อต้นเดือนมกราคม 2549 นี้  มีข่าวคราวของเรื่อง 30 บาทที่น่าสนใจ  กล่าวคือ  รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ นักวิจัยโครงการระบบประกันสุขภาพ 30 บาทสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ได้แถลงผลการศึกษาวิจัยเรื่องของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค  พบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เริ่มมาตั้งพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลนั้น พบทั้งความสำเร็จและปัญหาอุปสรรค

ประเด็นที่เป็นความสำเร็จ คือ 1.ทำให้คนไทยเกือบทุกคนมีสิทธิประกันสุขภาพ  2.ส่งผลให้ประชาชนสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนลงได้ 3.ส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้บริการในระบบมากขึ้น    แต่ในความสำเร็จก็ยังพบปัญหามากมาย เนื่องจากการจัดสรรทรัพยากรของรัฐบาล ทั้งงบประมาณ อุปกรณ์ไม่สมดุลกัน เงินงบประมาณที่โครงการ 30 บาทมีไม่เพียงพอต่อภาระที่ต้องรับผิดชอบ จากการคำนวณเงินงบประมาณประเมินความต้องการ พบว่าจะต้องใช้เงิน 2,000 บาท/คน/ปี จึงจะพอ ขณะที่ปัจจุบันได้รับจัดสรรงบอยู่ที่ 1,659 บาท/คน/ปี เท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบปัญหาในเรื่องของการจัดการระบบบัญชีในโรงพยาบาล ที่มีปัญหาด้านความถูกต้องของข้อมูล เช่น มีหนี้สินบางรายการที่ถูกซ่อนไว้ ไม่ได้แสดงออกมา ทำให้ดูเหมือนว่าโรงพยาบาลไม่ติดลบ  จากการที่โรงพยาบาลต้องรับภาระทางการเงินมาก ส่งผลต่อคุณภาพการรักษาพยาบาลที่เป็นปัญหาร้องเรียนมา  ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทาการแพทย์ที่เป็นปัญหาเรื้อรังก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้"
ในโอกาสเดียวกันนี้  ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง หัวหน้าโครงการติดตามประเมินผลการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI)  ได้เสนอทางออกของปัญหางบประมาณ 30 บาทไม่พอว่า  ถ้าจะให้พอต้องเพิ่มอีก 20,000-30,000 ล้านบาท/ปี  มีข้อเสนอทางเลือกให้กับรัฐบาล 4 ทางคือ

ทางเลือกที่ 1 คือ ย้ายสมาชิกครอบครัวของผู้มีสิทธิประกันสังคมไปอยู่กับกองทุนประกันสังคม จะช่วยลดจำนวนผู้มีสิทธิในโครงการ 30 บาทลง 6 ล้านคน และลดภาระงบประมาณลงปีละ 12,000 ล้านบาท
ทางเลือกที่ 2 คือ ให้กองทุนประกันสังคมขยายความครอบคลุมด้านสุขภาพให้ผู้ที่เกษียณจากโครงการประกันสังคมไปแล้ว

ทางเลือกที่ 3 คือ รื้อระบบการประกันอุบัติเหตุบุคคลที่ 3 ให้รัฐบาลจัดเก็บเบี้ยประกันเอง เช่น เก็บพร้อมกับการต่อทะเบียนรถและนำรายรับทั้งหมดเข้ากองทุนสุขภาพ ซึ่งจะสามารถเพื่อรายได้ 2,000-3,000 ล้านบาท/ปี

ทางเลือกที่ 4 คือ ลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของรัฐบาล ซึ่งเงิน 20,000-30,000 ล้านบาทที่ต้องการเพิ่มนั้น คิดเป็นร้อยละ 1-2 ของงบประมาณประจำปี ซึ่งปกติรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10,000 ล้านบาทอยู่แล้ว ฉะนั้น รัฐบาลน่าจะจัดงบและค่าใช้จ่ายด้านอื่นลงได้  หรือหารายได้เพิ่มขึ้นจากการขึ้นภาษี โดยเฉพาะภาษีที่คนหนียาก เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม จากเดิม 7% เป็น 8%

การแก้ปัญหาเงินไม่พอในการดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น  มีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาจากนักวิชาการมาแล้วหลายครั้ง  ทุกข้อเสนอเห็นตรงกันว่า  เงินไม่พอระบบจึงเรรวน  ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขในครั้งนี้ของ ดร.วิโรจน์  ณ ระนอง  นั้นน่าสนใจยิ่ง  แต่ก็เชื่อแน่ว่า  ครั้งนี้ก็เหมือนทุกครั้งที่มีข้อเสนอดีๆ  แต่คนใหญ่คนโตในรัฐบาลอาจรับทราบแต่ไม่รับรู้  อาจได้ฟังแต่สมองมัวคิดแต่เมกกะโปรเจก  บวกลบคูณหารเงินๆทองๆ

หากฝ่ายรัฐบาลไร้การตอบสนอง  โรงพยาบาลต่างๆอาจต้องประกาศลดคุณภาพบริการกันอย่างเปิดเผย  แจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้าว่า  เงินไม่พอ  ขออภัยในความไม่สะดวก และจำกัดยาที่ใช้รักษา  งดเยี่ยมบ้าน  ลดคุณภาพอาหารผู้ป่วย  งดบริการคลินิกนอกเวลาราชการ  ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในทุกเวร  แม้ประชาชนต้องรอนานขึ้นก็ต้องทำใจ  เพราะโรงพยาบาลถูกรัฐบาลทอดทิ้ง  คงมีแต่วิธีนี้เท่านั้นกระมังที่รัฐบาลขาลงะรีบมาแก้ปัญหาให้อย่างจริงจัง

Comment #1
มิ้ง (Not Member)
Posted @14 ส.ค. 52 09:07 ip : 58...205

ควรมีการจัดเก็บภาษีบาปให้มากขึ้นในทุกกลุ่ม เพื่อนำเงินดังกล่าวมารักษาผู้ป่วยที่ได้ีับความเจ็บป่วยจากการดื่มสุรา+สูบบุหรี่ รวมทั้งเก็บภาษีสถานบันเทิงที่จำหน่ายสุราบุหรี่เพิ่มขึ้น
มีการจัดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้มากขึ้นเนื่องจากต้องมีการรักษาในประเทศทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายและป้องกันโรคติดต่อ และ จัดทะเบียนประชากรในพื้ที่แต่ละจังหวัดให้ถูกต้องเนื่องจากประัชากรที่ตกสำรวจยังมีอีกมากครับ ควรให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการรักาาตัวเองในโรคที่ไม่รุนแรงโดยใช้ภูมิปัญญาของไทยและสมุนไพรไทยจะช่วยลดความสูญเสียด้วยครับ การกำหนดคุณภาพโรงพยาบาล พรพ.ควรเป็นผู้ประเมินเฉพาะโครงสร้างที่สำคัญและจำเป็น ส่วนในสว่นขของวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลควรให้มีอิสระในการรตั้ง และประเมินตามตัวชี้วัด ที่สำคัญโดยผู้ปฏิบัติื ผู้บริหารและผู้ป่วยได้ประโยชน์ร่วมกัน

Comment #2ทำข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างรพ.ด้วยกัน
Posted @15 ม.ค. 53 20:28 ip : 118...39

หากฝ่ายบริหารเป็นนักบริหารที่มีความสามารถและโปร่งใส  จะต้องสามารบริหารให้รพ.ไม่ขาดทุนได้  ปลูกจิตสำนึกให้องค์กรทำเพื่อส่วนรวมไม่ใช่ส่วนตน  งานโรงพยาบาลเป็นงานที่ทำแล้วได้กุศล  ช่วยเพื่อนมนุษย์ให้พ้นความทุกข์ยาก  การแสวงหาผลประโยชน์ควรแสวงหาอย่างถูกต้อง  ไม่ใช่หาโอกาสจากตำแหน่ง  ขอสรรเสริญฝ่ายบริหารของรพ.ที่เป็นนักบริหาร โปร่งใส ใจกุศซึ่งมีให้เห็นน้อยมากในประเทศไทย  และควรทำการยกย่องท่านๆนั้น

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว