สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เผยตัวเลขคนตายจากอุบัติเหตุจราจรวันละเกือบ 40 คน

เผยตัวเลขคนตายจากอุบัติเหตุจราจรวันละเกือบ 40 คน

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 มกราคม 2550 15:23 น.

      ศูนย์ข่าวขอนแก่น- ศูนย์นเรนทร เผยอุบัติเหตุบนท้องถนนคร่าชีวิตคนไทยปีละ 13,000 คน เฉลี่ยวันละ 38 คน เตรียมพัฒนาระบบบริการให้มีมาตรฐานเท่ากันทั่วประเทศ เร่งผลักดัน พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ครอบคลุมแผนหลักแห่งชาติ ทั้งคุณภาพ มาตรฐาน กรอบทิศทาง งบประมาณ พร้อมการพัฒนาอย่างมีเอกภาพ ทั้งภาครัฐและเอกชน
      นพ.สุรเชษฐ สถิตนิรามัย ผู้อำนวยการสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ ศูนย์นเรนทร กล่าวในงานสัมมนาที่โรงแรมโซฟิเทล ราชา ออคิด จ.ขอนแก่นว่า ในแต่ละปีจะมีแนวโน้มของผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ และผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นับเฉพาะกรณีอุบัติเหตุจากการจราจรในปี 2547 ระบุว่า ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีสถิติผู้เสียชีวิตชั่วโมงละ 1.6 คน หรือวันละ 38 คน
      ดังนั้น ใน 1 ปี จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากกว่า 13,000 คน หรืออัตราตายเท่ากับ 22 คนต่อแสนประชากร มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 70,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากผู้ป่วยฉุกเฉินกรณีอื่นๆ
      ทั้งนี้เมื่อศึกษาแผนการเสียชีวิต ภายใน 30 วัน ของผู้ประสบอุบัติเหตุจราจร พบว่า ร้อยละ 71.5 จะเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ ส่วนร้อยละ 25.3 จะเสียชีวิตภายใน 3 ชั่วโมง และอีกร้อยละ 3.2 จะเสียชีวิตภายใน 30 วัน แต่ถ้ามีการจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ดี มีคุณภาพเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว จะสามารถรักษาชีวิตได้อีกไม่น้อยกว่าปีละ 3,300 คน ซึ่งที่ผ่านมา การช่วยเหลือส่วนใหญ่จะไม่ทันการณ์ และไม่เหมาะสมตามหลักวิชาแพทย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้พิการมากขึ้น
      แม้ว่าจะมีองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนมากทั่วประเทศ ที่ร่วมมือกันทำงานในด้านนี้ แต่ก็ยังขาดการจัดระบบบริการ ที่สามารถควบคุมคุณภาพมาตรฐานให้เหมือนกันได้ เนื่องจากขาดกฎหมายและองค์กร ที่ทำหน้าที่ประสานงาน ควบคุมคุณภาพและสนับสนุนการให้บริการ
      นพ.สุรเชษฐ กล่าวต่อว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ จะมีการนำเสนอความก้าวหน้าในการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการจัดในระดับชาติเป็นครั้งแรก ให้ได้รับทราบนโยบาย แนวทางปฏิบัติและมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลวิธีการต่างๆ จากผลงานของโรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จทั่วประเทศ กว่า 13 ผลงานเพื่อนำไปพัฒนาให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
      นพ.สุรเชษฐ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เป็น 1 ใน 4 ของนโยบายกระทรวงสาธารณสุข โดยได้จัดตั้งสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือศูนย์นเรนทร ในปี 45 ซึ่งในปีเดียวกันนี้ ได้ดำเนินการใน 3 จังหวัดนำร่อง คือ ขอนแก่น เพชรบุรี และนครสวรรค์ ต่อมาในปี 2546 ได้ขยายเพิ่มอีก 4 จังหวัด คือ ลำปาง นครราชสีมา สงขลา และกรุงเทพฯ
      ในปี 2547 ได้ขยายครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการดำเนินการกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ยังมีปัญหาที่ต้องดำเนินการและแก้ไขอีกหลายด้าน เพื่อพัฒนาระบบให้มีคุณภาพและมาตรฐานการบริการในทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเร่งรัดให้มี พรบ.ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมของประเทศ ควบคุมการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้มาตรฐาน และคุ้มครองการปฏิบัติงานของบุคลากร
      นอกจาก พ.ร.บ.ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ยังจะต้องผลักดันให้มีหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งควรเป็นเบอร์เดียวกันทั่วประเทศ และมีศูนย์สื่อสารกลางทำหน้าที่รับแจ้งข่าวและประสานงาน มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจและเข้าถึง พร้อมให้ความร่วมมือในการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เร่งรัดให้จัดทำแผนหลักแห่งชาติ ที่กำหนดทิศทางการผลิตและพัฒนาบุคลากรมืออาชีพในด้านนี้
      มีการเร่งรัดให้มีระบบประกันคุณภาพของการให้บริการ ให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ต้องมีหลักประกันด้านงบประมาณที่ยั่งยืน และต้องกำหนดระบบการประสานงานอย่างใกล้ชิด มีความเป็นเอกภาพกับหน่วยปฏิบัติงานฉุกเฉินทุกหน่วย โดยเฉพาะหน่วยกู้ภัยและตำรวจ เพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง โดยหลังการสัมมนาครั้งนี้ จะมีบทสรุปเพื่อขับเคลื่อนระบบบริการในทุกเรื่องที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว