สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ฝีมือ น.ศ.มอ.วิจัยพัฒนายาอมฆ่าเชื้อราในปาก

by kai @2 ธ.ค. 52 17:37 ( IP : 114...142 ) | Tags : ข่าวสุขภาพประจำวัน

คณะ ศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) พัฒนายาอม (lozenges) ฆ่าเชื้อราในช่องปาก เพื่อให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะที่ เหมาะสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อราในช่องปาก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เนื่องจากรูปแบบยาอมฆ่าเชื้อราทางการค้าในปัจจุบันยังนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาแพง แพทย์จึงจ่ายยาฆ่าเชื้อราชนิดเม็ดเหน็บช่องคลอดให้แทน เพราะเป็นรูปแบบยาฆ่าเชื้อราที่มีจำหน่ายอยู่มากและราคาไม่แพง ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับการสั่งจ่ายยาดังกล่าวไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาเท่า ที่ควร เพราะเป็นรูปแบบที่ไม่น่าอม และยังทำร้ายจิตใจของผู้ป่วยได้ด้วย

โดย น.ส.ชนิดา จันทรกุลนาคา น.ส.จุฑาภรณ์ อโนทัย และ น.ส.นันทพร พัฒนขจรสกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะเภสัชศาสตร์ มอ.ได้ดำเนินการศึกษาพัฒนารูปแบบยาฆ่าเชื้อราให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่ ในรูปแบบยาอม โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้โครงการ IRPUS (Industrial and Research Projects for Undergraduate Students) เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท มี ผศ.ดร.สมฤทัย จิตภักดีบดินทร์ ภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม เป็นที่ปรึกษาโครงการ และโรงยาเภสัชกรรมเคนยากุ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ร่วมโครงการ ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ Professional award สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประจำปี 2551 สำหรับ IRPUS เป็นโครงการภายใต้การควบคุมดูแลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีได้ใช้ความรู้จากการศึกษา เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัยภายใต้การให้คำปรึกษาของ คณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ

"ยาฆ่าเชื้อราส่วนใหญ่มีรสขม จึงนิยมเตรียมเป็นยาเม็ดเคลือบรับประทานหรือยาเหน็บช่องคลอด ในผู้ป่วยที่มีเชื้อราแผ่กระจายในช่องปาก เช่น ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ มักมีอาการอักเสบในช่องปากเนื่องจากเชื้อแคนดิดา (Oral candidiasis) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส อาการที่สำคัญได้แก่ การเกิดฝ้าสีขาวครีมหรือสีเหลืองที่บริเวณลิ้นและภายในช่องปาก ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้เจ็บปวดในช่องปาก รู้สึกทรมานจนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ เป็นเหตุให้ภูมิต้านทานยิ่งลดต่ำลง และสร้างความอับอายให้แก่ผู้ป่วย แพทย์จำเป็นต้องจ่ายยาฆ่าเชื้อราในรูปแบบยาออกฤทธิ์เฉพาะที่ ได้แก่ ยาอม แต่พบว่ามีการแก้ปัญหายาอมทางการค้าที่มีราคาแพง โดยแพทย์สั่งจ่ายยาเหน็บช่องคลอดซึ่งออกฤทธิ์เฉพาะที่เช่นกัน ให้ผู้ป่วยอมแทน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่ถูกต้องในการนำส่งยาที่เหมาะสม เพราะยาเหน็บยังเป็นรูปแบบที่ไม่มีการปรุงแต่งรสชาติ และการแตกตัวในช่องปากไม่ดี นอกจากนั้นยังเป็นรูปแบบที่ทำร้ายจิตใจของผู้ป่วยในการใช้ยา ทำให้ผู้ป่วยไม่พึงพอใจในรูปแบบยา และให้ความร่วมมือในการรักษาไม่เต็มที่ การรักษาจึงไม่ประสบประสิทธิผลเท่าที่ควร"

นักศึกษากลุ่มเภสัชศาสตร์ นี้ จึงได้ศึกษาพัฒนารูปแบบยาอมฆ่าเชื้อราในช่องปาก โดยมีแนวทางในการศึกษาพัฒนาคือ ศึกษาข้อมูลเพื่อการคัดเลือกยาฆ่าเชื้อราที่เหมาะสมที่ต้องการนำมาพัฒนาและ เลือกยาที่มีการศึกษาว่ามีฤทธิ์ในการต้านเชื้อราที่ดีที่สุด และศึกษาขนาดใช้ของยา โดยสามารถแบ่งอมใน 1 วัน และได้ปริมาณยาที่พอเหมาะ จากการรวบรวมข้อมูลและมีการนำเสนอในวิชาสัมมนาทางเทคโนโลยีเภสัชกรรม จึงคัดเลือกยาฟลูโคนาโซลเป็นตัวยาเพื่อการพัฒนารูปแบบยาอมต่อไป จากนั้นจึงพัฒนาวิธีการกลบรสขมของยา โดยศึกษาเปรียบเทียบวิธีการกลบยา 2 เทคนิค คือ เทคนิคที่ 1.เป็นการกลบรสยาด้วยสารกลบรสตามทฤษฎีทางเภสัชกรรมโดยทั่วไป และเทคนิคที่ 2 โดยการเคลือบตัวยาฆ่าเชื้อรา เพื่อบดบังรสของยาด้วยฟิล์มที่สามารถละลายได้ก่อนมาปรุงแต่งด้วยรสชาติที่ เหมาะสม ทั้งนี้ได้ศึกษาวิธีการผลิตยาจนได้รูปแบบที่ต้องการ และศึกษาสมบัติต่างๆ การประเมินผลของรูปแบบยาอมที่ได้ตามเภสัชตำรับที่เหมาะสม

นับเป็นอีกหนึ่งความสามารถของนักศึกษา มอ.ที่ได้ศึกษาวิจัยที่เป็นประโยชน์ในแวดวงสาธารณสุขของไทยต่อไป

ที่มา : มติชนรายวัน ปีที่ 32 ฉบับที่ 11589 วันที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว