สถานการณ์เด็กและเยาวชนของภาคใต้
เติมทักษะ ให้เต็มชีวิต โครงการพัฒนาทักษะชีวิตเยาวชนภาคใต้ (สงขลา กระบี่ ระนอง)
โครงการนี้เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของสภาการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการสนับสนุนด้านทุนจากมูลนิธิเยาวชนนานาชาติ และมูลนิธิยูโนแคล ให้ดำเนินงานนำร่องเพื่อศึกษารูปแบบและกระบวนการพัฒนาทักษะชีวิตกับกลุ่มเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียนในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการของพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา กระบี่ ระนอง ทั้งนี้เพื่อให้เยาวชนเป้าหมายมีทักษะชีวิตในด้านการคิด (ในเชิงคิดวิเคราะห์คิดสร้างสรรค์ และตัดสินใจแก้ปัญหาได้เหมาะสม) การเข้าใจตนเองและผู้อื่น การจัดวางทางอารมณ์และความเครียด การสื่อสารและสัมพันธภาพ และความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมอบหมายให้ศูนย์อาสาพัฒนาอาชีพจังหวัดสงขลา "ศรีเกียรติพัฒน์" เป็นศูนย์ประสานงาน และอำนวยการในพื้นที่ดำเนินงานระหว่างปี พ.ศ. 2547-2548 ผู้บริหาร ครูแกนนำ และเยาวชนใน 20 สถานศึกษา ได้ร่วมกันสร้างสรรค์โครงการเล็กๆ ที่เยาวชนได้ริเริ่มขึ้น ตามความเหมาะสมในสถานศึกษาหรือในชุมชนของตน แล้วขยายผลสู่เพื่อนๆ ครอบครัวและชุมชน โครงการนี้พยายามจุดประกายความคิดให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการพัฒนาทักษะชีวิตที่เกิดขึ้นในตัวตนและจิตใจเยาวชน การเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในทุกจังหวะของการพัฒนาการ การประชุมพูดคุยเพื่อทบทวน ถอดบทเรียน และการบันทึกผลการดำเนินงานร่วมกันอยู่เสมอ การร่วมกันวางรากฐานความคิด ความเข้าใจเรื่องนี้ อาจจะใช้ระยะเวลานาน แต่ค้นพบว่าเป็นพลังเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายการทำงาน และสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ครอบครัว และชุมชนได้ ข้อมูลจากหนังสือเติมทักษะชีวิตให้เต็มชีวิต โดย พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ทักษะชีวิต คืออะไร? องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความหมายว่า เป็นความสามารถและความชำนาญในการประเมิน และวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อตัดสินใจเลือกทางแก้ปัญหาทางพฤติกรรมและสังคมที่เกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างถูกต้อง บริบทสังคมภาคใต้ในปัจจุบัน ผลจากการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุลทั้งเป้าหมายและแนวทางกว่าสี่ศตวรรษที่ผ่านมาได้ทำให้สังคมภาคใต้มีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวในหลายๆด้าน ทั้งที่เป็นลักษณะร่วมกับบริบทของประเทศและลักษณะเฉพาะของภูมิภาคที่สำคัญได้แก่ การเจริญเติบโตของเมืองหลักและเมืองท่องเที่ยวไม่กี่แห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และสงขลา-หาดใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งรองรับแรงงานจากภาคเกษตรกรรมและชนบทจากภาคใต้และภาคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจของภาคใต้ ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพิงภาคเกษตรกรรมถึงร้อยละ 33.4 ส่วนภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 14.3 ภาคการค้าร้อยละ 15.0 ภาคบริการร้อยละ 14.7 และภาคอื่นๆ ร้อยละ 22.6 ต่างจากโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่ขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ภาคใต้ในปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหาบางประการและปัญหาใหม่ๆไม่ต่างจากบริบทของประเทศมากนัก อาทิ ความเสื่อมโทรมของป่าไม้ ทรัพยากรชายฝั่ง และสิ่งแวดล้อม ปัญหาราษฎรไม่มีที่ทำกิน 658,028 ราย ค่านิยมเลียนแบบการบริโภคตามตะวันตก การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา สถาบันครอบครัวและสถาบันศาสนาอ่อนแอลง ครอบครัวแม้จะมีปัญหาการหย่าร้างน้อยกว่าภาคอื่นๆ แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ครอบครัวเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่สามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าทุกภาค อิทธิพลสื่อต่อค่านิยมเชิงลบ แม้ปัญหาสุขภาพจิตน้อยกว่าทุกภาคแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ สถานการณ์เด็กและเยาวชนในภาคใต้ สำหรับสถานการณ์เด็กและเยาวชนในภาคใต้ในปัจจุบันเป็นผลจากการพัฒนาที่ผ่านมา มีทั้งสถานการณ์ทั่วไป สถานการณ์เชิงลบ และสถานการณ์เชิงบวก ซึ่งประมวลได้ดังนี้ ประชากรวัยเด็ก(0-14ปี) จะมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 28 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 26 ในปี 2549 ขณะที่ประชากรวัยแรงงานเพิ่มขึ้นมาก และประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อัตราการตายของทารกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 6.6 คนต่อการเกิดมีชีพ 1000 คน ในปี 2544 เป็น 7.3 และ 7.9 คน ในปี 2545 และปี 2546 ตามลำดับ โดยสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตราการตายของบทารกสูงมากที่สุดมาโดยตลอดเนื่องจากบริการสาธารณสุขของรัฐที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อของท้องถิ่น คุณภาพการศึกษามีปัญหาค่อนข้างมาก โดยคะแนนผลการทดสอบเฉลี่ยปี 2544-2546 ระดับประถมศึกษา สูงกว่าร้อยละ 40 แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ การผ่านร้อยละ 50 และคะแนนดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงในทุกวิชา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์การผ่านร้อยละ 50 แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นยกเว้นความถนัดด้านภาษาอังกฤษที่มีแนวโน้มลดลง และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 40 ในทุกวิชาและมีแนวโน้มลดลง ยกเว้นความถนัดด้านภาษาไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบกับในระดับประเทศแล้วพบว่าภาคใต้มีปัญหาคุณภาพการศึกษาค่อนข้างมากเช่นเดียวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เยาวชนโดยเฉพาะในเขตชนบทยังขาดแคลนสถานที่/อุปกรณ์กีฬา เนื่องจากการส่งเสริมจากภาครัฐยังไม่ทั่วถึงและเพียงพอกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ จึงมีส่วนทำให้เยาวชนมีทางเลือกในการใช้เวลาว่างที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์น้อยลง เยาวชนมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหลายประการที่สำคัญได้แก่ ขับรถประมาทหวาดเสียว/ผิดกฆจราจร ติดยาเสพติด ตั้งแกงค์จี้ปล้นลักขโมย ทะเลาะวิวาท เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน คบเพื่อนไม่ดี เอาแต่ใจตัวเอง ติดโทรทัศน์ นิยมมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่ง ดื่มสุราสืบบุหรี่(กลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่เท่ากับภาคเหนือซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าทุกภาค ส่วนเยาชนอายุ 20-24 ปี มีแนวโน้มการดื่มสุราและสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มอายุ 25-29 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มการดื่มสุราและสูบบุหรี่ลดลง* ที่มา : รายงานการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุราของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ) ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะเป็นไปในทำนองเดียวกันทั้งประเทศด้วยซ้ำ สถานการณ์เชิงบวกของเด็กและเยาวชนภาคใต้ : ท่ามกลางสภาพสังคมที่วิกฤตและพฤติกรรมที่มีปัญหาของเด็กและเยาวชนนั้น มีองค์กร/พฤติกรรมเชิงสร้างสรรค์เกิดขึ้นเช่นกัน อาทิ - กลุ่มป่าบอน ที่ตั้ง โรงเรียนนิคมควนขนุน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ตนเอง ชุมชน และสังคม ผ่านกิจกรรมศึกษาหลายมิติ เช่น ธรรมชาติ การพัฒนา วัฒนธรรมชุมชน - กลุ่มอนุรักษ์สัมพันธ์ตรัง ที่ตั้ง 46/1 ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม วิถีชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ - กลุ่มสุขภาพดีสมสิบ ที่ตั้ง 204 หมู่ 5 ต.บางเป้า อ.กันตัง จ.ตรัง มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างชุมชนที่เข้มแข็งทั้งด้านสุขภาพ ศีลธรรม เศรษฐกิจ และปัญญา - ศูนย์การศึกษาและพัฒนาชุมชนต้นน้ำเทือกเขาบรรทัด ที่ตั้ง 12/5 หมู่ 1 ต.น้ำตก อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพชุมชนผ่านการเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องสิทธิชุมชนในการรักษาทรัพยากร - กลุ่มอาสาพัฒนาเด็กและเยาวชนบ้านฮูดู ที่ตั้ง 98/1 หมู่ 3 ต.เขาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนและเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงศักยภาพให้ชุมชนประจักษ์ และกระตุ้นให้เกิดจิตสำนคกรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม - ประชาคมพลเมืองเด็ก ที่ตั้ง อาคารศรีเกียรติพัฒน์ ศูนย์พัฒนาอาชีพจังหวัดสงขลา ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้ซึ่งกันและกันจากกลุ่มเด็กและเยาวชนที่หลากหลายสถานภาพ - สงขลาฟอรั่ม ที่ตั้ง อาคารศรีเกียรติพัฒน์ ศูนย์พัฒนาอาชีพสงขลา ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดวงเสวนาเพื่อยกระดับความคิดเกี่ยวกับกิจกรรมสาธารณะ ทั้ง 8 องค์กรข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างขององค์กรเชิงบวกที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในภาคใต้ ซึ่งล้วนเป็นองค์กรที่ตระหนักถึงพลังสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน ในขณะเดียวกัน ก็ตระหนักถึงการบ่อนทำลายพลังแห่งการสร้างสรรค์ดังกล่าวจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการเสริมสร้างพลังแห่งการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนโดยยึดวิถีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงระนาบทั้งระหว่างบุคคล กลุ่มที่แตกต่างกันในแง่ภูมิศาสตร์ สถานภาพ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้จักตัวตน รู้จักชุมชน สังคม เท่าทันต่อผลกระทบจากภายนอก และมีจุดมุ่งหมายแฝงที่จะใช้เด็กและเยาวชนที่ได้รับการพัฒนาแล้วเป็นคานงัดทางสังคม เพิ่มเติมกลุ่มองค์กรที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน 1. กลุ่มมานีมานะ ดำเนินการสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมละครกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา 2. กลุ่มสวีท จูเนียร์ ดำเนินการสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ การจัดรายการวิทยุ นิทาน กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา 3. กลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา 4. กลุ่มเยาวชนรักป่าเขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา 5. เครือข่ายมดแดง พื้นที่ดำเนินงานอยู่กระบี่ นครศรีธรรมราช 6. กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์จังหวัดสุราษฎร์ธานี 7. โรงเรียนใต้ร่มไม้ จ.พัทลุง สถานการณ์เด็กและเยาวชน สงขลา : บริบท เศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสาขาอุตสาหกรรม รองลงมาคือสาขาเกษตรกรรมโดยเฉพาะยางพาราและประมงทะเล ในปี 2546 รายได้เฉลี่ยต่อหัว สูงเป็นอันดับสองของภาคใต้ รองจากจังหวัดภูเก็ต มีประชากรรวม 1,294,442 คน เป็นประชากรเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 5-24 ปีรวม 436,692 คน หรือร้อยละ 33.7 ของประชากรทั้งจังหวัด มีสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนรวม 652 แห่ง โดยมีสถาบันอุดมศึกษารวม 5 แห่ง สถานการณ์เชิงลบ 1. เด็กกระทำผิดกฎหมายจากข้อมูลสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา ระหว่าง พศ.2542-2546 แสดงให้เห็นว่าคดีเด็กและเยาวชนที่สำคัญได้แก่ เสพและจำหน่ายยาเสพติด ปล้น/ขโมย/วิ่งราวทรัพย์ ขับรถซิ่ง/ประมาทหวาดเสียว ทำร้ายร่างกาย/ฆ่าหรือพยายามฆ่า ข่มขืน/อนาจาร โดยเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นกระทำความผิดสูงสุด รองลงมาได้แก่ชั้นประถมศึกษา ชั้นสูงกว่ามัธยมต้นและชั้นต่ำกว่าประถมศึกษา ตามลำดับ นอกจากนี้เด็กนักเรียนยังมีแนวโน้มกระทำผิดมากขึ้นทุกปี และเด็กจากอำเภอหาดใหญ่ อำเภอเมือง และอำเภอสะเดากระทำผิดมากที่สุด 2. เด็กถูกกระทำ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการจังหวัดสงขลาระหว่างปี พ.ศ.2543-2545 มากเป็นอันดับหนึ่งได้แก่ เด็กกำพร้า รองลงมาคือ เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ และเด็กถูกทอดทิ้ง ตามลำดับ โดยแต่ละปีจำนวนเด็กทั้ง 3 ประเภท รวมกันคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 89-93 ของเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือทั้งหมด ปี 2543 มีเด็กได้รับความช่วยเหลือทั้งหมดจำนวน 912 ราย ปี 2544 และปี 2545 จำนวน 792 และ 721 ราย ตามลำดับ 3. เด็กถูกกระทำแบบซ่อนเร้นซึ่งเสมือนเป็นคลื่นใต้น้ำที่ผู้ปกครองและคนในสังคมส่วนใหญ่มองข้ามไม่ค่อยสนใจ และไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติไว้แต่อย่างใด ในจังหวัดสงขลาคาดว่ามีจำนวนไม่น้อยและน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 4. เด็กที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากปทัสถานของสังคมแต่ยังไม่กระทำผิดกฏหมาย เช่น รักร่วมเพศ ชู้สาวในโรงเรียน แต่งกายยั่วยวน พฤติกรรมกิ๊ก เกเร นิยมความรุนแรง ขาดสัมมาคารวะ ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ไม่มีการเก็บรวบรวมตัวเลขไว้เช่นกัน ในจังหวัดสงขลาคาดว่ามีจำนวนไม่น้อยและน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากกระแสวัตถุนิยม/บริโภคฟุ้งเฟ้อยังคงเป็นกระแสหลักของสังคม
สถานการณ์เด็กและเยาวชนในอำเภอกลุ่มเป้าหมาย
อำเภอเทพา
สถานการณ์เชิงลบ ได้แก่ ทะเลาะวิวาท ขับรถซิ่ง ยาเสพติด ลักทรัพย์ ชู้สาว เล่นการพนัน เที่ยวเตร่ ติดเกมคอมพิวเตอร์ แก็งอิทธิพล
สถานการเชิงบวก ได้แก่ มีกลุ่มพัฒนาอาชีพ การพัฒนาทักษะผู้ปกครองในการเลี้ยงดูลูก ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ค่ายเยาวชนป้องกันยาเสพติด ค่ายจริยธรรม กีฬาด้านยาเสพติด กลุ่มดนตรีสากล กลุ่มมโนรา
ข้อสังเกต กิจกรรมเชิงบวกส่วนใหญ่ดำเนินการภายใต้การกำกับหรือหลักสูตรของโรงเรียนหรือโดยหน่วยงานราชการอื่นหรือการสนับสนุนจากชุมชน เด็กมีความสามารถ แต่ขาดโอกาส/ครูไม่ค่อยปล่อยให้เด็กได้คิดโดยอิสระ
อำเภอนาทวี
สถานการณ์เชิงลบ ได้แก่ ยาเสพติด ทะเลาะวิวาท ฝ่าฝืนกฏจราจร ชู้สาวในโรงเรียน หนีเรียน เกเร เล่นเกมคอมพิวเตอร์
สถานการณ์เชิงบวก ได้แก่ ค่ายจริยธรรม ค่ายกฏจราจร อบรมต้านยาเสพติด อบรมโรคเอดส์ อุปสมบทสามเณรฤดูร้อน ติดตามคุมประพฤตินักเรียน ส่งเสริมสุขภาพนักเรียน ส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ กลุ่มดนตรีในโรงเรียน ลานกีฬาเยาวชน แอโรบิคในหมู่บ้าน กลุ่มอนุรักษ์คลองนาทวี
ข้อสังเกต กิจกรรมบวกส่วนใหญ่ดำเนินการภายใต้การกำกับหรือหลักสูตรของโรงเรียนหรือโดยหน่วยงานราชการอื่นๆในพื้นที่
อำเภอระโนด
สถานการณ์เชิงลบ ได้แก่ ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ทะเลาะวิวาท แต่งกายยั่วยวน ฝ่าฝืนกฏจราจร ละเมิดสิทธิผู้อื่น เล่นเกมคอมพิวเตอร์ มั่วสุมในสถานบริการ ขาดสัมมาคารวะ ขาดคุณธรรม พฤติกรรมกิ๊ก รักร่วมเพศ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
สถานการณ์เชิงบวก ได้แก่ ค่ายจริยธรรม ดนตรี คอมพิวเตอร์ การพัฒนาทักษะในการใช้รถใช้ถนน การจัดค่ายจริยธรรม กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย กลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้
ข้อสังเกต กิจกรรมเชิงบวกส่วนใหญ่ดำเนินการภายใต้การกำกับหรือหลักสูตรของโรงเรียน หรือโดยการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการอื่นๆหรือชุมชน
อำเภอสทิงพระ
สถานการณ์เชิงลบ ได้แก่ ไม่ใฝ่เรียนรู้ ทำลายทรัพย์สินทางราชการ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ลักทรัพย์ นักเลง เล่นเกมคอมพิวเตอร์ การพนัน เสพยาเสพติด มั่วสุมตามแหล่งท่องเที่ยว ทะเลาะวิวาท ชอบเที่ยวห้างสรรพสินค้า กินอาหารฟาสฟู๊ด แต่งกายยั่วยวน
สถานการณ์เชิงบวก ได้แก่ กลุ่มทำผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด ค่ายสิ่งแวดล้อมฟื้นฟูป่าชายเลน การปั่นจักรยานเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน การอนุรักษ์เพลงไทย การอบรมป้องกันยาเสพติด การแข่งขันกีฬาในหมู่บ้าน การอบรมสามเณร การสอนการร้องเพลงลูกทุ่ง การรำมโนราห์ กลุ่มเยาวชนหาดมหาราช กลุ่มรักษ์ทะเลสาบ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มรักสทิ้งพระ
ข้อสังเกต กิจกรรมเชิงบวกส่วนใหญ่ดำเนินการภายใต้การกำกับหรือหลักสูตรของโรงเรียน หรือโดยการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการอื่นๆหรือชุมชนและกลุ่มอิสระต่างๆ
อำเภอเมือง
สถานการณ์เชิงลบ ได้แก่ พฤติกรรมเลียนแบบไม่ดี เยาวชนถูกปิดกั้นความคิด/โอกาสในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ใช้เวลาว่างในการเรียนพิเศษมากเกินไป
สถานการณ์เชิงบวก ได้แก่ ชมรมอาสาพัฒนาของสถานศึกษาต่างๆ กลุ่มเยาวชนขายของในตลาดสด/ตลาดเปิดท้าย กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กลุ่มเยาวชนเก้าเส้งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มเยาวชนประมงพื้นบ้านเกาะยอ กลุ่มให้คำปรึกษาและเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างเยาวชน กลุ่มเยาวชนช่วยเหลือกิจกรรมในชุมชน กลุ่มชมรมพุทธศาสนา ชมรมรักษ์บ้านเกิดดำเนินกิจกรรมเรียนรู้เรื่องราวของบ้านเกิด กลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯสงขลาดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชน ดนตรี กระบวนการพัฒนาตนเอง และละคร
ข้อสังเกต กิจกรรมเชิงบวกส่วนใหญ่ดำเนินการภายใต้การกำกับหรือหลักสูตรของโรงเรียน หรือโดยการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการอื่นๆหรือชุมชนและกลุ่มอิสระต่างๆ
ข้อมูลจากเวทีเติมทักษะ ให้เต็มชีวิต
โครงการพัฒนาทักษะชีวิตเยาวชนภาคใต้ (สงขลา กระบี่ ระนอง)
31 ตุลาคม 2548
ณ โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท จ.สงขลา
บรรยายพิเศษเรื่อง นโยบายกระทรวงศึกษาธิการและการพัฒนาทักษะชีวิต
โดย ดร.กมล รอดคล้าย ผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการและติดตามประเมินผล
คนตัวเล็กๆเป็นคนเปลี่ยนแปลงโลกและหมุนโลกให้เคลื่อนไหว
การเติมทักษะชีวิต มีเรื่องต้องรู้ 3 เรื่อง ได้แก่ สิทธิของเด็กและเยาวชน ปัญหาสังคม ปัญหาเด็กเยาวชน และการเติมทักษะชีวิต
สิทธิเด็กและเยาวชน จากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยรวมมี 2 ข้อ เด็กทุกคนจะต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดู ศึกษา พัฒนา มีที่อยู่อาศัย มีสุขภาพดี มีโอกาสได้แสดงออก ได้รับบริการพื้นฐานจากรัฐ มีสิทธิ์ที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยสังคมที่มีคุณภาพ 2. พ่อแม่ สังคม จะต้องดูแลเด็ก
รัฐธรรมนูญประเทศไทย ในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิเด็ก ว่าเราทุกคนเกิดมามีศักดิ์ศรี มีโอกาสได้รับการคุ้มครองเสมอกัน ชายหญิงมีความเท่าเทียมกัน เราได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี การศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ สติปัญญา การศึกษารวมไปถึงผู้ด้อยโอกาสและมีความสามารถพิเศษด้วย
ประเภทของเด็ก ได้แก่ ปัญญาเลิศ ปกติ ด้อยโอกาส
เด็กประเภทปัญญาเลิศ มีความสามารถในหลายๆด้าน
เด็กด้อยโอกาส ได้แก่ เด็กพิการ มี 9 ประเภท รวม 6 หมื่นกว่าคน มีแรงงานเด็ก 1 แสนห้าหมื่นกว่าคน เด็กเร่ร่อน มีประมาณ 3 หมื่นคน เด็กกำพร้าถูกทอดทิ้ง 1 แสนแปดหมื่นคน เด็กถูกทำร้าย ปีละ 6 ร้อยคน เด็กยากจนมาก มีประมาณ 4 ล้านคน เด็กสลัม 1 แสนสามหมื่นคน เด็กมีปัญหายาเสพติด 4 แสนคน เด็กเป็นโรคเอดส์ 2 แสนหกหมื่นกว่าคน เด็กอยู่ในสถานพินิจ 3 แสนเจ็ดหมื่นคน
วัยรุ่น ร้อยละ 15 มีปัญหาการเรียน ร้อยละ 8 มีอาการทางประสาท
อุบัติเหตุ เด็กเสียชีวิตปีละ 3000 คน 1400 คนจมน้ำตาย อุบัติเหตุ 1100 คน อีก 500 คนเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นๆ
ความประพฤติ เยาวชนชายเกือบทุกคนเคยเข้าสถานโสเภณี 6 ใน 10 ไม่ใช้ถุงยางอนามัย หญิงมีเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์นอกสมรสมากขึ้น ชายเพียง 16% และหญิง 24% เท่านั้นที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ชอบดูหนัง ฟังเพลง SMS
พฤติกรรมเสี่ยง ชายหญิงอยู่หอพักเดียวกัน มีแฟชั่นทันสมัย แปลกใหม่ วัตถุนิยม ขายบริการทางเพศ ยาเสพติด เล่นเกมส์ เที่ยวห้าง รถซิ่ง
แนวโน้มอนาคต เด็กและเยาวชนจะตายง่าย มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม บริโภคนิยม ขาดความสนใจศาสนา อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีมากกว่าดี(พื้นที่ไม่ดีมากกว่า 20 เท่า)
การเติมทักษะชีวิต มี 2 ด้านคือ ด้านบวกและลบ ด้านบวกได้แก่ รู้ทันสื่อต่างๆที่มีอย่างหลากหลายในสังคม ศิลปะวัฒนธรรมกับการพัฒนามนุษย์ที่เป็นรากเหง้าของชีวิต เรียนรู้ทักษะชีวิต เรียนรู้แนวทางสมานฉันท์และสันติวิธี เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและจิตสาธารณะ
การสร้างระบบดูแลคุ้มครองเด็ก มีการพัฒนาระบบประกัน ในด้านโอกาสในการเรียนรู้ ทำงาน และแสวงหาสิ่งดีๆในชีวิต ประกันในเรื่องคุณภาพ และการดูแลและช่วยเหลือ
ประเทศเวียดนาม ก่อนกลับบ้านครูจะให้การบ้าน 5 ข้อ คือ 1. เกิดอะไรขึ้นบ้างในชุมชน 2.เกิดอะไรขึ้นบ้างในประเทศ 3. เกิดอะไรขึ้นบ้างในโลกของเรา 4. เด็กช่วยอะไรบ้างในครอบครัว 5. วันนี้เด็กได้ทำความดีอะไรบ้าง
ที่เยอรมันสร้างชาติได้การให้เด็กมีการบ้านในการสร้างชาติ 4 ข้อ คือ มีวินัย ตรงต่อเวลา ขยันขันแข็ง ประหยัด
โลกใบนี้มีคนเพียง 20% เท่านั้นที่กำลังหมุนโลก หากนับจำนวนเวลามี 100 วัน เวลาสำคัญที่สุดในชีวิตมีเพียง 20 วันเท่านั้น
Relate topics
- การแยกขยะ มาตรวัดกึ๋นท้องถิ่นบ้านเรา/คอลัมน์...ได้อย่าง ไม่เสียอย่าง
- 'บุหรี่' เลิกไม่ยาก
- "ใช้เน็ตแบบปลอดภัย" โดย Security-in-a-Box
- เหตุผลที่พลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืน
- ขนมบรรจุซอง ภัยร้ายใกล้ตัวเด็ก
- ปากคำ"แพทย์"เหยื่อพริตตี้ กลยุทธ์ขายยาล้ำ"จริยธรรม"
- เปิดโลกการอ่าน ตอนโลกการ์ตูน
- ระวัง ‘พริกน้ำปลา’ ภัยร้ายผู้สูงวัย มีโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด
- กระบวนการสอนสร้างอนาคตร่วมกัน - Future Search Conference (F.S.C.)
- เด็กไทยเห็นแก่ตัว “ให้” ไม่เป็น
