สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ปวดและชา ปัญหาของคนสูงวัย

by kai @14 ธ.ค. 47 23:28 ( IP : 61...150 ) | Tags : ข่าวสุขภาพประจำวัน

ปวดและชา ปัญหาของคนสูงวัย

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 14 ธันวาคม 2547 09:21 น.









      อาการปวดและชาเป็นอาการที่พบกันได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะเป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์ทรมานอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากประสิทธิภาพในการทำงานของอวัยวะต่างๆ เริ่มเสื่อมสภาพลงอาการดังกล่าวจึงมีโอกาสเกิดได้บ่อย ซึ่งนอกจากจะสร้างความทรมานในทางร่างกายแล้วยังบั่นทอนสุขภาพทางด้านจิตใจให้แก่ผู้ป่วยอีกด้วย

      ผู้ป่วยหลายคนต่างก็พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะหาทางรักษาอาการปวดและชาให้หายขาด แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันไม่ให้อาการเหล่านี้เกิดขึ้น หรือยืดระยะเวลาการเกิดอาการเหล่านี้ให้นานออกไปมากที่สุด และหากเกิดอาการปวดและชาขึ้นแล้วก็ควรปฏิบัติตนอย่างถูกวิธีเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดให้น้อยที่สุด
      น.พ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้คำแนะนำว่า อาการปวดและชานั้นเป็นอาการที่ต่างกัน สำหรับอาการปวดนั้นหากจะกล่าวกันง่ายๆ นั่นก็คือความรู้สึกไม่สบายทุกชนิด ที่ผู้ป่วยต้องการให้รักษาให้หาย เช่น อาการปวดหัว ปวดฟัน ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดกระดูก เป็นต้น โดยอาการปวดที่พบกันได้ในกลุ่มผู้สูงอายุและเป็นอาการที่เรื้องรังยากที่จะรักษาให้หายขาดได้ในทันที ได้แก่ อาการปวดหลัง ปวดต้นคอตึงเคล็ด ปวดหลังส่วนเอว และอาการปวดเนื่องจากข้อเข่าเสื่อมอักเสบ

      ส่วนอาการที่เรียกว่าชานั้น เป็นอาการที่อวัยวะหมดความรู้สึกเฉพาะที่ไปชั่วครู่ หากเป็นเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิดปัญหา จะเรียกว่า Paresthesia แต่ถ้าเป็นมากจนเกิดความรำคาญ จะเรียกกว่า Dysesthesia
      ทั้งนี้ อาการปวดนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การเสื่อมอันเนื่องมาจากการใช้งานหนักจากอาชีพบางอย่างที่ยาวนานหลายปี อายุที่เพิ่มขึ้น การบาดเจ็บที่ไม่รุนแรงและรุนแรงเช่นรถชน กรรมพันธุ์ การติดเชื้อ เนื้องอก หรือจากการอักเสบในบางอวัยวะ เป็นต้น การรักษาก็จะมีหลากหลายแบบขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาของอาการปวด

      สำหรับอาการปวดหลังและปวดต้นคอ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงาน ลดการทำงานลง ใช้ยาแก้ปวดลดการอักเสบ ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ รับประทานวิตามินบำรุงเส้นประสาท ทำกายภาพบำบัด ออกกำลังกายเมื่อหายปวดเพื่อเป็นการบริหารกล้ามเนื้อให้มีความยืดหยุ่นและแข็งแรงมากขึ้น หรือในรายที่มีอาการรุนแรงอาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาแบบผ่าตัด

      ขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการปวดอันเนื่องมาจากข้อเข่าเสื่อมอักเสบนั้น อาจมีสาเหตุเพิ่มเติมอันเนื่องมาจากน้ำหนักตัวที่มาก ดังนั้นผู้ป่วยบางรายจึงควรลดน้ำหนักตัวควบคู่ไปกับการรักษาด้วย
      สำหรับอาการชาที่พบกันบ่อยนั่นก็คืออาการมือชา ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยจากหลายสาเหตุ เช่นกระดูกคอเสื่อม กล้ามเนื้อคอและสะบักเกร็งตัวหรือมีพังผืดที่ข้อมือกดทับเส้นประสาทอยู่ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักมีอาการชาที่ปลายนิ้วมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง โดยจะมีอาการมากในเวลากลางคืน และหากโรคดำเนินต่อไปโดยไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการชาในบริเวณที่กว้างขึ้นและถี่ขึ้น จนผู้ป่วยเริ่มมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อสังเกตได้จากหยิบของหล่นจากมือ

      จนท้ายที่สุดจะสังเกตเห็นได้ว่ากล้ามเนื้อบริเวณนิ้วหัวแม่มือจะลีบเล็กลงไปเรื่อยๆ

      ผู้ป่วยที่พบว่า มีอาการดังกล่าวจึงควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที สำหรับการรักษานั้นมี 2 วิธี คือ
      1. การรักษาโดยไม่ผ่าตัด ทำได้โดยใช้ยา วิตามินบี 12 ชนิดพิเศษ เพื่อบำรุงปลายประสาท ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบ หรือในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจใช้ยาประเภทเสตียรอยด์ฉีดเข้าบริเวณอุโมงค์ข้อมือเพื่อลดการอักเสบ หรือการสวมอุปกรณ์ประคองมือ เพื่อลดการเคลื่อนไหวของมือ
      2. การรักษาโดยผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนรบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และเข้ารับการรักษาแบบไม่ผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ใช้เวลาไม่นานผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลยโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และต้องใส่เฝือกอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์

      "ผู้ป่วยที่มีอาการชาว่าควรจะหลีกเหลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้มือและข้อมือมาก ๆ ควรปรับเปลี่ยนโต๊ะ เก้าอี้ หรือเสริมอุปกรณ์สำหรับพักข้อมือเวลาขียน พิมพ์งาน หรือใช้คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมเพื่อให้ข้อมือไม่ต้องกระดกขึ้นหรือลงมาก เวลาใช้งาน ประการสำคัญควรมีการบริหารเคลื่อนไหวมืออย่างสม่ำเสมอ" น.พ.อภิชาติ แนะนำทิ้งท้าย

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว