สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สปสช.อ้าแขนดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์ เริ่ม 1 เมษานี้

by wanna @15 มี.ค. 50 16:05 ( IP : 222...181 ) | Tags : ข่าวสุขภาพประจำวัน

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 15 มีนาคม 2550 14:51 น.

        สปสช.รับโอนการดูแลผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ เริ่ม 1 เมษายนนี้ ด้านรองเลขาฯ สปสช.เผยจัดงบปีนี้กว่า 3,800 ล้านบาท ดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ได้เข้าถึงยา-ตรวจเลือดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้คำปรึกษาและตรวจเลือดแบบสมัครใจ ป้องกันการดื้อยาได้รับยาต้านไวรัสสม่ำเสมอตั้งเป้าอย่างน้อย 108,000 ราย เพิ่มตรวจ CD4 มากขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี ขณะที่กรมควบคุมโรค ร่วมกับกองทุนโลก สมทบอีกกว่า 500 ล้านบาท
      วันนี้ (15 มี.ค.) นพ.สมยศ เจริญศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแถลงผลงานการบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ ร่วมกับ นพ.ปิยะ เนตรวิเชียร รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยกรมควบคุมโรคโอนการดูแลผู้ติดเชื้อทั่วประเทศให้ สปสช.เป็นดูแล โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550 เป็นต้นไป
      นพ.ปิยะ กล่าวว่า สปสช.ได้ประกาศให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี เป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 เป็นต้นมา และในปี 2550 ได้จัดการสรรงบจำนวน 3,855 ล้านบาท สำหรับการให้บริการผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์เพิ่มเติมให้นอกเหนือจากเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเดิมที่คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว โดยสปสช.เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการบริหารจัดการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์
      ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับนั้นเริ่มตั้งแต่ การให้คำปรึกษาและการตรวจเลือดแบบสมัครใจสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง มีการให้คำปรึกษาก่อนและหลังตรวจเลือด บริการตรวจเลือดในเด็กที่เกิดจากแม่ติดเชื้อ การป้องกัน การดูแลรักษาภาวะการติดเชื้อฉวยโอกาสและการรักษาด้วยยาต้านไวรัส โดยผู้ติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์ต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานก่อนปรับเป็นสูตรดื้อยา เมื่อมีข้อบ่งชี้ มีการติดตามและส่งเสริมการรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยและติดตามเพื่อการดูแลรักษาต่อเนื่อง ตรวจ CD4 อย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี การตรวจหาเชื้อดื้อยา ตรวจเพื่อเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อน รวมทั้งการส่งเสริมป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550 เป็นต้นไป และตั้งเป้าหมายผู้ที่จะได้รับการตรวจรักษารรวม 108,000 ราย ทั้งนี้จะมีการลงทะเบียนผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยทุกรายที่เข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาโดย สปสช.ได้พัฒนาระบบไอทีเพื่อรองรับเรื่องนี้แล้ว
      นพ.ปิยะ กล่าวต่อว่า การลงทะเบียนและการรับบริการนั้นสำหรับผู้ที่มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้รับบริการจากหน่วยบริการที่ระบุในบัตร สำหรับผู้รับการรักษาในโครงการ NAPHA เดิม หากต้องการรับบริการต่อใน รพ.ที่รับยาอยู่ในปัจจุบัน ให้ผู้รับบริการขอย้ายสิทธิบัตรทองมาที่ รพ.นั้น หรือติดต่อขอใบส่งตัวจากหน่วยบริการในบัตรทองส่งตัวมารับบริการที่รพ.ที่รับยาส่วนผู้ที่เคยได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสก่อนเดือนตุลาคม 2548 ให้หน่วยบริการดูแลรักษาต่อเนื่อง เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
      ด้าน นพ.สมยศ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สธ.ดำเนินงานโครงการบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์อย่างครบวงจร สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2549 ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 2,700,200,000.00 บาท จากกองทุนหลักประกันสุขภาพ เพื่อจัดบริการสุขภาพแก่ผู้ป่วยเอดส์ ที่รวมถึงการพัฒนาระบบบริการยาต้านไวรัส การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ด้วยยาต้านไวรัสและพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพให้มีศักยภาพ
      นพ.สมยศ กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2548 จนถึงปัจจุบันมีหน่วยบริการสุขภาพร่วมให้บริการทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง สามารถให้บริการผู้ป่วยเอดส์ด้วยยาต้านไวรัสจนถึงเดือนมกราคม 2550 สะสมรวม 112,915 ราย ในขณะนี้เป็นผู้ป่วยที่รับยาต่อเนื่อง 89,510 ราย
      นายแพทย์สมยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานให้บริการแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ดังกล่าวสามารถประสบความสำเร็จได้ โดยได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน คณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากทบวงมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากโครงการกองทุนโลก และงบประมาณปกติของกรมควบคุมโรค อีกกว่า 500 ล้านบาท

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว