สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ขอแสดงความเสียใจในการจากไปของอดีตนายกอบต.ขุนทอง บุญยประวิตร

by kai @26 พ.ย. 52 20:34 ( IP : 117...2 ) | Tags : ข่าวสุขภาพประจำวัน
photo  , 548x411 pixel , 115,880 bytes.

เช้าตรู่เวลา 02.00 น. ของวันที 26 พฤศจิกายนนี้ อดึตนายกอบต.ชะแล้ นายขุนทอง บุญยประวิตร ได้จากพวกเราไปอย่างไม่มีใครคาดฝัน โดยมือปืนที่ลอบซุ่มเข้าประกบตัวลั่นกระสุนใส่ในตอนห้าทุ่มของวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะที่ขี่มอเตอร์ไซด์ออกจากงานศพเดินทางกลับบ้า่น ท่ามกลางความสับสน งุึนงงของผู้ที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายสุขภาพจังหวัดสงขลาขอแสดงความเสียใจและอาลัยอย่างที่สุดให้กับท่านอดีตนายกที่กล่าวได้ว่าเป็นกำลังสำคัญของท้องถิ่น และชุมชน เป็นการสูญเสียชนิดที่ยากจะหาสิ่งใดมาทดแทนได้

ขอให้สิ่งศักดิ์สิืทธิ์ทั่วสากลโลกดลบันดาลให้ดวงวิญญาณของท่านอดีตนายกไปสํูู่ภพแดนแห่งสุขคติ พวกเราจะจดจำความดีงามและผลงานที่ท่านได้ทิ้งไว้ตลอดกาล

คำอธิบายภาพ : pic4b0e855413767

คำอธิบายภาพ : 55

นี่คือผลงานส่วนหนึ่งของอดีตนายกขุนทอง


แผนสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพและสมัชชาสุขภาพ เครื่องมือสร้างสุขภาวะแห่งตำบลชะแล้

นายเหิม เพ็ชรจำรัส อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลชะแล้ เล่าไว้ว่า มุสลิมกลุ่มหนึ่งอพยพมาอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่แถวริมคลองส่วนที่ติดกับทะเลสาบสงขลา มีหัวหน้าชื่อบังสะแล ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของชาวประมง ทุกเย็นชาวบ้าน จะนำเรือกลับมาจอดรวมกันที่ท่าเรือหน้าบ้านบังสะแลต่อมาพี่น้องไทยพุทธเข้ามาอาศัยมากขึ้น รบกวนวิถีดั้งเดิมอิสลาม พวกเขาอพยพไปอยู่พื้นที่ใกล้เคียง ส่วนไทยพุทธยังคงใช้ทางเรือและใช้ท่าเทียบเรือของบังสะแลเดิม นานวันเข้าการเรียกชื่อท่าเทียบเรือผิดเพี้ยนเป็นบ้านชะแล้ จนปัจจุบัน

ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลชะแล้ (อบต.ชะแล้ )รายงานว่า ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 17 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 5,561.875 ไร่ แบ่งเป็น 5 หมู่บ้าน หมู่ที่ 1 บ้านปากช่อง หมู่ที่ 2 บ้านสว่างอารมณ์ หมู่ที่ 3 บ้านกลาง หมู่ที่ 4 บ้านชะแล้ หมู่ที่ 5 บ้านเขาผี รวมประชากรทั้งสิ้น 2,815 คน จาก528 ครัวเรือน

ชะแล้มีธรรมชาติที่สวยงามของทะเลสาบ มีเนินเขาเล็ก ๆ และโบราณสถาน ที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่นับถือบูชาของชาวบ้านทั่วไป นอกนั้นเป็นพื้นที่ราบลุ่ม แหล่งน้ำธรรมชาติ มี ลำน้ำ ลำห้วย 3 สาย บึง หนองและอื่น ๆ 2 แห่ง คลอง 8 แห่งบ่อโยก 2 แห่งถังเก็บน้ำฝน 6 แห่งบาดาล 12 แห่ง และระบบประปาหมู่บ้าน ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญในพื้นที่คือป่าชายเลนชายฝั่งทะเลสาบสงขลา

ประชาชนในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ รองลงมาคือ ค้าขาย ประมง อุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้แก่ โรงสีขนาดเล็ก การทำน้ำตาลโตนด และมีแรงงานราว 200 คนเข้าไปทำงานรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม แบบเช้าไป – เย็นกลับ ในพื้นที่ มี ร้านค้า 33 ร้าน สถานีจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 4 แห่งโรงงานอุตสาหกรรม 3แห่ง การคมนาคม มีถนนลาดยาง 4 สาย ถนนดินลูกรัง 10 สาย การสัญจรไปมาใช้รถจักรยานยนต์ รถยนต์ และรถโดยสารประจำทาง สภาพถนนพอใช้ มีปัญหาช่วงฤดูฝน

ตำบลชะแล้มี ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสว่างอารมณ์ โรงเรียนระดับประถมศึกษา 1 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดชะแล้ เปิดสอนระดับอนุบาลและประถมศึกษาโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 1 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนชะแล้นิมิตวิทยา เปิดสอน ม.1-ม.6 มีที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน 2 แห่ง ศูนย์การเรียนชุมชนประจำตำบล 1 แห่ง ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร 1 แห่ง สถาบันและองค์กรทางศาสนา มี วัด2 แห่ง คือวัดชะแล้ หมู่ 4 และ วัดภูตบรรพต หมู่ 5 สำหรับวัดชะแล้ เป็นหนึ่งในวัดโบราณของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อายุจนถึงปัจจุบัน 551 ปี

ระบบสาธารณสุข มีสถานีอนามัยประจำตำบล 1 แห่ง

ตำบลชะแล้มี การรวมตัวเป็นกลุ่มมวลชนอันประกอบด้วย ลูกเสือชาวบ้าน จำนวน 200 คนกลุ่มสตรีอาสา 5 หมู่บ้าน จำนวน 50 คน กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข จำนวน 200 คน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลชะแล้ จำนวน 50 คน กลุ่มศิลปินกลองยาวพื้นบ้าน จำนวน 25 คน สภาวัฒนธรรมตำบลชะแล้ จำนวน 40 คน กลุ่มผู้เลี้ยงวัวพื้นเมือง จำนวน 50 คน กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร จำนวน 10 คนและ คณะกรรมการเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำตำบลชะแล้

อบต.ชะแล้ มีวิสัยทัศน์ นำตำบลชะแล้มุ่งพัฒนาเพื่อความสุขมวลรวมของคนในตำบล และมุ่งสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยี่ยมเยือน เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีแห่งศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่สร้างความมั่งคั่ง แก่ชุมชนมายาวนาน

นโยบายของนายขุนทอง บุณยประวิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชะแล้ แถลงต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลชะแล้ เมื่อ 5 กันยายน 2548 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลชะแล้ ส่วนหนึ่งเห็นว่าต้องเสริมสร้างจุดเด่นและข้อได้เปรียบของตำบลชะแล้ให้มีผลทางเศรษฐกิจของชุมชน เพื่อบรรเทาปัญหาความยากจน เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ต้องแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ประสบปัญหามายาวนาน ช่วงปลายของการดำรงตำแหน่งของนายกขุนทอง เขากล่าวว่า อบต.ใช้เวลา 3 ปีกว่าเพื่อปรับปรุงแก้ไขระบบ สาธารณูปโภค เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้สัญญา ประชาคม ทำให้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเหล่านั้นอยุ่ในระดับที่น่าพอใจ พอจะเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ตามสมควรแล้ว

“ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ที่เราได้รับรถ พยาบาลจาก อบจ.สงขลามีข้อมูลผู้ป่วยที่ใช้รถพยาบาล เฉลี่ย 24 เที่ยวต่อเดือน ข้อมูลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ของสถานีอนามัยตำบลชะแล้ จำนวนมากถึง 112 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงเมื่อเทียบกับประชากรของตำบลที่มี 2,786 คน ผมต้องรับผิดชอบแก้ไขกรณีดังกล่าว”

นับเป็นคำประกาศอันเปลี่ยนแปลงตำบลชะแล้ ไปสู่ตำบลสุขภาวะ ภายใต้เครื่องมือแผนสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพและสมัชชาสุขภาพ อย่างเป็นรูปธรรมในเวลาต่อมา

แผนสุขภาพตำบล

พื้นที่เป้าหมายขับเคลื่อนแผนสุขภาพตำบล จังหวัดสงขลาใน ปี 2550 มี 14 ตำบล ตำบลชะแล้ เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายดังกล่าว

การดำเนินงานสร้างสุขภาวะด้วยแผนสุขภาพตำบลของเครือข่ายสร้างสุขภาพจังหวัดสงขลา ปีพ.ศ.2550-2553 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านการดำเนินงานของเครือข่ายสร้างสุขภาพจังหวัดสงขลา นำแนวทางการขับเคลื่อนแผนสุขภาพจังหวัดย่อส่วนลงมาทำงานระดับตำบล

เป็นเป้าหมายบูรณาการสร้างสุขภาวะ ตามแนวคิดสุขภาพยุคใหม่ โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ให้แผนเป็นเครื่องมือฟื้นพลังของชุมชนหลังจากที่ถูกปล่อยให้หลับใหลมายาวนาน อาศัยความร่วมมือร่วมแรงของคนในชุมชนและภาคีพัฒนาเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างถูกจังหวะและสอดประสาน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะสงขลา ผู้ประสานงานเครือข่ายสุขภาพสงขลา เล่าว่าพื้นฐานเกี่ยวกับแผนสุขภาพตำบลมาจากแผนสุขภาพจังหวัดที่แยกเป็นรายประเด็น ประกอบด้วยประเด็นหลักประกันสุขภาพ ,เศรษฐกิจพอเพียง , เด็ก, ผู้สูงอายุ,ผู้พิการ ,แรงงาน, ผู้บริโภค, เกษตรและอาหาร, สิ่งแวดล้อม, อุบัติเหตุ, วัฒนธรรม ,สื่อ และฐานข้อมูล

หลังทำประเด็นออกมาแล้วมองเห็นปัญหาจากพื้นที่ เริ่มมีความเห็นร่วมกันว่า การมีตำบลนำร่องอำเภอละหนึ่งตำบลนั้นจะเป็นหัวใจของความสำเร็จ

“การคิดแผนสุขภาพตำบลนั้น ต้องมีสักตำบลหนึ่งที่นำเอารูปแบบแผนสุขภาพจังหวัดที่มีความร่วมมือหลายภาคส่วน ทั้งทางราชการ อบต. ราชการท้องถิ่น นักวิชาการ ประชาสังคม เอาทั้ง 4 ภาคส่วนของแผนสุขภาพระดับจังหวัดนี้ไปลงในระดับตำบล โดยเลือกอำเภอละหนึ่งตำบลเป็นต้นแบบ มุ่งสร้างจัดกระบวนการทำงานให้เป็นระบบ”

แผนสุขภาพเน้นความร่วมมือของชุมชน และหลายภาคส่วน มีหัวใจคือ อบต. ต้องมีส่วนร่วม นักวิชาการ ราชการทุกคนโดยเฉพาะสถานีอนามัย โรงเรียนในพื้นที่ ส่วนนักวิชาการภายนอกที่จะเข้าไปเสริม เป็นนักวิชาการมาจากแผนสุขภาพรายประเด็น เช่น ถ้าตำบลจะทำเรื่องอุบัติเหตุก็ต้องเป็นนักวิชาการที่อยู่ในประเด็นอุบัติเหตุไปช่วยทั้งขบวน แผนสุขภาพตำบล มีจุดหมายให้คนสงขลามีสุขภาวะที่ดีทั้งมิติทางกาย จิต สังคม และปัญญา มีเป้าหมายเกิดความร่วมมือของภาคีต่างๆอันนำไปสู่การปรับระบบสุขภาพของตำบลในจังหวัดสงขลาและกระตุ้นหนุนเสริมให้เกิดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่

การนำเอาแนวทางยึดพื้นที่เป็นตัวตั้งทำให้สามารถออกแบบกระบวนการทำงานได้อย่างมีอิสระ และสอดคล้องกับความต้องการได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนได้ถึงกระบวนการทำงานที่ออกแบบร่วมกันระหว่างคณะทำงานของจังหวัดกับตำบล ก็เป็นเงื่อนไขเปิดช่วยลดช่องว่างและข้อจำกัดการทำงานได้มาก โดยลำดับแรกสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีก็คือ ข้อมูลพื้นฐานช่วยประกอบในการตัดสินใจ

การดำเนินงานใน 2 ลักษณะ ได้แก่

  1. การเปิดเวทีประชาคมระดับตำบลระดมความคิดเห็น โดยดึงเอาแกนนำหรือตัวแทนความคิดของชุมชนทุกหมู่บ้าน รวมถึงหน่วยงานองค์กรในชุมชน ร่วมกันนำเสนอข้อมูลประกอบการทำแผน ในด้านปัญหาสุขภาพของตำบล ตลอดจนสิ่งดีๆที่เป็นทุนในพื้นที่สามารถนำมาต่อยอดหรือประยุกต์ฟื้นพลังของชุมชนขึ้นมาใหม่ เป็นกิจกรรมสร้างสุขภาพ และแนวทางแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

  2. จัดเก็บข้อมูลรายครัวเรือนและชุมชน บางตำบลเก็บข้อมูลจากครัวเรือน บางตำบลมีการแบ่งกลุ่มอายุ(เด็ก/วัยรุ่น/วัยแรงงาน/ผู้สูงอายุ) แต่ละตำบลจะมีการออกแบบสอบถามตามสภาพข้อเท็จจริงและบริบทพื้นที่ของตน เมื่อสำรวจข้อมูลแล้ว จะมีการสังเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม นำมาเป็นฐานข้อมูลในการทำแผน การทำแบบสอบถามมีข้อดีก็คือ สามารถกระจายการมีส่วนร่วมได้ทั่วถึงในแง่การได้มาซึ่งข้อมูลก็มีความหนักแน่นน่าเชื่อถือ แต่ก็มีข้อด้อยตรงที่ขั้นตอนการเก็บ การตีความคำถามและตอบคำถามจำเป็นที่จะต้องเข้าใจให้ตรงกัน(บางแห่งจำเป็นที่จะต้องอบรมคนเก็บข้อมูล บางแห่งใช้อสม.ในการจัดเก็บเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและทำให้อสม.รู้จักปัญหาของชุมชนได้ดีมากขึ้น) ขณะเดียวกันก็มีปัญหาในแง่ที่ว่าบางคำถามไม่สามารถนำมาใช้การวิเคราะห์ทางออกเนื่องจากคำตอบจะได้ในเชิงปริมาณ ขาดการพรรณนาหรือแสดงความเห็นประกอบ

ในช่วงปีที่ 2 ได้มีความร่วมมือกับสมาคมอสม.สงขลาในการพัฒนาแบบสอบถามกลางเพื่อให้อสม.ใช้ประกอบในการประเมินผลด้านสุขภาพของจังหวัด การทำแบบสอบถามควรพิจารณาประกอบกับข้อมูลของสถานีอนามัย โรงพยาบาล สำรวจเพิ่มในประเด็นสุขภาพที่ยังไม่มีการจัดเก็บ และหากให้มีความต่อเนื่อง ควรมีการจัดเก็บปีละ 1 ครั้ง จะเป็นการติดตามประเมินผลด้านสุขภาพของชุมชนไปในตัว

จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากการมีส่วนร่วมดังกล่าวนำมาสู่ขั้นตอนการยกร่างแผนสุขภาพ โดยคณะทำงานแผนสุขภาพตำบลเป็นผู้รับผิดชอบ การทำงานเริ่มด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ ผู้รับผิดชอบ แหล่งทุน โดยบูรณาการกับแนวทางของ อบต. อสม. แผนชีวิตชุมชน หรือภาคีพัฒนาในพื้นที่ การทำวิสัยทัศน์บางพื้นที่ได้ดำเนินการไปพร้อมกับการค้นหาปัญหา ศักยภาพ และความต้องการ เพราะทั้งหมดเป็นกระบวนการที่สอดรับต่อเนื่อง

การสำรวจปัญหาและต้นทุนเพื่อให้ทราบสภาพพื้นฐานในอดีตและปัจจุบัน อันจะนำมาสู่การกำหนดอนาคตหรือสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน ในการทำวิสัยทัศน์จะดำเนินการโดยคณะทำงานของแผนตำบลที่แต่งตั้งขึ้น โดยให้ผู้เข้าร่วมเขียนความฝันถึงอนาคตที่อยากได้ในช่วงของการทำแผน กำหนดเป้าหมายไว้ที่ 3-5 ปีข้างหน้า โดยคิดในสิ่งที่เป็นรูปธรรมสามารถดำเนินการได้มากกว่าคำขวัญสวยๆ แล้วนำความฝันของแต่ละคนมาเชื่อมโยงสรุปเป็นวิสัยทัศน์ร่วมของแผนสุขภาพ ขั้นตอนนี้ควรเทียบเคียงกับวิสัยทัศน์ของตำบลหรือของหน่วยงานองค์กรต่างๆที่เป็นแกนหลักในพื้นที่ด้วย หลังกำหนดวิสัยทัศน์แล้วจะนำมาสู่การกำหนดพันธกิจและยุทธศาสตร์โดยประมวลคำหลักๆที่ได้จากแบบสอบถามและวิสัยทัศน์ออกมาเป็นแผนการดำเนินงานในแต่ละด้าน พร้อมทั้งนัดหมายและค้นหาผู้รับผิดชอบหลักในแต่ละยุทธศาสตร์ เริ่มต้นขั้นตอนของการยกร่างแผนสุขภาพ ในขั้นตอนของการยกร่าง ดำเนินการใน 2 ลักษณะ

  1. วิเคราะห์พื้นที่ด้วยเทคนิค SWOT Analysis ค้นหาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส ข้อจำกัดและข้อเสนอในการพัฒนา เป็นการวิเคราะห์ไปตามรายยุทธศาสตร์ สิ่งที่ได้ในขั้นตอนนี้สำคัญมากเพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ชุมชนอย่างลึกซึ้งและรอบด้านมากขึ้น การวิเคราะห์นั้นอาศัยพื้นฐานจากข้อมูลที่ได้จากการขั้นตอนแรก นำมาสู่การวิเคราะห์ที่ต้องลงลึกและร่วมกันชี้ให้เห็นว่าปัญหาหลักของชุมชนคืออะไร แล้วอะไรเป็นรากฐานของปัญหา และทุนของพื้นที่ ทุนของชุมชนมีอะไรบ้าง เราสามารถเดินหน้าต่อยอดจากสิ่งดีๆนั้นอย่างไร รวมไปถึงการเรียนรู้ทุนนอกพื้นที่ รวมถึงโอกาสที่เกิดจากปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบกับพื้นที่

  2. ยกร่างรายละเอียดแผนงาน/กิจกรรม/โครงการ ซึ่งจะประกอบด้วย ชื่อโครงการ วิธีการ กลุ่มเป้าหมาย ระยะเวลาดำเนินการ งบประมาณ แหล่งทุน ผู้รับผิดชอบ เพื่อเป็นกรอบในการทำงาน โดยพยายามคัดเลือกโครงการที่มีความเป็นไปได้ในทางปฎิบัติให้มากที่สุด

ในขั้นตอนนี้หากว่าคณะทำงานของตำบลมีองค์ประกอบที่ครอบคลุมและมีความต่อเนื่องในการร่วมทำแผน จะสามารถประสานมุมมอง โอกาสในการพัฒนาและต่อยอดกิจกรรมไปสู่การปฎิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

บางพื้นที่ได้เสริมการไปดูงานเพื่อทำให้ความรู้ในการกำหนดกิจกรรมมีความชัดเจนมากขึ้น

ผลสัมฤทธิ์ของการทำแผนสุขภาพจะอยู่ที่ตัวโครงการ โดยสรุปแล้วโครงการภายใต้แผนสุขภาพตำบลได้มาใน 3 ลักษณะได้แก่

  1. โครงการที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้เองโดยทุนของชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเป็นโครงการประเภทสร้างวาระสุขภาพของชุมชน การสร้างกลไกคณะทำงานที่กลับไปฟื้นพลังของชุมชนให้หันกลับมาทำงานร่วมกัน การสร้างกองทุนระดับตำบล เป็นต้น
  2. โครงการที่ภาคีพัฒนาในพื้นที่สามารถให้การสนับสนุน เช่น อบต. หน่วยงานองค์กรราชการในตำบล และ
  3. เป็นโครงการที่ต้องพึ่งพาแหล่งทุนภายนอก

ขั้นตอนดังกล่าวในช่วงปีที่ 2 ได้ประยุกต์แนวทางของแผนที่ยุทธศาสตร์ เข้ามาเสริมในการทำแผนเพื่อให้สอดรับกับแนวทางของกองทุนสุขภาพตำบล ได้มีการกำหนดผลลัพธ์หรือผังจุดหมายปลายทางก่อนที่จะมาวิเคราะห์จัดทำ SWOT Analysis การกำหนดจุดหมายปลายทางจะทำให้สามารถประสานงานหน่วยงาน ภาคี หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละจุดหมายปลายทางมาร่วมกันระดมปัญหาและกำหนดแนวทางแก้ปัญหา และนำมาสู่ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

หลังทำแผนสุขภาพตำบลมาถึงหัวใจของการทำงาน ทำอย่างไรไม่ให้แผน “นิ่ง” อยู่กับที่ ไม่สามารถนำมาสู่การปฎิบัติ นี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับการทำงานเป็นอย่างยิ่ง การผลักดันแผนไปสู่การปฏิบัติ หลังจากดำเนินการทำแผนแล้วเสร็จ คณะทำงานกลางจะทำงานร่วมกับคณะทำงานระดับตำบล กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนแผนงานหรือโครงการตามแผนสุขภาพ ซึ่งแต่ละตำบลจะมีการทำงานที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับต้นทุนเดิมในการทำงานและการเรียนรู้ระหว่างทาง

หากกระบวนการทำแผนมีความต่อเนื่อง แกนนำชุมชนเข้าใจและเห็นคุณค่าในการทำแผนร่วมกัน พลังขับในการผลักดันแผนจะมีมาก ขณะเดียวกัน ส่วนกลางที่เข้าไปทำงานร่วมกับพื้นที่จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการทำงานเพื่อช่วยกระตุ้นและเปลี่ยนแปลงทัศนะการทำงานเดิม ที่บ่อยครั้งเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมนั้นๆทุกอย่างก็จะหวนคืนสู่สภาพเดิม คณะทำงานกลางยังเพิ่มเครื่องมือเข้ามาในขั้นตอนนี้ก็คือการเสริมศักยภาพ สรุปบทเรียนและประเมินผล ทำงานในลักษณะเครือข่ายแผนสุขภาพตำบล ทั้ง 14 แห่ง จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยนำจุดเด่นของแต่ละพื้นที่มาขยายผลให้เครือข่าย มีการสัญจรพื้นที่ไปพบปะกันอย่างสม่ำเสมอ เน้นการสร้างแรงจูงใจซึ่งกันและกัน ให้คุณค่าในการทำงานร่วมกัน และพัฒนาบุคลากรให้มีการเรียนรู้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการจัดการความรู้ ถอดบทเรียน สังเคราะห์ความรู้ และปรับปรุงแผนได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากการลงไปเยี่ยมเยือนและสร้างความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังใช้กลไกสื่อสารสาธารณะลงไปสนับสนุนกระบวนการ กิจกรรมเด่นๆของแต่ละพื้นที่จะถูกนำเสนอผ่านสื่อของเครือข่าย และกระตุ้นให้เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้การดูงาน จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้คณะทำงานแผนสุขภาพตำบลเห็นคุณค่าของแผนที่ได้ดำเนินการมาด้วยกัน เช่น ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ซึ่งดำเนินการได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ดังจะกล่าวต่อไป

ขั้นตอนสุดท้ายของการทำงาน เมื่อสิ้นสุดการทำแผนในแต่ละปีจะมีการรายงานผลเพื่อการปรับปรุง โดยอาจมีการนำเสนอผลการทำงานให้ชุมชน สภาองค์กรชุมชน หรือเวทีสมัชชาสุขภาพระดับตำบล ร่วมเสนอแนวทางพัฒนาเชิงนโยบายต่อสาธารณะหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง และปรับปรุงแผนเพื่อนำไปสู่การปฎิบัติในปีต่อไป

บางตำบลสามารถผลักดันแผนสุขภาพตำบลเข้าสู่ข้อบัญญัติขององค์การบริหารส่วนตำบล โดยเฉพาะตำบลที่มีแกนนำหลักมีความชัดเจน อย่าง ตำบลชะแล้ได้พัฒนากลไกคณะทำงานขึ้นมาในรูปของคณะกรรมมาธิการวิสามัญในการขับเคลื่อน

ตำบลชะแล้มีประชากร 2,786 คน ระหว่างปี 2549-51 ข้อมูลผู้ป่วย จากสถานีอนามัย ตำบลชะแล้ พบว่า มีคนเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง 116 คน และจากข้อมูลการใช้รถพยาบาลประจำตำบลชะแล้เพื่อส่งผู้ป่วยสู่โรงพยาบาลสิงหนครและโรงพยาบาลสงขลา พบว่ามี 24 เที่ยวต่อเดือน

“ปัญหาสุขภาวะรุนแรงมากขึ้นถ้าเรามองแบบธรรมดาจะมองไม่เห็นคนไม่สบายส่งเข้าโรงพยาบาล ถ้ารักษาไม่ได้ ตายก็จบกัน แต่ผลพวงคนไม่สบายหนึ่งคนเป็นเรื่องใหญ่สำหรับครอบครัว คนไปอยู่โรงพยาบาลสักคนแม้ว่ารักษาฟรีแต่ต้องเฝ้าดูแลกัน ต้องลางาน ไหนต้องจ่ายค่ารถไปกลับ ค่ากิน คนฐานะลำบากยิ่งมีปัญหา เงินที่ได้มาใช้จ่ายกับการนี้ ต้องไป กู้เงิน จำนำรถ ขายของ” นายกขุนทางเล่า และว่าสิ่งที่น่าประหลาดใจอย่างหนึ่งคือพบว่าคนเป็นโรคภูมิแพ้และตายกับมะเร็งจำนวนมาก ดัชนีอันชี้ว่าเกิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการบริโภค

“สิ่งแวดล้อมที่นี่ผมคิดว่าไม่มีปัญหา เพราะยังเป็นชนบท จึงน่าจะมาจากเรื่องการบริโภค”

ด้วยสภาพปัญหาข้างต้น และเมื่อนายกขุนทอง พบกับ นายชาคริต โภชะเรือง จาก ผู้ประสานงานเครือข่ายสุขภาพจังหวัดสงขลาจากสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สวรส.ภาคใต้ มอ.) เมื่อปี 2550 การสนทนาและแสดงเจตจำนงตรงกับวัตถุประสงค์ของ สวรส. ที่ชักชวนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)อันสนใจจัดทำแผนสุขภาพตำบล จึงเกิดกระบวนการต่างๆตามมา

  1. แผนสุขภาพตำบลชะแล้ พ.ศ.2550
  • จัดทำแผนสุขภาพ ตำบลชะแล้ พ.ศ.2550 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) -นำแผนสุขภาพตำบลชะแล้ พ.ศ.2550 ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนา ของอบต.ชะแล้ พ.ศ.2550-52 (แผน 3 ปี) ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น -นำโครงการของแผนสุขภาพตำบลชะแล้ พ.ศ.2550 ไปปฏิบัติการจริงโดยบรรจุในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ. 2551 เช่น โครงการครัวเรือนถูกสุขลักษณะตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โครงการจัดการสภาพแวดล้อมภายในครัวเรือนเพื่อสุขภาพ โครงการพัฒนาฟื้นฟูกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงตำบลชะแล้ โครงการป้องกันนักเรียนมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร โครงการจัดการมรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างสุขภาวะ โครงการบ้านน่ามอง โครงการปลูกทุกอย่างที่กินกินทุกอย่างที่ปลูก โครงการเมนูสุขภาพ โครงการจัดทำแผนที่ความดีคนดี โครงการเหล่านี้ อบต.รับงบสนับสนุนจากส่วนต่างๆ เช่น สสส. กองทุนสัจจะวันละบาท ตำบล ชะแล้ สภาวัฒนธรรมตำบลชะแล้ สภาวัฒนธรรมอำเภอสิงหนคร เป็นต้น

    แผนสุขภาพตำบลชะแล้ พ.ศ. 2550 มีหลายกิจกรรมที่ดำเนินการไปตามแผนอย่างน่าพอใจ เช่น โครงการครัวเรือนถูกสุขลักษณะตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งกิจกรรมการอบรมการผลิต น้ำยาเอนกประสงค์ จากน้ำหมักชีวภาพ โดยอาจารย์ภาณุ พิทักษ์เผ่า จากศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง ที่นำองค์ความรู้สำคัญนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ลดสารเคมีภายในครัวเรือนของชาวชะแล้ และ น้ำยาเอนกประสงค์ได้เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพสำคัญของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลชะแล้ และ กลุ่มเยาวชนวัยใสใส่ใจสิ่งแวดล้อมตำบลชะแล้ในต่อมา

  1. สร้างกลไกเพื่อขับเคลื่อนแผนสุขภาพตำบลชะแล้

- สภาองค์การบริหารส่วนตำบลชะแล้ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อดำเนินการตามแผนสุขภาพตำบลชะแล้จำนวน 1 ชุด - คณะกรรมการกอทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ตำบลชะแล้ - ภาคเครือข่ายพื้นที่ เช่น สถานีอนามัยตำบลชะแล้ สถานศึกษา คือโรงเรียนชะแล้นิมิตวิทยา และโรงเรียนวัดชะแล้ สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 38 สงขลา สภาวัฒนธรรมตำบลชะแล้ กองทุนสัจจะวันละ 1 บาท กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลชะแล้ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สำนักธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ - ภาคีเครือข่ายนอกพื้นที่ เช่น สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสงขลา ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษา ตามอัธยาศัย อำเภอสิงหนคร

  1. งบประมาณ เพื่อดำเนินการตามแผนสุขภาพตำบลชะแล้ พ.ศ.2550

- อบต.ชะแล้ ตั้งบเพื่อดำเนินการสร้างสุขภาวะ 20% ของรายได้ประจำปีทั้งหมด - กองทุนระบบหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ตำบลชะแล้ โดยรัฐสนับสนุน 37.50 บาท/คน และอบต.ชะแล้ สมทบเพิ่ม ปี พ.ศ.2551 จำนวน 20,000 บาท และในปี พ.ศ. 2552 สมทบเพิ่ม จำนวน 350,000 บาท - ภาคเครือข่ายสร้างสุขภาพ เช่น สสส. สวรส.ภาคใต้ มอ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.)

นายขุนทองเล่าว่า ระหว่างกระบวนการทำแผน เกิดการมีส่วนร่วมมากจากเวที 11 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เชิญผู้นำตำบลมาทั้งหมด ผู้นำชุมชน กลุ่มอาชีพ กลุ่มภูมิปัญญา และกลุ่มนักเรียน

“พอได้แผนจะตั้งนิ่งๆก็ไม่ได้เรื่อง หันมาดูกระบวนการ อบต. ที่มีแผน งบประมาณ ของ อบต. ที่จะนำงบไปใช้ได้ต้องนำเข้าแผน อบต. จึงใช้กระบวนการสภาฯ อบต. บรรจุแผนสุขภาพ เข้า แผน 3 ปีของ อบต. ทุกโครงการ กิจกรรม ของ แผนสุขภาพ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของ แผน 3 ปี อบต. เราคิดต่ออีกว่า ในระเบียบ อบต. ต้องมีคณะกรรมการ ขับเคลื่อนงานจึงขอให้ สภา อบต.ได้แต่งตั้ง กรรมาธิการ เพื่อดำเนินการแผนสุขภาพ ตำบลชะแล้ ฉบับที่ 1 เป็น กรรมการวิสามัญหมายถึงว่า มีคนนอกมาเป็นกรรมการด้วย ชาวบ้าน ชุมชน ครู เข้ามาด้วย”

ผลปรากฏเด่นชัดจาการจัดทำแผนสุขภาพคือ คือ ทำให้ชาวชุมชนชะแล้ มีความรู้ความเข้าใจ และจิตสำนึก ที่จะดูแลสุขภาพของตนเองครอบครัว ยังเป็นฐานนำไปสู่การได้เครื่องมือตัวใหม่ทางสุขภาพของชุมชนคือธรรมนูญสุขภาพ

ธรรมนูญสุขภาพ

“พอได้แผนสุขภาพมาเป็นจังหวะเดียวกับกำลังมีการร่างธรรมนูญว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ ผมพบอาจารย์พิชัย (พิชัย ศรีใส คณะกรรมการบริหารสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ และ ประธานสมัชชาสุขภาพสงขลา ) คุณชาคริต (โภชะเรือง) กับอีกหลายคนบอกว่า เราน่าจะทำธรรมนูญสุขภาพแห่งแรกของประเทศไทยระดับพื้นที่ ผมมาคิดหนักจะทำอย่างไร ขั้นตอนเป็นอย่างไร มึนงงสงสัย”

นายกอบต.ชะแล้ อดจะคิดย้อนกลับไป ขณะนั้นเขากังวลว่าตนเองไม่มีประสบการณ์ในการร่างธรรมนูญแม้แต่น้อย ถึงแม้ว่าจะมีความเข้าใจเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพอยู่บ้าง แต่ก็สงสัยว่าธรรมนูญนั่นจะช่วยให้สุขภาวะของพี่น้องชาวชะแล้ดีขึ้นได้อย่างไร แต่หลายคนให้แนวทาง และพร้อมมาเข้าร่วม โดยแนวทางที่ว่าหมายถึงให้ทำตามแบบของตัวเอง ทำให้คลายความกังวลลงไปมาก

“แม้แต่ตอนยกร่างซึ่งกำลังคิดว่า อาจต้องหานักวิชาการมาช่วย แต่การปรึกษา กับคุณชาคริต (โภชะเรือง) มีข้อแนะนำที่น่าสนใจว่า นี่คือธรรมนูญสุขภาพของชะแล้ ไม่ผิดไม่ถูก เพราะเป็นครั้งแรก หากเชิญนักวิชาการเข้ามาร่วมน่าจะออกไปเป็นแบบสากลมากกว่า จะไม่เป็นของชะแล้”

“...ธรรมนูญสุขภาพเป็นของชาวชะแล้ จะเขียนร่างอย่างไรก็ทำได้ เพราะตำบลชะแล้มีเพียงแห่งเดียวและเป็นพื้นที่แรกที่ดำเนินการ” เป็นคำแนะนำจากชาคริต โภชะเรือง สวรส.ภาคใต้ ที่นายกขุนทองยังจดจำ

กระบวนการ ร่างธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ จึงแตกต่างจากปรากฏการณ์ทั่วไป ตั้งแต่การจัดตั้งสำนักงานธรรมนูญขึ้นก่อนจะมีธรรมนูญ ขณะหลักสากลต้องมีธรรมนูญก่อนแล้วมีสำนักงาน

สำนักธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ เป็นสำนักงานขององค์กรชุมชน มีหน้าที่จัดเก็บ เตรียมข้อมูลต่างๆ เพื่อส่งต่อแก่คณะทำงานในแต่ละโครงการที่เกี่ยวข้อง ติดต่อ /ประสานงานกับหน่วยงาน องค์กร กลุ่มชุมชน ในและนอกพื้นที่อื่นเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการโครงการที่เกี่ยวข้องภายในตำบลชะแล้ ช่วยเหลือด้านเอกสาร ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในทุกกิจกรรม ของชุมชนและเผยแพร่ข้อมูล ที่เป็นประโยชน์สู่สังคมสาธารณะ ซึ่งในภายหลังได้เป็นที่รองรับเจตนารมณ์ตามธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ พ.ศ. 2552 และเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการเพื่อดำเนินการตามแผนสุขภาพ ตำบลชะแล้ พ.ศ.2552 รวมไปถึงการขับเคลื่อนระบบสุขภาพร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอระโนด เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวในการเชื่อมประสานตามภารกิจด้านการสร้าวเสริมสุขภาพ และสร้างสุขภาวะชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักที่ว่า ชาวชะแล้สุขภาพดีถ้วนหน้าปี 2555

“สำนักธรรมนูญสุขภาพเกิดจากเราต้องการคนขับเคลื่อนทางสุขภาพอย่างต่อเนื่องไม่ใช่ทำโครงการหนึ่งแล้วเลิกไป เมื่อเราพึ่ง อบต.ไม่ได้ จึงคิดว่ารวมมาตั้ง เป็นคนสักกลุ่มหนึ่งในการสร้างสุขภาวะชุมชนแล้วค่อยหางบ อบต.มาขับเคลื่อนดีกว่า”

เริ่มจากรวมคนที่มีจิตอาสาสิบกว่าคน มาพูดคุยอย่างต่อเนื่อง จนใช้ชื่อว่าสำนักธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ เป็น องค์กรหนึ่งในตำบลชะแล้ ให้ อบต.สนับสนุน งบประมาณ 90,000 กว่าบาท ในการปรับปรุงสำนักงาน จ้างคน ดำเนินงาน

การทำงาน จัดให้มีคณะอนุกรรมการในแต่ละฝ่ายดำเนินการ ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2552 ใช้งบประมาณ 326,700 บาท รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลชะแล้ องค์การบริหารส่วนตำบลชะแล้ สภาวัฒนธรรมตำบลชะแล้ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลชะแล้ กองทุนสัจจะวันละบาท ตำบลชะแล้ สำนักงานธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ มีการประสานความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย โดย สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้รับการสนับสนุนกระบวนการและวิชาการจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสงขลา

คณะทำงานร่างธรรมนูญชุดใหญ่ ยกมาจากคณะทำงานสำนักธรรมนูญสุขภาพนั่นเอง ก่อนแยกเป็นอนุกรรมการ 4 ฝ่ายคือ

  • ฝ่ายรับฟังความเห็นประชาชน
  • ฝ่ายยกร่าง
  • ฝ่ายสื่อประชาสัมพันธ์
  • ฝ่ายติดตามประเมินผล

หลักในการเลือกกรรมการฝ่ายต่างๆ นำมาจากแนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของ ศ.นพ.ประเวศ วสี ราษฎรอาวุโส ที่มองว่าการขับเคลื่อนทางสังคมจะต้องประกอบไปด้วย ภาควิชาการ ภาครัฐ/การเมือง และภาคประชาชน กรณีชะแล้ได้ครบองค์ประกอบดังกล่าว

การจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ มีขั้นตอนดำเนินการ ( 1)ยกร่างธรรมนูญ (2)รับฟังความเห็นจากประชาชน (3)จัดทำสื่อ ประชาสัมพันธ์ (4) ติดตามและประเมินผล

การแยกกันทำงานของอนุกรรมการ 4 ฝ่ายทั้งภาระหน้าที่ และงบประมาณ กลับได้บทเรียนมาอีกบทหนึ่ง

“พอเราเรียกกรรมการฝ่ายยกร่างมาประชุม ปรากฏว่าฝ่ายอื่นก็มาฟังเป็นอย่างนี่ทุกวง เพราะคณะกรรมการแต่ละคนไม่มีประสบการณ์ จึงอยากเรียนรู้เรื่องอื่นด้วย ข้อเสียคืองบตอบแทนคนเข้ามากเรายอมจ่ายแลกกับข้อดีคือเขาสนใจกันใส่ใจต่อสิ่งที่กำลังทำ รู้เรื่องมากขึ้นไม่เฉพาะเรื่องตัวเอง” นายกขุนทองเล่าประสบการณ์บริหารตามสถานการณ์อีกมุมหนึ่งอันเกิดประโยชน์มากกว่า

กระบวนการร่างธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ จัดรับฟังความเห็นตามหมู่บ้าน 5 หมู่ จำนวน 5 ครั้ง รับฟังเฉพาะกลุ่มเยาวชน 1 ครั้ง รับฟังจากลุ่มอาชีพ ต่างๆ 1 ครั้ง รับฟังจากผู้ทรงคุณวุฒิ 1ครั้ง ผลที่ได้รวบรวมมาให้คณะกรรมการยกร่าง ซึ่งกรรมการฝ่ายยกร่างเห็นว่าไม่เพียงพอ จึงตีกลับมา

ผลการรับฟังความเห็นไม่สมบูรณ์พอ แต่โชคดีมีการดำเนินการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะของครอบครัวและประชาชนตำบลชะแล้ โดย ศูนย์พัฒนาครอบครัวตำบลชะแล้ ร่วมกับ อสม.ตำบลชะแล้ และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสงขลา รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ ตำบลชะแล้

แบบสำรวจนี้ร่วมกันออกแบบโดย สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สวรส.ภาคใต้ มอ.) กับนักวิชาการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ซึ่งข้อมูลน่าสนใจที่ได้และนำมาใช้ร่างธรรมนูญสุขภาพ โดยสำรวจจาก 61.94 % จากครัวเรือนทั้งหมด 580 ครัวเรือน คำถาม 40 ข้อ ได้ข้อมูลน่าสนใจเช่น

  • สถานการณ์ผู้ป่วยในครัวเรือนโรคหวัด 31 % ความดัน 12 % ภูมิแพ้ 8.1 % เบาหวาน 6.1%
  • สถานการณ์ ปัญหาสุขภาพในครอบครัวอุบัติเหตุ 8.6% นอนไม่หลับ 4.3% แพ้สารเคมี 1.9%
  • สถานการณ์การเลือกสถานบริการสุขภาพเข้าโรงพยาบาล 34% ดูแลตนเอง 23% สถานีอนามัย 21% คลินิกเอกชน 11% ร้านขายยา 7.4% แพทย์พื้นบ้าน 2.4%
  • แนวทางสร้างเสริมสุขภาพในครัวเรือนอาหารปลอดภัย 20% ออกกำลังกาย 17% พักผ่อน 17%
  • สถานการณ์เด็กอายุต่ำกว่า 12ปี เป็นเหา 11% อนามัยช่องปาก 8.2%
  • ปัญหาด้านสุขภาพของเยาวชนในครัวเรือนโรคอ้วน 2.7% ติดเกมส์ 1.6% การพนัน 1.4%
  • สถานการณ์หญิงวัยเจริญพันธ์ (15-44ปี)ตรวจเต้านมด้วยตนเอง 15% ตรวจมะเร็งปากมดลูก 13% วางแผนครอบครัว 7.1%
  • สถานการณ์ผู้สูงอายุ ดูแลจากบุตร 28% ไม่มีผู้ดูแล 0.6%
  • สถานการณ์ผู้พิการและด้อยโอกาสมีผู้พิการ 5.7%
  • สถานการณ์และพฤติกรรมเสี่ยง ด้านสุขภาพ ติดบุหรี่ 22% เหล้า 20%
  • การใช้สารเคมีในชีวิตประจำวันของครัวเรือน ใช้สารเคมี 34% ซึ่งเป็นสารกำจัดแมลง 6.4% สารทำความสะอาด 30% และอื่นๆอีก 1.7% ในส่วนนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการป้องกันสารเคมีในครัวเรือน 43%
  • สถานการณ์พฤติกรรมการบริโภคอาหาร ชอบอาหาร หวาน มัน เค็มจัด 17% ใช้ผงชูรส 37% ใช้สีสังเคราะห์ในอาหาร 1.7% นำพลาสติกมาใส่อาหารร้อน 6.5% ซื้อแกงถุง 14% ขนมกรุบกรอบ 16% สถานการณ์พฤติกรรมการบริโภคน้ำอัดลม บริโภค 31% ซึ่งเป็นการบริโภคนานๆครั้ง 19% กรณีบริโภคทุกวันมี 0.4%
  • พฤติกรรมการดูแลสุขภาพจากการบริโภคอาหาร ปลูกทุกอย่างที่กิน 30% ล้างก่อนปรุง 45% มีการรมกลุ่มเฝ้าระวัง 2.8%
  • ผลกระทบจากการบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อน เคยได้รับผลกระทบ 13% ซึ่ง ได้รับจากผัก 9.6% ผลไม้ 7.6% เนื้อสัตว์ 6.4 % และอาหารทะเลแปรรูป 5.3%
  • การได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม มูลสัตว์ 25% ฝุ่นละออง 22% กลิ่นเหม็น 16% ขยะ 14%
  • สถานการณ์เกี่ยวกับการกำจัดขยะเผาทำลาย 71% คัดแยกขยะ 12 %
  • สถานการณ์หนี้สอนครัวเรือนมีหนี้สิน 24%
  • รายจ่ายหลักในครอบครัว ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 45% การศึกษา 26% เหล้า/เบียร์/บุหรี่ 12%
  • ความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมชุมชนเชิงประเพณี 26% ออกกำลังกาย 22% ส่งเสริมผู้สูงอายุ 20%

ข้อมูลดังกล่าวนี่เอง ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการยกร่างธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ ซึ่งตอนร่างจริงๆ ใช้เวลา 4 วัน หลังเสร็จร่างแรกให้ฝ่ายสื่อไปออกรูปแบบแผ่นพับ เพื่อนำไปประชาพิจารณ์ 2 ครั้ง ครั้งแรกได้ผลเชิงคุณภาพคนมาน้อย แต่ลงลึกรายละเอียดลงลึก ครั้งหลังได้ผลเชิงปริมาณและกระตุ้นความสนใจ

เบื้องหลังการระดมคนให้มาสนใจมากๆ นายขุนทอง เล่าว่าต้องตั้งแต่การรับฟังความเห็นระดับหมู่บ้าน เชิญตัวแทนครอบครัวละ 1คนมาเข้าร่วม คณะทำงานจะมีการแจกเสื้อสีชมพู ประกาศว่าให้ใส่เสื้อตัวนี้มาร่วมกิจกรรมอีกอย่างน้อย 1-2 ครั้ง

ในการประชาพิจารณ์ ทางคณะกรรมการฯจะมีการทำหนังสือเชิญพร้อมกับร่างธรรมนูญ ถึงตัวผู้เข้าร่วม ข้อความในลักษณะที่ว่า “....เนื่องจากท่านเป็นคนที่มีความสำคัญกับการร่างธรรมนูญสุขภาพ ทางกรรมการจึงขอเชิญ....” การออกหนังสือเชิญถือว่าให้เกียรติอย่างสูง รวมถึงการจัดเลี้ยงอาหารว่างตามสมควร ทำให้มีผู้มาร่วมราว 400 คน เพื่อไม่ให้เสียเวลาเปล่าการจัดประชาพิจารณ์ธรรมนูญสุขภาพตำบลครั้งที่ 2 ที่คนใส่เสื้อสีชมพูมาร่วมจำนวนมาก จึงถูกใส่สาระด้วยการจัดให้ตรงกับการบรรยายโรคมะเร็ง โดยอาจารย์แพทย์จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

3 พฤษภาคม 2552 นายขุนทองจึงได้เป็นผู้ประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้อย่างเป็นทางการ คำประกาศมีถ้อยคำสำคัญว่า

....วันนี้เป็นอาทิตย์ที่ 3 เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2552 ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู เป็นวันที่ดี เป็นเดือนที่เหมาะสม ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยบารมีของพระบรมธาตุสุวรรณคีรีเจดีย์วัดชะแล้ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิบ่อชะแล้ พระพุทธศักดิ์สิทธิวิหารเขาตก ทวดปากคลองชะแล้ ทวดเกาะยาว เจ้าที่เจ้าทางของโรงเรียนชะแล้นิมิตวิทยา หรือทุ่งดอนตกแห่งนี้ รวมไปถึงศักดิ์สิทธิทุกระดับชั้นทั้ง 8ทิศ จงได้รับทราบ รับรู้ทั่วกันว่า ชาวชะแล้ทุกคน ทั้งที่อยู่ที่นี่ อยู่ต่อหน้า ทั้งที่อยู่ที่บ้าน ทั้งที่เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เป็นผู้สูงอายุ เป็นเด็กเยาวชน และพี่น้องน้องผู้พิการชาวตำบลชะแล้ ได้ร่วมกันจัดทำข้อตกลงทางจิตใจเพื่อดำเนินชีวิตตามธรรมนูญสุขภาพฉบับนี้ เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและครอบครัว รวมไปถึงสังคมชาวชะแล้โดยถ้วนหน้า พร้อมจะก้าวไปสู่เป้าหมายสำคัญ คือ ชาวชะแล้สุขภาพดีถ้วนหน้าปี 2555 บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ผมขอประกาศใช้ ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ ฉบับที่ 1 พุทธศักราช 2552ให้มีผล ณ.บัดนี้...

แง่ความยั่งยืนของกระบวนการที่เกิดขึ้น นายกขุนทอง มองว่าไม่ได้ผูกติดกับตำแหน่งทางการเมืองหรือตัวเขา ที่เป็นผู้นำในเรื่องนี้

“ที่เราทำขึ้นมาได้ 2-3 ปี ผลที่เกิด ไม่ใช่เกิดจาก อบต. ผมพูดเมื่อเป็นนายก อบต. แต่ไม่ได้พูด ในตำแหน่งนายก อบต. พูดในตำแหน่งในภาคีเครือข่าย ที่ อบต. เป็นแค่หนึ่งในเครือข่ายนั้น มีโรงเรียน สถานีอนามัย ผู้นำกลุ่มชุมชน 4-5 กลุ่ม กลุ่ม เกษตรอินทรีย์ สภาวัฒนธรรม สภาองค์กรชุมชน อะไรต่างๆ เข้ามาช่วยกันทำ อบต.ด้วย”

โครงการต่างๆล้วนเป็นของภาคี เช่น โครงการครัวเรือนถูกสุขลักษณะ คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาเป็นคนทำ โครงการจัดการสภาพแวดล้อมในครัวเรื่อนกมีกรรมการวิสามัญสภาทำ โครงการพัฒนาและฟื้นฟูกลุ่มผู้ป่วยความดันเบาหวาน ตำบลชะแล้ กองทุนสัจจะชะแล้เป็นคนทำ โครงการการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างสุขภาวะ สภาวัฒนธรรมตำบลชะแล้ดำเนินการ ทุกโครงการ อบต.เข้าร่วม อุดหนุนงบ แต่ไม่ได้ดำเนินการเองแนวคิดสู่ความยั่งยืนจึงอยู่ทีทำให้ภาคีเครือข่ายเข้มแข็งโดยเฉพาะองค์กรชุมชน

“นายกอบต. มีวาระดำรงตำแหน่งแค่สมัยละ 4ปีไป ผู้อำนวยการ หัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ต้องไปตามวาระ แต่ผู้บริหารองค์กรชุมชนไม่ไปไหน อย่าง กลุ่มเกษตรอินทรีย์ สภาวัฒนธรรม เมื่อคนเก่าพ้นตำแหน่งย่อมสร้างคน ขึ้นมาทำงาน ต่อไปเรื่อยๆ”

นายกขุนทองมองว่า การทำให้องค์กรชุมชนเข้มแข็ง คือเปิดโอกาสให้เขาทำอย่างเต็มที่ 100% ต่อเนื่อง ไม่ยึกยัก หรือสนับสนุนแบบกะปริบกะปรอย การเปิดโอกาสให้เขาบริหารงบเองมีผิดมีถูกได้ ครั้งแรกอาจไม่ดีนัก ปีถัดไป จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นต่อไป นอกจากอุดหนุนงบประมาณต้องให้ ความรู้ เครื่องมือทำงาน ที่สุดสภาองค์กรชุมชนก็เดินไปเอง พึ่งตัวเองได้

“แม้ว่าผมอาจทำงานสักสมัยหนึ่งแล้วไม่มาลงการเมืองอีก หรืออะไรแล้วแต่ คนพวกนี้เข้มแข็งแล้ว แม้มีนายกคนต่อไป ชาวบ้านพวกนี้เข้มแข็งพร้อมต่อรองทางการเมืองได้ว่า ต้องการอะไร ให้การเมืองทำอะไร”

นายกขุนทองเล่า ขณะเขากำลังหมดวาระการดำรงตำแหน่งในปี 2552 นี้ และจะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง

ระหว่างปี 2553-2556 ตำบลชะแล้ พร้อมจะดำเนินการตามธรรมนูญสุขภาพเต็มรูปแบบ แต่ขบวนการแรกคือบรรจุในแผน อบต.แล้ว ทำได้แล้วทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณสนับสนุน มีการจัดศูนย์ข้อมูลกลางเพื่อสุขภาพ ตำบลชะแล้ ซึ่งศูนย์ ต้องการทำอะไร อบต. ต้องสนับสนุน

ความคาดหวังคือเกิดกิจกรรมที่ระบุในแผน อบต.ในทุกมิติ อย่างเช่นสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคตำบล พอเกิดขึ้นแล้วจะมีการจัดตั้งกรรมการ ดำเนินการตามธรรมนูญ คอยตรวจอาหาร หรือเมื่อเกิดศูนย์พัฒนาคุณธรรมตามธรรมนูญ ศูนย์ฯต้องการทำอะไร ก็ขับเคลื่อนให้เป็นตามธรรมนูญ

ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในเครื่องมือของกระบวนการสร้าวเสริมสุขภาพของประชาชนในตำบลชะแล้ ตามกระบวนการสร้างสุขภาวะชุมชนเพื่อเดินไปสู่ “สุขภาพชาวชะแล้ดีถ้วนหน้า ปี 2555” นับเป็นมาตรการทางสังคมที่เป็นลายลักษณ์อักษรชุดแรกของพื้นที่

สมัชชาสุขภาพ

การเคลื่อนเรื่องสุขภาพตั้งแต่ปี 50 แม้ว่าชาวบ้านเริ่มพอมีความเข้าใจบ้าง ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสุขภาวะที่ตำบลชะแล้ได้ ถ้ามองจากภายภายใน มาจากกลุ่มองค์กรชุมชนชะแล้เองได้เข้าคลุกคลี กับเครือข่ายจังหวัด อย่างเช่นแผนภาคีสุขภาพ 14 ตำบล การที่ผู้นำพาชุมชนเคลื่อนไปหากลุ่มอื่นต่อเนื่องทำให้เกิดมีกลุ่มพวกที่คอยแนะนำให้กำลังใจ

ปัจจัยภายนอก มีภาคีเครือข่าย ภายนอกที่ให้กำลังใจ นอกจากนั้นมีงบมาจากงบ มาจาก สสส.ผ่าน สวรส. ที่ช่วยหนุนพร้อม คำแนะนำ และกระบวนการ

เป็นตัวหนุนเสริมจากข้างนอก

นายก อบต.ชะแล้มองว่า จากกระบวนการสร้างสุขภาวะของชุมชนตำบลชะแล้ ร่วมกันดำเนินการโดยภาคเครือข่ายทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ ใช้ทรัพยากรต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพชุมชน เป็นแค่การเริ่มต้นท่ามกลางอุปสรรค งบประมาณ องค์ความรู้ของหน่วยงาน องค์กร กลุ่มชุมชนในพื้นที่ รวมไปถึงประสบการณ์ที่จำกัด ซึ่งต้องปรับปรับปรุงและพัฒนา โดยฝากความหวังเอาไว้กับความร่วมมือของชาวชะแล้ ที่จะทำให้กระบวนการสำเร็จ และส่งมอบประสบการณ์ต่อไปยังคนรุ่นต่อไป

“ผมคิคว่าความเข้มข้นของกระบวนการสร้างสุขภาวะ จะต้องเพิ่มขึ้น โดย อบต.ชะแล้ จะร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ดำเนินการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมผ่านสมัชชาสุขภาพว่าด้วยการขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายสร้างสุขภาวะชุมชนตำบลชะแล้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือใหม่ของพวกเรา เพื่อที่จะก้าวสู่วาระสำคัญคือ ชาวชะแล้สุขภาพดีถ้วนหน้าปี 2555”

หลังจากริเริมกระบวนการสร้างสุขภาวะของชุมชนตั้งแต่ปี 2549-51 เป็นต้นมา โดยเครือข่ายสร้างสุขภาวะ ทั้งในและนอกพื้นที่ ตำบลชะแล้ได้ผ่านอุปสรรค และปัญหาหลายประเด็น และมีการพัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ดำเนินการอย่างเช่น แผนสุขภาพตำบลชะแล้ ปี 2550 ธรรมนูญสุขภาพ ตำบลชะแล้ ปี 2552 ซึ่งประกาศใช้แล้ว กำลังจะมีเครื่องมือ สมัชชาสุขภาพตำบล ว่าด้วยการขับเคลื่อนหน่วยงาน องค์กร ชุมชน เพื่อสร้างสุขภาวะตำบลชะแล้ ครั้งที่ 1 เป็นสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ โดยการสนับสนุนของสช. ตามข้อกำหนดของ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 จะเป็นเวทีเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้แสดงความคิดเห็นและเสนอความคิดเห็นของตนเองหรือองค์กร กลุ่มชุมชน ในตำบลชะแล้ เพื่อร่วมกันระดมสมองแก้ไขปัญหาสุขภาวะของชาวชะแล้ และผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะรวมไปถึงมาตรการทางสังคม ที่จะเกิดตามาในแต่ละรายประเด็นปัญหาของสุขภาพ

ในเวทีสมัชชาแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาว่าด้วยการขับเคลื่อนแผนพัฒนาสุขภาพ เมื่อ 19 ธันวาคม 2551 ณ โรงแรมกรีนเวิลด์พาเลซ สงขลามีประชาชนสงขลาจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมราว 400 คนประกอบด้วยตัวแทน 140 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา หน่วยงาน องค์กรด้านสุขภาพ

นายขุนทอง บุณยประวิตร นายก อบต.ชะแล้ กล่าวกับเวทีสมัชชาแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาว่า พยายามให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา การจัดทำแผนสุขภาพตำบล ให้ชุมชนเสนอมาว่าเจ็บป่วยด้วยเรื่องอะไร ต่อมาพบภูมิปัญญาชุมชนขึ้นมาเยอะ อย่างการนวด ประคบสมุนไพร การเจ็บป่วยบางกรณีจึงไม่ต้องไปหาหมออีก

อบต.ชะแล้นำแผนสุขภาพตำบล เข้าแผนพัฒนาสุขภาพ 3 ปีของอบต. บริหารโดยคณะกรรมการวิสามัญ คนทั่วไปที่อยู่นอกสมาชิกสภา อบต. ให้เขามีอำนาจหน้าที่เต็มที่ มีเครือข่ายในการทำงานเกิดขึ้นมากมาย อย่างการเชื่อมกับ วิทยาลัยพยาบาลราชชนนีสงขลา และ สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ (สวรส.) เป็นต้น

“เท่ากับว่าองค์กรชุมชนในตำบลชะแล้เพิ่มขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างกำลังเกิดขึ้นตามมา” นายขุนทองกล่าวและว่า ตำบลชะแล้ ยังมีธรรมนูญสุขภาพเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

กิจกรรมที่กำลังดำเนินการอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสุขภาพที่เป็นรูปธรรมคือ การทำ Family MOU หรือ ข้อตกลงครัวเรือน เกี่ยวกับสุขภาพ อย่างเช่นข้อตกลง ลดการสูบบุหรี่ ลดอาหาร หวาน มัน เค็ม โดยทุกอย่างจะต้องเกิดอย่างสมัครใจและเป็นธรรมชาติ เพราะสุขภาพเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับไม่ได้

“งบประมาณดำเนินการสุขภาพมาจากอบต.เป็นหลัก ส่วนงบอุดหนุนรายหัว จาก สปสช. เมื่อมาทำในรูปแบบกองทุนสุขภาพ เราอุดหนุนเพิ่ม 3 เท่า เราทำเพื่อแก้วิกฤติ คิดว่า 4-5 ปี สถานการณ์คงจะดีขึ้น รถพยาบาลอาจจะคืนให้ อบจ.สงขลาได้เพราะไม่ต้องใช้อีก”นายขุนทองกล่าว

เพื่อไปถึงจุดหมายปลายทาง สุขภาพชาวชะแล้ดีถ้วนหน้า ปี 2555 นายกขุนทองได้วาง กระบวนการสร้างสุขภาวะชุมชนตำบลชะแล้ ระดับเข้มข้น โดยสรุปว่า

  1. การดำเนินงานระหว่างปี 2549-51 ประสบความสำเร็จระดับสร้างจิตสำนึกของชุมชนจากกระบวนการให้ความรุ้ทุกรูปแบบ แต่ยังห่างไกลจุดหมายปลายทาง
  2. อบต.ชะแล้มีข้อจำกัดทางงบประมาณ มีงบบริหารจัดการพัมนาพื้นที่ปีละ 11 ล้านบาท 40% ดำเนินการตามภารกิจทุกด้านของพื้นที่ ขณะที่ปัญหาสุขภาพอยู่ในภาวะวิกฤติ ต้องปรับเปลี่ยนวิธิคิดในการบริหารแหล่งงบประมาณเพียงแห่งเดียวนี้ให้มีประสิทธิภาพที่สุด
  3. อบต.ชะแล้ ต้องการความร่วมมือจากประชาชนทุกคน รวมไปถึงการสร้างภาคีเครือข่าย เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ไปสู่ความสำเร็จภายในปี 2555 จึงจำเป็นต้องยกระดับความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยใช้งบประมาณตนเองอันน้อยนิดเป็นหลัก และนั่นเป็นการพึ่งตนเองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  4. ระยะ 2ปีที่ผ่านมา ได้สร้างประสบการณ์แก่ อบต.ชะแล้ และภาคีเครือข่าย ในการดำเนินงานการสร้างเสริมสุขภาพ โดยหลายฝ่ายได้ข้อสรุปเหมือนกันว่า ถ้าหากต้องการให้เป็นไปตามเป้าหมายให้ชาวชะแล้สุขภาพดีถ้วนหน้าปี 2555 ต้องมีเครื่องมือเพิ่ม รวมไปถึงกระบวนการต้องจริงจัง และเข้มข้นมากขึ้นดังนี้
  • ดำเนินให้เป็นไปตามธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ สร้างจิตสำนึกร่วมของชุมชนในการปฏิบัติตามธรรมนูญ
  • ร่วมกันผลักดันให้เกิดมาตรการทางสังคม โดยสมัชชาสุขภาพตำบลชะแล้
  • มีการสนับสนุนงบประมาณแก่ภาคเครือข่ายในพื้นที่เพิ่มและต่อเนื่อง

กิจกรรม วิธีการ

  1. เวทีสรุปประเด็นปัญหาสุขภาวะของชาวชะแล้ 1.จัดเวทีพบปะพูดคุยตัวแทนหน่วยงาน องค์กร กลุ่มชุมชนภายในตำบลชะแล้
  2. ร่วมกันสรุปประเด็นปัญหาสุขภาวะ และแนวทางการแก้ไข
  3. แบ่งประเด็นปัญหาที่สรุปแล้วให้แก่หน่วยงาน องค์กร กลุ่มชุมชนดำเนินการ
  4. จัดทำบันทึกความเข้าใจ(MOU) การสนับสนุนงบประมาณ กับ อบต.ชะแล้ 1.จัดประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหาร อบต.ชะแล้ กับผู้บริหารหน่วงยงาน และผู้นำองค์กรกลุ่มชุมชน
  5. ลงนามใน MOU ในการสนับสนุนงบประมาณ 3.อบรมเชิงปฏิบัติการการทำยุทธศาสตร์ขององค์กร กลุ่มชุมชน 1.ดำเนินการจัดอบรมเพื่อทำยุทธศาสตร์ แนวทาง และกิจกรรมโครงการตามประเด็นปัญหาสุขภาพของแต่ละองค์กรกลุ่มชุมชน
  6. ใช้นักวิชาการที่มีความชำนาญเป็นวิทยากรดำเนินการอบรมเชิงปฏิบัติการ
  7. กำหนดตัวชี้วัด /มาตรวัดความสำเร็จหรือดัชนีของสุขภาพ และสุขภาวะของชุมชน 1.ร่วมกันกำหนดตัวชี้วัด/มาตรวัดความสำเร็จหรือดัชนีของสุขภาพ/สุขภาวะของตำบลชะแล้
  8. ลงนามในข้อตกลงในการรับและสนับสนุนงบประมาณระหว่าง อบต.ชะแล้ กับหน่วยงาน องค์กรกลุ่มชุมชน 1.จัดให้มีสักขีพยานในการลงนาม เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ตัวแทนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตัวแทน สสส. สช. สปสช. เป็นต้น 2. จัดให้มีสื่อเข้าร่วมเพื่อการประชาสัมพันธ์
  9. ประสานแหล่งงบประมาณภายนอกกรณีองค์กร กลุ่มชุมชนต้องการเพิ่มเติม 1.ประสานกับแหล่งงบประมาณ เช่น สสส. /สช.เพื่อให้เข้าร่วมสนับสนุน ในกรณีของบางหย่วยงาน องค์กรชุมชนที่ได้รับงบประมาณจากอบต.ชะแล้ แต่ไม่เพียงพอในการดำเนินงานให้ไปสู่เป้าหมาย ในเวลาที่กำหนด
  10. ติดตามประเมินผล 1.จัดเวทีสมัชชาสุขภาพเพื่อติดตาม และประเมินผล เพื่อร่วมกันปรับปรุงแก้ไข ตามความเหมาะสมปีละ 1-2 ครั้ง
  11. แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลจากผู้มีประสบการณ์ภายนอก ประเมินผลปีละ 1 ครั้ง
  12. สมัชชาสุขภาพตำบลชะแล้ 1.ดำเนินการจัดสมัชชาสุขภาพ ว่าด้วยการขับเคลื่อน หน่วยงาน องค์กร กลุ่มชุมชน เพื่อสร้างสุขภาวะ ปีละ 1 ครั้ง

หน่วยงาน องค์กร กลุ่ม ชุมชน ที่เป็นภาคีเครือข่ายในพื้นที่ตำบลชะแล้

  1. สถานศึกษาโรงเรียนวัดชะแล้
  2. สถานศึกษาโรงเรียนชะแล้นิมิตวิทยา
  3. สถานีอนามัยตำบลชะแล้
  4. กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลชะแล้
  5. สภาวัฒนธรรมตำบลชะแล้
  6. กองทุนสัจจะวันละ 1 บาท ตำบลชะแล้
  7. ชมรมผู้สูงอายุตำบลชะแล้
  8. สำนักธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้
  9. อสม. ประจำหมู่บ้าน
  10. กลุ่มเยาวชนวัยใสใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตำบลชะแล้
  11. วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลชะแล้
  12. สภาองค์กรชุมชนตำบลชะแล้
  13. ศูนย์พัฒนาคุณธรรมตำบลชะแล้
  14. คณะกรรมการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคตำบลชะแล้

สุขภาวะชุมชนชะแล้

“สำหรับตัวผมแล้ว สำนักธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ จะเป็นหนึ่งในองค์กรสำคัญของกระบวนการสร้างสุขภาวะชุมชนตำบลชะแล้ซึ่งมี ธรรมนูญสุขภาพ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ญาติพี่น้องของผมได้มีสุขภาวะ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในความหวังของผม ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดได้ยากในสถานการณ์ของสังคมปัจจุบัน แต่ผมก็มีหวัง ผู้คนย่อมมีชีวิตเพื่อความหวัง เมื่อหมดความที่หวัง มีชีวิตอยู่ก็ไร้ค่าความหมาย”

นายกขุนทองกล่าว และยอมรับว่าการร่วมขับเคลื่อนกับภาคีเครือข่ายสุขภาพ ส่วนที่เขาได้กับตัวเองคือ ทำให้ได้มองอะไร เป็นปัญญามากขึ้น ระหว่างกระบวนการนี้ ทำให้มองอนาคตได้ยาวกว่าเดิม

“ผมยังได้รับความรู้ใหม่ ๆ เช่น ความหมายของเกษตรไร้สารพิษ ที่หมายถึงไร้สารพิษอย่างสิ้นเชิง โดยพื้นที่ผลิตต้องอยู่ห่างจากแหล่งที่ใช้สารอย่างน้อย 1 กิโลเมตร รวมถึงที่ดินแปลงที่เพาะปลูกต้องหยุดใช้สารเคมีมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี และพื้นที่ต้องมีร่องน้ำล้อมรอบ ฯ กับ เกษตรปลอดสารพิษที่มีการใช้กำหนดเวลาควบคุมตามข้อกำหนดของสารเคมีแต่ละประเภท ซึ่งประเด็นเหล่านี้พวกเราได้รับความรู้จากวงเวทีการประชุม”

นายกขุนทองจึงมองว่า การยกย่างธรรมนูญสุขภาพ จึงคล้ายกับการยกร่างองค์ความรู้ของชาวชะแล้ และความรู้ก็เป็นพลังสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างสุขภาวะให้เกิดแก่ชุมชน

“ การยกร่างครั้งนี้สำหรับผมแล้ว คล้ายกับได้ “ยกเครื่อง” ความรู้ของตนเอง จาก ความเข้าใจในเรื่องการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมยังมีอยู่น้อย แต่เมื่อได้ลงมือ ทำด้วยตนเอง ก็เกิดความกระจ่างในความหมายดังกล่าว โดยเฉพาะคำว่แบบมีส่วนร่วม พวกเราที่ได้ร่วมกันดำเนินการจึงล้วนรู้สึกได้ว่าครั้งนี้ เหมือนกับได้ยกร่างของชีวิต เป็นชีวิตที่มีสุขภาวะ”

ในมุมมองนักบริหาร อปท. เป็นโอกาสเห็นได้ว่า คำว่าการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เป็นอย่างไร นโยบายสารณะสุขภาพ แบบมีส่วนร่วม เมื่อทำไปได้พบความหมาย ที่แท้จริงเป็นอย่างไร

“เราพบว่านโยบายบางเรื่องได้แค่บางกลุ่ม แต่พอทำเรื่องสุขภาพได้ทุกคน ครอบคุลมหมดทุกเพศวัย เป็นสาธาณะ ที่ไม่มีอะไรมากกว่านี้แล้ว เป็นสุดยอดของสาธารณะ”

ตอนเริ่มร่างธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ หลายกลุ่มมาศึกษาดูงานมีคำหลายคำที่บั่นทอน เช่นว่า เสียกระดาษ เสียเวลา เป็นกระดาษเปื้อนน้ำหมึก บางคน บอกว่าชะแล้มาดังกับเรื่องนี้ ถ้าจะทำจริงเขาใช้เวลาร่างเพียง 4-5 วันก็ทำได้

“ผมมาคิดว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น เรามีประสบการณ์มาก่อนแล้ว แผนสุขภาพ ทำได้ระดับหนึ่ง ธรรมนูญเป็นอีกเรื่องเหมือนกับข้อตกลงของชุมชนที่เป็นลายลักษณ์อักษร” เขาเทียบธรรมนูญสุขภาพกับวิถีสมัยก่อน อย่างคำสาปแช่งประจำถิ่นถ้าใครทำผิดทำนองครองธรรม เช่น ถ้าใครถ่ายในศาลาจะถูกแช่งให้ตาย คนไม่กล้าละเมิด เพราะกลัวถูกแช่ง ปวดท้อง ปวดหัว นั่นเสมือนธรรมนูญชุมชนแต่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นเอง

ชาวชะแล้ต้องการได้เครื่องมือหนึ่งที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่ออ้างอิง ธรรมนูญสุขภาพสามารถทำหน้าที่นี้ได้

นายกขุนทองยกตัวอย่างโรงเรียนหากต้องการอะไร เกี่ยวกับเด็กสามารถอ้างธรรมนูญสุขภาพเพื่อขอการสนับสนุนจาก อบต.

ส่วนของหน่วยงานอย่างเช่น อบต. เอาส่วนนี้มาอ้างอิงว่าทำตามธรรมนูญ ซึ่งมาจากประชาชน ที่ทุกคนก็รับรู้ และไม่อยากละเมิดเพราะ อบต.ทำ พันธสัญญาเอาไว้ด้วย

เมื่อทุกคนยอมรับกระบวนการนี้ ทำให้ ยึดโยง อ้างอิง กล่าวอ้างตรงนี้ถึงกันได้ ในเชิงบริหารจัดการ ในเชิงเอกสารประจำบ้านที่ระบุหน้าปกว่าเป็น “เอกสารสำคัญประจำครอบครัว กรุณาอย่าทำลาย” เมื่อวางอยู่กับบ้านลูกอาจอ้างธรรมนูญสุขภาพ ทักพ่อที่กินเหล้าเมายา

ธรรมนูญอยู่ในโรงเรียน สถานีอนามัย เขาก็สามารถ เอาไปใช้ อย่าง การรักษา สุขภาพฟันของเด็ก หน่วยงานข้างบนก็จะยอมรับ ว่า เป็นการทำตามธรรมนูญของท้องถิ่น

โดยทุกครัวเรือนจะมีธรรมนูญเป็นเครื่องมือเตือนใจเมื่อเกิดพฤติกรรมการบริโภคที่เสี่ยงต่อสุขภาพ และอาจเป็นกรอบของหน่วยงานภาครัฐในตำบลชะแล้ได้ใช้ประกอบในการวางแผนดำเนินกิจกรรมโดยคำนึงถึงประเด็นทางสุขภาวะของชุมชนก่อนดำเนินงาน

ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญขององค์กร กลุ่มชุมชน และประชาชน ที่จะใช้ประกอบการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพของตนเอง รวมไปถึงอาจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานของรัฐ และเครือข่ายภาคีสร้างสุขภาพที่มีทรัพยากรในการสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน

แม้ว่าธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ไม่มีผลทางนิตินัยต่อหน่วยงานใดของรัฐในพื้นที่แต่กระบวนการแต่ละขั้นตอนที่มาของธรรมนูญฉบับนี้ล้วนผ่านการรับรู้ของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งจะเป็นผลทางจิตใจของผู้บริหารหน่วยงาน ที่มีพื้นฐานในการช่วยเหลือชุมชนอยู่แล้ว จะได้ร่วมกับองค์กร กลุ่มชุมชน และภาคีเครือข่ายดำเนินการสร้างความสุขมวลรวมให้เกิดขึ้นแก่ชาวชะแล้ และนั่นจึงจะเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญ

“ธรรมนูญเป็นเครื่องมือหนึ่งแต่ไม่ใช่คำตอบสำเร็จว่าทำคนให้คนสุขภาพดี เราสร้างเครื่องมือนี้ขึ้นมา อีกหนึ่งเครื่องมือ เพียงขั้นตอนหนึ่ง แต่เป้าสุดยอดของเราก็คือ ให้คนสุขภาวะที่ดี วิถีที่ชีวิตที่ดี สุขภาพ ถ้าพูดตามหลักวิชาการก็ว่า กาย จิต วิญญาณ สังคม เราต้องทำทุกอย่างอีกหลายอย่างต้องทำ เราต้องทำไปเรื่อยๆ ถ้ามีเครื่องมือใหม่เราก็ทำอีก ”

Relate topics

Comment #1
Posted @27 พ.ย. 52 12:23 ip : 117...201

ด้วยความอาลัยยิ่ง ขอให้นายกขุนทอง แม่ทัพคนสำคัญของการบุกเบิกเส้นทางสายสุขภาพของคนสงขลาไปสู่สุขคติ สิ่งที่นายกได้ทำไว้ จะต้องได้รับการสานต่อและขยายผลครับ

Comment #2
Posted @27 พ.ย. 52 12:47 ip : 117...201

แม้นายกขุนทองจะไม่ได้อยู่ร่วมพัฒนาบ้านเมืองนี้กับพวกเรา แต่ผลงานและการสร้างตำนานการก่อเกิดธรรมนูญสุขภาพตำบลแห่งแรกของประเทศไทยของท่านนายก ก็จะเป็นคุณาปการที่ฝากไว้ให้คนรุ่นหลังได้จดจำ เรียนรู้และเป็นแบบอย่างของคนทำงานเพื่อการพัฒนาบ้านเมืองต่อไป

ดูผลงานท่านนายกเพิ่มเติมที่ http://www.healthstation.in.th/viewVideo.php?video_id=454

Comment #3
Posted @27 พ.ย. 52 13:31 ip : 117...201

มีสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับธรรมนูญสุขภาพที่ทาง ช่อง 9 อสมท.มาทำไว้ และเพื่อประกาศถึงผลงานอันมีคุณค่าของท่านนายกขุนทอง ไว้ณ ที่นี้ด้วย

ดูได้ที่นี้ http://chalaehealthycharter.com

Comment #4
Posted @27 พ.ย. 52 13:46 ip : 117...201

อ่่านบทความเรื่อง ธรรมนูญสุขภาพตำบลแห่งแรกของประเทศไทย เขียนโดย วิสุทธิ บุญญะโสภิต ได้ที่ธรรมนูญสุขภาพตำบล

Comment #5แล้วคนดีก็ไม่เคยตายไปจากโลก
เปิ้ล (Not Member)
Posted @1 ธ.ค. 52 12:04 ip : 202...3

คน เกิดมาแล้ว มีกี่คนที่จะกลายเป็นมนุษย์ คนเกิดมามีหน้าที่ กิน ขี้ บี้ เยี่ยว แต่มนุษย์มีหน้าที่ยังประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ นายกขุนทองคือ ผู้ที่เกิดมาเพื่อหน้าที่นั้น พวกเราควรยึดและถือเป็นแบบอย่าง ท่านสามารถฝ่ามิติของการที่สุขภาพต้องพึ่งพาหมอเพียงอย่างเดียวต่อไป พิสูจน์ให้เห็นว่า วิชาการไม่สำคัญเท่าการปฏิบัติ ขอแสดงความเสียใจและอาลัยยิ่งถึงการจากไปของ นายกขุนทอง (ลุงตัวเติบผู้มีอารมณ์ดี)

Comment #6
อ.จเร (Not Member)
Posted @8 ธ.ค. 52 09:06 ip : 118...190

ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัว และคนที่รักนายกขุนทองทุกท่าน เสียดายท่านนายกคนนี้มากเคยพบไม่กี่ครั้งแต่ก็ตระหนักได้ดีถึงความทุมเทแรงใจแรงกายของนายกท่านนี้ต่อชะเล้ และที่อื่นๆ

Comment #7
Posted @9 ธ.ค. 52 13:17 ip : 222...113

เจ้าขุนทองไม่กลับมาแม้ฟ้าสาง

เจ้าขุนทอง      เจ้าจากไป    ไม่กลับหลัง

เจ้าจากไป      จากรวงรัง    อยู่หนไหน

ไม่กลับหลัง    รังของเจ้า    ที่จากไป

แม้ฟ้าสาง      วันใหม่        ไม่กลับมา

คนใจร้าย        มาทำลาย    ปองชีวิต

มาทำลาย        อำมหิต        ปริศนา

ปองชีวิต        คนดี            วายชีวา

แล้วต่อไป      ใครจะกล้า  ทำความดีฯ


ประพันธ์โดย นายประเสริฐ  รักษ์วงศ์

ผู้ช่วยเลขาธิการสภาวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา

ผู้ประสานงานประเด็นวัฒนธรรม

Comment #8
สิริพร บุณยประวิตร (Not Member)
Posted @10 ก.พ. 53 23:38 ip : 206...26

คิดถึงพ่อค่ะ

Comment #9อาลัยยิ่ง
สุดาพร ช่วยชู (Not Member)
Posted @18 ก.พ. 53 06:21 ip : 115...140

คนดี อยู่บนโลกนี้ไม่นาน ผิดกับคนที่เป็นคนเลวมักอยู่ในโลกนี้นาน ไม่รู้ทำไม

Comment #10
เอกลักษณ์ บุณยประวิตร (Not Member)
Posted @1 มี.ค. 53 18:28 ip : 124...34

บอลก็คิดถึงพ่อน่ะ เลือดต้องล้างด้วยเลือดน่ะ รักพ่อมากจากลูกชายสุดที่รัก

เพลง อยู่ตรงนี้ ศิลปิน พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์

    วานนี้ยังมีเธอ อยู่ตรงนั้นตรงนี้เสมอ เดินมาเดินไป
ไม่เคยหันเหไปไหน อยู่ตรงกลางหว่างใจไปไหน ก็มีเธออยู่ อยู่ตรงนั้นมานาน อยู่ในความรู้สึก สำนึกในใจว่ารัก     ยามเช้าสดชื่นเสมอ จะมีเธอตื่นขึ้นพร้อมเช้าไปสู้กับงาน แยกทางชั่วครั้งชั่วคราว ออกดิ้นรนมือสาวเท้าวางไว้รองชีวิต

    *แต่เธอไปไม่ลา ไม่มีเธอกลับมา ไม่มีแม้เสียง นึกถึงเธอบอกกับฉัน มีแต่ความตายเท่านั้น ที่จะพรากเราไปจากกัน..ได้

    **วันนี้คนที่เรารักมาจากเราไป ความตายพรากเธอไปไหนใครเล่าจะรู้ เธอคงจะเหงาเคว้งคว้างคงเศร้าสับสน ผู้คนมากมายความตายใยเลือกเอาเธอ ไปแล้วไม่มีหวนคืน(กลับ)

( *,** )

วันนี้ฉันไม่มีเธอ ไม่อยากเผลอใจคิดชีวิตจะเป็นอย่างไร

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว