สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

พุทธศาสนากับการแก้ปัญหาวิกฤตโลก

สุภาคย์ อินทองคง

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนภาคใต้ (ศรช.)

สถานภาพของพุทธศาสนาในสายสังคมโลก

ถ้าเราจะมองพุทธศาสนาตามสายตาของผู้รู้ 3 กลุ่มหลัก คือ นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่พยายามศึกษาค้นคว้าความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติทั่วไปแล้วเสนอผลออกมาเป็นองค์ความรู้ที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural sciences) นักสังคมศาสตร์ที่พยายามศึกษาค้นคว้าความจริงเกี่ยวกับสังคมแล้วเสนอองค์ความรู้ที่เรียกว่า สังคมศาสตร์ (Social sciences) นักมนุษยศาสตร์ที่พยายามศึกษาค้นคว้าความจริงเกี่ยวกับมนุษย์แล้วเสนอผลเป็นองค์ความรู้ที่เรียกว่ามนุษยศาสตร์ (Humanities) นั้น พบว่า ต่างก็มองว่าพุทธศาสนามีฐานะหรือสถานภาพเป็นศาสตร์นั้นๆ ด้วยกล่าวคือ

  1. พุทธศาสนา (พุทธธรรม) มีฐานะเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เพราะให้ความรู้ความจริงเกี่ยวกับตัวธรรมชาติ กฎธรรมชาติ หน้าที่ธรรมชาติ และผลธรรมชาติ เช่น ความจริงเกี่ยวกับธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ทั้งที่มีอยู่ที่ตัวมนุษย์และรอบๆ ตัวมนุษย์ หรือความจริงในเรื่องเหตุปัจจัยมีหลักนิยาม 3 (ไตรลักษณ์) หลักนิยาม 5 หลักอิทัปปัจจัยตา เป็นต้น

  2. พุทธศาสนา (พุทธธรรม) มีฐานะเป็นสังคมศาสตร์ เพราะให้ความรู้ความริงเกี่ยวกับสังคม (Society) กฎสังคม (Social Law) บทบาทของสังคม (Social role) และผลของสังคม (Social result ) เช่น ตัวสังคมพุทธ พุทธบริษัท ชุมชนพุทธ กฎกติกาของสังคมพุทธ บทบาทหน้าที่ของชาวพุทธที่จะต้องปฏิบัติต่อกัน และผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎกติกานั้นๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในหลัก ศีลธรรม มี ศีล 5 หรือมนุษย์ธรรม 5 ทิศ 6 เป็นต้น

  3. พุทธศาสนา (พุทธธรรม) มีฐานะเป็นมนุษย์ศาสตร์ (Humanities) เพราะให้ความรู้ความจริงเกี่ยวกับตัวมนุษย์ทั้งด้านกายภาพ และจิตภาพ (ด้านร่างกายและจิตใจ) องค์ความรู้ของชีวิตมนุษย์ภายใต้ชื่อว่า ขันธ์ 5 คือ รูปธาตุ (ร่างกาย) มีองค์ประกอบหลัก 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และนามธาตุ (จิตใจ) คือ เวทนา (รู้สึก) สัญญา (จำ) สังขาร (คิด) และวิญญาณ (รู้) และอายตนะ 12 คือ เครื่องมือหรือช่องทางเชื่อมต่อธรรมชาติภายในมนุษย์กับธรรมชาติภายนอก ซึ่งแยกเป็น 2 กลุ่มคืออายตนะภายใน 6 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ตัวมนุษย์ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ และอายตนะภายนอก 6 ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถปฏิสัมพันธ์ได้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัส และธรรมารมณ์ และที่สำคัญสูงสุดคือพุทธธรรมได้ชี้ชัดลงไปว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ และต้องพัฒนาโดยให้พยายามแก้สิ่งเลวร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับตน และกันสื่งเลวร้ายที่ยังไม่เกิดให้อยู่ห่างไกล ในขณะเดียวกันให้พยายามเก็บความดีสิ่งดีทั้งหลายที่เกิดแล้ว และก่อสิ่งดีทั้งหลายให้เกิดเพิ่มเติม (หลักสัมมัปปธาน 4) โดยการให้ฝึกฝนอบรมตนใน 3 ด้าน ผ่านระบบ 3 ระบบ คือ ให้ฝึกกายด้วยระบบคีล ให้ฝึกจิตด้วยระบบสมาธิ และในฝึกจิตวิญญาณด้วยระบบปัญญา (หลักไตรศึกษาหรือหลักอริยมรรคมรรคมีองค์ 8) เพื่อรู้สภาพของปัญหา (ทุกขุ์) เห็นเหตุปัญหา (สมุทัย) แจ้งใจในจุดหมายปลายทางชีวิต (นิโรธ) และลงมือเดินหรือปฏิบัติตามแนวทางนั้น (มรรคมีองค์ 8 หรือไตรสิกขา) เป็นต้น เพื่อหลุดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 หรือภาวสุข-ทุกข์ที่รบกวนจิต

จากมุมมองของผู้รู้ทั้ง 3 ศาสตร์หรือ 3 ส่วน ก็พอจะยืนยันสถานภาพสำคัญที่ผู้รู้เขาสรุปกันไว้คือ พุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งปัญญา (คณะ ผชป. ในพุทธทาสภิกขุ 2542:) เพราะให้ความแจ่มชัดในความเป็นองค์ร่วมของความเป็นมนุษย์ สังคม และธรรมชาติแวดล้อม ที่ต้องพึ่งพาและพึ่งพิงกันดำรงอยู่และขับเคลื่อนไปภายใต้ความเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันตลอดไป นั่นคือ คน สังคม-วัฒนธรรม และธรรมชาติแวดล้อมต่างก็อยู่ภายใต้กฎเดียวกันคือ กฎแห่งความเป็นเหตุ เป็นผลต่อกันที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาท (causation or dependent origination)

นั้นคือ ความเป็นคนก็ดี ความเป็นสังคม-วัฒนธรรมก็ดี และความเป็นธรรมชาติก็ดี ต่างก็ตกอยู่ภายใต้หลักการหรือกฎที่ว่านี้

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว