สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เรื่องเล่าจากเบลเยียม 10 : ไตรรงค์ธงไทย ไฉนจึงแดงขาวน้ำเงิน

photo  , 512x342 pixel , 40,122 bytes.

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

อยู่เมืองไทยไม่ค่อยได้สนใจกับธงของนานาชาติ จนวันหนึ่งเมื่อผมได้ไปดูงานเรื่องการจัดบริการทางสังคมที่เสริมพลังกับบริการด้านการแพทย์ที่เมืองไครเบเก้ (kruibeke) ในประเทศเบลเยียม และทางเทศบาลเจ้าของสถานที่ได้จัดสถานที่ประดับด้วยธงประจำชาติของนักศึกษาทุกคน สร้างความประทับใจและรอยยิ้ม ต่างถ่ายรูปจับไม้จับมือราวกับเป็นการประชุมซัมมิทนานาชาติประมาณนั้น และถามไถ่เรียนรู้กันว่า นี่ธงประเทศอะไร เราสังเกตได้เลยว่า หากเป็นธงหลากสี อันนั้นธงจากประเทศในทวีปอัฟริกา ผมก็เพิ่งจะสังเกตและเริ่มรู้สึกว่า “ธงไตรรงค์ของประเทศไทยนั้นไม่ธรรมดา”

ประเทศไทยได้เปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์แทนธงช้างเผือกพื้นสีแดงในสมัยรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ปี 2460 เป็นต้นมา ธงชาติไทยมี 3 สีคือ แดง ขาว น้ำเงิน พอได้นึกทบทวนกับธงต่างๆทั่วโลก ผมรู้สึกถึงความสัมพันธ์บางอย่างระหว่างธงมหาอำนาจกับธงชาติไทย ประเทศมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมใหญ่ๆล้วนแต่มีธงแดงขาวน้ำเงิน เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา รัสเซียและเนเธอร์แลนด์ ทั้ง 5 ประเทศนี้ครอบครองอาณานิคมอาจจะมากกว่า 75%ของทั้งโลก เลยชวนให้เดาต้นความคิดในการเลือกใช้สีและรูปแบบของธงไตรรงค์ว่า ได้รับอิทธิพลเต็มๆจากมหาอำนาจเหล่านั้น และอาจจะมีความฝันที่จะยิ่งใหญ่เหมือนประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นด้วยก็ไม่แปลก ต่างกับเหล่าประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคม จะไม่นิยมใช้สีแดงขาวน้ำเงินครบถ้วนทั้งสามสี เพราะต้องการแสดงถึงความไม่ตกเป็นทาสอย่างสิ้นเชิงแม้แต่ในสีธงชาติด้วยก็ตาม

ผมไม่ได้เอาสถิติชั้นสูงมาพิสูจน์ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ครับ แต่จากความรู้สึกมันรู้สึกได้ถึงตรรกะบางอย่าง จริงแท้แค่ไหนใครจะตอบ แต่บางครั้งคำตอบสำเร็จรูปอาจไม่สำคัญ เพราะการตั้งคำถามนั้นสำคัญกว่าการหาคำตอบใช่ไหมครับ

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว