สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สัจจธรรมก้าวสู่สงขลาพอเพียง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ยั่งยืน ด้วยสัญญาใจ

สัจธรรมก้าวสู่สงขลาพอเพียง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ยั่งยืน ด้วยสัญญาใจ

รายงานโดย ถนอม ขุนเพ็ชร์

งานตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลา และสานรักครอบครัวครั้งที่3 ภายใต้แนวคิด ก้าวย่างที่ผ่านมาของแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา สู่สงขลาพอเพียง จัด เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา ณ สวนสาธารณะพรุค้างคาว เทศบาลเมืองบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

 คำอธิบายภาพ : dscf0128_resize

ริมบึงน้ำใหญ่ แห่งการเริ่มต้นของฤดูร้อน อากาศค่อนข้างอบอ้าวมาตั้งแต่เช้า แต่งานคึกคัก เริ่มต้นจากวงสมัชชาสุขภาพทางอากาศ ที่ศาลากลางน้ำใกล้หอดูนก ทำการถ่ายทอดผ่านวิทยุ FM 88.0 MHz และเครือข่ายวิทยุสุขภาพ ไม่ว่าคลื่นความคิด วิทยุชุมชนท่าข้าม ...

วงสมัชชาสุขภาพทางอากาศ ถือโอกาสโหมโรงด้วยการเล่าถึงความเป็นไปเป็นมา และเชิญชวนผู้ฟังมาร่วมกิจกรรม ซึ่งมีความหลากหลาย น่าสนใจ ทั้งสาระทางสุขภาพจากแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาที่จัดเป็นซุ้มแสดงนิทรรศการฐานการเรียนรู้ เครือข่ายแผนสุขภาพจังหวัด เครือขายแผนสุขภาพตำบล บนเกาะกลางน้ำของพรุค้างคาวยังเป็นเวทีเด็กเยาวชนและครอบครัวโดยโครงการครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดสงขลา และ การแสดงวัฒนธรรม ที่กระจายอยู่ทั้งเวทีต่างๆ รวมทั้งหนังตะลุงน้ำ ที่สร้างโรงหนังอยู่กลางน้ำ นับว่าหาดูได้ยากยิ่ง

นายชาคริต โภชะเรือง ผู้ประสานงานแผนสุขภาพ จังหวัดสงขลา กล่าวในวงสมัชชาออนแอร์ว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการรวมพลเกือบทุกเครือข่ายเกี่ยวกับสุขภาพในจังหวัดสงขลา นับตั้งแต่เจ้าของพื้นที่คือเทศบาลเมืองบ้านพรุ ที่จัดงานสานรักครอบครัวบ้านพรุ (ถนนคนเดินบ้านพรุ) มาแล้ว 2 ครั้ง สำหรับงานตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลา ครั้งนี้นับว่าเป็นการจัดนอกสถานที่เป็นครั้งแรก หลายส่วนได้มารวมกัน

นายบรรเจต นะแส แกนนำเครือข่ายสุขภาพจังหวัดสงขลา กล่าวว่าตลาดนัดสร้างสุข มีหุ้นส่วนอยู่มาก แต่มีเป้าหมายเดียวคือเพื่อสุขภาพ การเคลื่อนเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องความสุข ซึ่งเกิดจากกลุ่มคนเล็กๆ จำนวนหนึ่ง ที่หันมาทำเรื่องนี้ราว 5 ปีมาแล้ว จนขยายคนและงานออกไป และแผลงฤทธิ์ได้

 คำอธิบายภาพ : dscf0078_resize

นายณรงค์ สุขขวัญ เครือขายสุขภาพจากตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิกล่าวว่า สิ่งที่ขับเคลื่อนที่คูหาใต้ ประสบความสำเร็จคือการวิจัย บนหลักคิดที่ว่าใครก็เป็นนักวิจัยได้ ต้องวิจัยตัวเอง และทำเอง และนำเอาระบบ GIS มาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการพัฒนา เพราะเห็นสภาพพื้นที่วิเคราะห์ปัญหาได้

“ระบบข้อมูลที่คูหาใต้ ได้มาจากการลงพื้นที่ ถามชาวบ้าน เราพบว่ามี 173 เรื่องที่ชาวบ้านอยากรู้ ต่อมาเราพบว่าในคูหาใต้มีมะพร้าวอยู่ 2 หมื่นกว่าต้น เมื่อถามว่าชาวบ้านต้องใช้ไม้กวาดแต่ละปีมูลค่า เกือบ 3 แสนบาท เราจึงเอาก้านมะพร้าวมาผลิตไม้กวาดใช้เอง แทนที่ใบมะพร้าวที่ตกลงมาจะเอาไปเผาทิ้ง”นอกจากนั้นข้อมูลการการทำบัญชีครัวเรือนนำไปสู่การเลี้ยงไก่เอาไว้กินเอง การลดและเลิกดื่มเหล้า บุหรี่

ว่าที่ ร.ต.เสรีย์ นวลเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองบ้านพรุ กล่าวว่านโยบายของตนเองเรื่องสุขภาพประกาศเสมอว่าเน้นรักษาคนไม่ได้เน้นรักษาโรค ซึ่งหมายถึงการดูแลสุขภาพของประชาชนให้ดี ไม่เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย การที่คนไม่ป่วยสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เทศบาลเองก็ไม่ต้องเอางบประมาณไปสมทบในเรื่องนี้ มีเงินเหลือไปพัฒนาด้านอื่นๆ

 คำอธิบายภาพ : pic4bd161eeca7bc

นายนิมิตร แสงเกตุ จากสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดสงขลา มองว่าการมองระบบสาธารณสุขโดยติดอยู่กับกรอบเดิมๆ จะทำให้ไปไม่ถึงไหน การได้นำ อสม. มาร่วมกับแผนสุขภาพ เป็นโอกาสครั้งสำคัญในการเริ่มต้นใหม่เพื่อก้าวไปข้างหน้าโดยแท้จริง ขณะนี้จังหวัดมี อสม.ดีเด่นระดับชาติมากที่สุด คือ 7 คน อย่างไรก็ตามต้องพัฒนาต่อไป

นางอัจจิมา พรรณนา จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา แกนนำแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ประเด็นอุบัติเหตุ การมาร่วมขับเคลื่อนแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาแม้จะทำให้เป็นภาระที่มากกว่างานประจำ แต่ทำด้วยความรักแผ่นดิน และท้องถิ่นสงขลา เป็นการทำงานด้วยใจ

 คำอธิบายภาพ : dscf0036_resize

“มีคนถามว่าว่างนักหรือที่มาทำเรื่องนี้ ไม่ว่างหรอกแต่อยากทำ” อัจจิมาว่าการทำประเด็นอุบัติเหตุโดยเฉพาะมหาวชิราวุธโมเดล ทำให้แตกไปยังเรื่องต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับสุขภาพอีกมาก

นางนงลักษณ์ ศรีชยาภิวัฒน์ แกนนำแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาประเด็นเด็ก เยาวชน ครอบครัว กล่าวว่า การมาร่วมกิจกรรมตลาดสร้างสุขในครั้งนี้ ได้นำกิจกรรม เกี่ยวกับครอบครัวเชื่อมโยงกับสุขภาพ มองว่าครอบครัวไทยที่เคยอยู่เย็นเป็นสุขมาก่อน แต่ในโลกยุคใหม่ หลายอย่างเปลี่ยนแปรไป มีความเปลี่ยนแปลงน่าเป็นห่วง และจะต้องรับมือ มีกิจกรรมครอบครัวสร้างสุขมานำเสนอว่าอยู่อย่างไร และให้ทางออกว่าถ้าไปเจอความทุกข์ควรจะทำอย่างไร

สมัชชาออนแอร์ ยุติรายการเวลาเที่ยงตรงด้วยการทิ้งท้ายถึงการขับเคลื่อนของแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาในมิติต่างๆ เพื่อก้าวย่างสู่ความเป็น “สงขลาพอเพียง” จังหวะเดียวกับที่การตระเตรียมงาน ของทุกส่วนพร้อมเต็มที่ เพื่อเข้าสู่งานตลาดนัดสร้างสุขสงขลาอย่างเป็นทางการ

 คำอธิบายภาพ : dscf0017_resize

เวทีกลางอยู่ริมน้ำ ใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ เปิดด้วยการแสดง เพลงเรือจากโรงเรียนบางกล่ำวิทยา หลังจากนั้น นายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเวที จาก MOU สู่สัญญาใจ ร่วมขับเคลื่อน สงขลาพอเพียง 2554 ร่วมกับเครือข่ายสุขภาวะ โอกาสนี้ นายเสรี ศรีหะไตร กล่าวว่าการพัฒนาสงขลาจะต้องมีบางอย่างมายึดโยง ให้ดอกไม้หลากสีมาร้อยรวมกันโดยไม่แบ่งแยก


“จากการที่ผมคุยกับ อ.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ (ผอ.สจรส.มอ) เห็นว่าแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาได้ปูพื้นฐานเรื่องสงขลาพอเพียงมาก่อนแล้ว ” รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวถึงคำพูดของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ว่า เกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน และที่มากกว่านั้นคือต้องใช้ชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อถวายในหลวง

 คำอธิบายภาพ : dscf9963

“สงขลาจะเป็นผีเสื้อตัวที่หนึ่ง ที่จะขยับปีกเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพระองค์ท่าน ประเทศไทยมีผีเสื้อ 76 ตัวแต่ผีเสื้อสงขลาจะขยับปีกก่อน” นายเสรี กล่าวและว่า การขับเคลื่อนเรื่องนี้เห็นว่าจากสัจธรรมที่ว่า “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” แต่การทำเรื่องนี้จะต้อง “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และยั่งยืน” โดยเห็นว่าแม้จะเปรียบการขับเคลื่อนของคนสงขลาเปรียบเหมือนผีเสื้อที่ตัวเล็ก แต่ถ้าขยับปีกพร้อมกันจำนวนมาก จะเกิดแรงไม่แพ้พลังของคลื่นสึนามิ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ผีเสื้อสงขลาได้ขยับไปพร้อมกัน นั่นคือเครือข่ายที่มาร่วมกันในวันนี้ จะมีสัญญาใจว่าจะขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ขยับปีกแบบไม่รู้จบ เพื่อให้ความพอเพียงเกิดขึ้นในจังหวัดสงขลาให้ได้

 คำอธิบายภาพ : dscf9987

“ผีเสื้อขยับปีกอาจเหนื่อยล้า แต่ถ้าเชื่อมสัญญาณใจกันให้ดี จะทำให้ความเหนื่อยล้าลดลง สามารถประคองกันขยับกันต่อไปได้ แม้ว่าบางเรื่องมีแรงปะทะมาก หากพลังใจมีก็จะไปได้ คือหลักธรรมชาติ การทำอะไรก็ตามให้ประสบความสำเร็จ ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ และเป็นวิถีชีวิต” รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาหมายความ ว่า การทำอะไรก็ตามไม่ใช่เพื่อการนำร่อง แล้วก็จบ แต่จะต้องเกิดความยั่งยืน “ผมขอปวารณาตัวเป็นผีเสื้อตัวน้อยๆพร้อมขยับปีกไปพร้อมกับทุกท่าน..” นายเสรีกล่าว โดยให้ยึดหลักว่าสงขลาพอเพียงจะต้อง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ยั่งยืนด้วยสัญญาใจคนสงขลา

 คำอธิบายภาพ : dscf9995_resize

นายวาด โวหาร แกนนำแผนสุขภาพตำบลคลองรี กล่าวว่าคลองรีประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบในเรื่องแก๊สชีวภาพ ซึ่งได้นำมาของจริงมาโชว์ในงานด้วย

“ต้องการให้พี่น้องได้เห็นว่าการทำแก๊สชีวภาพได้ผล สามารถใช้ชีวิตอย่างพอเพียง พวกเราทำแก๊สมา 3 ปี ไม่ต้องซื้อเลยภายในตำบล ต้นทุนรายละ5,000 บาท สามารถใช้ได้นาน 10ปี สามารถประหยัดได้ปีละ 80,000 บาทคิดดูว่าถ้าทำได้ทั้งจังหวัดสงขลาจะประหยัดเท่าไร”

นายจิต นิลภักดี จากโครงการจัดการสิ่งแวดล้อมในครัวเรือนเพื่อสุขภาพ ตำบลคลองทราย อำเภอนาทวีเล่าว่า อะไรที่ลดรายจ่าย ต้องทำทั้งนั้น ที่คลองทรายจัดให้มีธนาคารขยะ มีการให้ความรู้เรื่องขยะกับชาวบ้านให้มากที่สุด สามารถรู้ถึงโทษ ประโยชน์ การกำจัดและมูลค่าของขยะ การทำงานช่วยกันแบบลูกๆหลานๆ แม้ว่าเขาเองจะจบแค่ป .4 ก็อาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกฝ่าย

อาจารย์เบญจมาศ นาคหลง โรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์ เล่าถึงการทำเรื่องเกี่ยวกับเยาวชนในหลายด้าน มองว่าครูสร้างคนโดยทักษะ และกระบวนการ ซึ่งมาลงตัวที่สุขภาวะโดยการทำหลักสูตรบูรณาการสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่คลองอู่ตะเภาไปจนกระทั่งทะเลสาบสงขลา ตอนนี้มาทำเรื่องเกี่ยวกับขยะ ฐานศูนย์ โดยเริ่มจากเอาเด็กมาเข้าค่ายต้นกล้ารักษ์คลองอู่ตะเภา เห็นและตระหนักถึงปัญหาของขยะ

 คำอธิบายภาพ : dscf0067

“เราคิดว่าแนวการสอนเด็กแบบนี้ใช้ได้ และต้องทำให้เป็นวิถี ที่ผ่านมาสอนเด็กเป็นรุ่นๆ คิดว่าพอเขาโตขึ้น จะเป็นผู้ใหญ่ทีพอเพียง เป็นคนประเภทอยากเห็นสังคมพัฒนา หวังดีต่อสังคมได้จริง”

นายไชยยันต์ แก้วมรกต ลูกศิษย์อาจารย์เบญจมาศ อดีตประธานกลุ่มเครือข่ายต้นกล้ารักษ์คลองอู่ตะเภา ปัจจุบันเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) กล่าวว่า การที่เคยทำกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เรียนมัธยม สิ่งที่ติดตัวเขามา คือสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาเล่ากรณีที่เข้าอยู่ในหอพัก ของมอ. เห็นแม่บ้านเก็บขยะมากมายไปทิ้ง เขากับเพื่อนช่วยกันเก็บขวดออกมาได้จำนวนหนึ่งให้แม่บ้านไปขาย ทำให้แม่บ้านมีแนวคิดแยกขยะไปขายเองได้ โดย ทาง มอ.เห็นด้วย ทำให้เกิดผลช่วยลดขยะส่วนนี้ไปได้ ซึ่งจุดเล็กๆน้อยๆนี่เองทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

นายอุดม ทักขระ นายกอบต.รำแดง อำเภอสิงหนคร กล่าวว่า การบริหารท้องถิ่น การจัดการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานจะไม่ทำก็ไม่ได้ แต่ทำแล้วไม่ได้คะแนนเสียงทางการเมือง ส่วนการสร้างสุขภาวะประชาชนจะมองเห็นมากกว่า

 คำอธิบายภาพ : pic4bd1613860a9b

หลายคนได้แสดงความเห็นในเวทีส่วนนี้ อย่างเช่น สมพร ปาตังตะโร ดวงดาว รัตนะ ประเด็นผู้พิการ เสาวนีย์ ประทีปทอง ประเด็นผู้สูงอายุ นงลักษณ์ ศรีชยาภิวัฒน์ ประเด็นเด็กและเยาวชน ณรงค์ สุขขวัญ จากตำบลคูหาใต้ อัจจิมา พรรณนา ประเด็นอุบัติเหตุ ขนิษฐา เสริมบุญ จากประเด็นสื่อ เป็นต้น

ยามบ่ายแก่ ๆ แดดลดความแรงลง บรรยากาศทั่วไปของงานสร้างสุขคึกคักขึ้นเป็นลำดับ เวทีกลาง นายลัภย์ หนูประดิษฐ์ ประธานเครือข่ายแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ขึ้นกล่าวต้อนรับนายสมพร ใช้บางยาง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เดินทางมาถึง

นายลัภย์ กล่าวว่าการรวมตัวของคนจำนวนมากเป็นเรื่องยาก สมัยก่อนเอางานมาเป็นตัวตั้งไม่ได้เอาใจมาด้วย จึงหลงทางมาตลอด แต่วันนี้เห็นว่าเอาใจมาด้วย สำหรับสงขลาพอเพียงจะเดินไปถึงเป้าหมายหรือไม่ ต้องดูกัน และทุกส่วนกำลังทำกันอยู่

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ นำเสนอผลงานแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ระยะที่ 1 (2550-2552) นอกจากรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังมี นายอุทิศ ชูช่วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และผู้แทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าที่ ร.ต.เสรีย์ นวลเพ็ง นายเทศมนตรีเมืองบ้านพรุ นายชิต สง่ากุลพงศ์ ประธานมูลนิธิชุมชนสงขลา และแขกผู้มีเกียรติอีกหลายท่าน

นายแพทย์สุภัทรกล่าวว่า แผนสุขภาพจังหวัดสงขลาตั้งต้นมาจากการรวมตัวของของคนกลุ่มต่างๆ เมื่อ สสส.เข้ามาในปี 2547 เกิดเครือข่ายสร้างสุขภาพ มีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอยู่ที่การประชุมของภาคีหลายฝ่าย หลังจากนั้น 4 เดือน นายสมพร ใช้บางยาง ขณะดำรงตำแหน่ง ผู้วาราชการจังหวัดสงขลาได้ตั้งกรรมการระดับจังหวัด ใช้ประชาคม เป็นกลไก ภายใต้ความร่วมมือของภาคราชการ นำมาสู่การขับเคลื่อนแผนสุขภาพ และการทำ MOU ภายใต้แนวคิดว่า สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องร่วมกัน ภายใต้หลักคิดความร่วมมือ แบบ INN และนำมาสู่โมเดลผีเสื้อ มีคำประกาศสมิหลา กำหนดเรื่องสุขภาวะเป็นวาระสำคัญของทุกองค์กร และมาถึง นายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีส่วนในการพัฒนาโมเดลดังกล่าว

 คำอธิบายภาพ : dscf008_resize

ต่อจากนั้น อาจารย์ประเสริฐ รักษ์วงศ์ แกนนำประเด็นวัฒนธรรม ได้นำเสนอผลงานแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาระยะที่ 1 ในรูปแบบของบทกลอนโนรา ซึ่งนับว่าไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อน

**...เกิดแหล่งเรียนรู้ เกิดมีผู้นำ แนวคิดกิจกรรม ทำอย่างเหมาะสม

ขยายไปจบ ช่วยจัดอบรม เกิดประชาคม มีขึ้นมากมาย...**

ตัวอย่างบทหนึ่งที่อาจารย์ประเสริฐกล่าวโดยนักแสดงจากโรงเรียนบางกล่ำวิทยาที่เกิดขึ้นจากเคลื่อนประเด็นวัฒนธรรม มาเล่นดนตรีโนรา และออกมาร่ายรำประกอบ นับเป็นสีสันอย่างหนึ่ง

การปาฐกถาพิเศษ เรื่องจากแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา สู่สงขลาพอเพียง 2554 โดยนายสมพร ใช้บางยาง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หลังจากไม่ได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ไม่ได้ทิ้งเรื่องนี้ที่เริ่มต้นเอาไว้ แต่ได้ไปทำต่อและได้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ทำงานสงขลาพอเพียงในสงขลาอยู่ตลอด และได้พบเป็นการส่วนตัวบ้างบางคน จึงขอขอบคุณกลุ่มสงขลาพอเพียงที่ได้ผลักดันมาจนถึงวันนี้

“หลักคิดสำคัญสำหรับวันนี้ สงขลาไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้ว่าราชการจังหวัด ภาคราชการ หรือใคร แต่เป็นของคนสงขลาทุกคนที่ต้องมาร่วมกันรับผิดชอบ อย่างหวังพึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือคนอื่น ให้มากกว่าตัวเองเพราะผู้ว่าเดี๋ยวก็ต้องย้าย คนที่อยู่ยั่งยืนแน่นอนคือคนสงขลาเอง ไม่ย้ายแน่ คนสงขลาต้องมีสำนึกรักแผ่นดินเกิด ”

นายสมพรกล่าวว่า อย่าให้สิ่งที่เขาพูดเมื่อปี 2548ได้หายไปกับการย้ายของตัวเอง เพราะไม่อย่างนั้นจะติดไปกับระบบเดิมๆ คือราชการ หรือผู้นำภาคราชการ หรือใครอื่น เพราะเป็นเรื่องคนสงขลา ซึ่งดีใจว่าสงขลาพอเพียงได้คุยกันสมัยตนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดได้ขับเคลื่อนต่อมากับคนสงขลา ด้วยคนสงขลา ได้เดินมาแล้วแม้ไม่ 100% ซึ่งสมบูรณ์ขนาดนั้นคงไม่มีในโลก

การขับเคลื่อนสงขลาพอเพียงทำให้ได้เห็นสำนึกต่อส่วนรวม ต่อแผ่นดินเกิด และประเทศไทย ทุกอย่างจะเดินไปจุดเดียวกัน ปัญหาที่เกิดกับสังคมไทยขณะนี้เกิดมาจากการคิดส่วนตัวมากเกินไปต้องตัดความคิดแบบนั้นออกไป สำหรับสงขลามีคนที่เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นตัวอย่างอยู่แล้วในเชิงพอเพียง และมีทุนเชิงคุณภาพอยู่มาก เห็นได้จากกลุ่มสัจจะออมทรัพย์วันละบาทสามารถผลักดันจนกลายเป็นนโยบายระดับชาติมาแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีก็เดินทางลงมาประกาศเรื่องนี้เองที่สงขลา นั่นเกิดจากคนสงขลาได้ทำ ทุ่มเท จนกลายเป็นตัวอย่างให้กับคนที่อื่น เป็นจังหวัดนำร่องทางประชาคม ขยายไปสู่ส่วนอื่นทั่วประเทศไทย

“ผมคิดว่าความแข็งแกร่งของสงขลา อยู่ที่ภาคประชาคมแกร่งที่สุดถ้าเทียบกับที่อื่นของประเทศไทย”

นายสมพรยังเห็นว่าสงขลาเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีมหาวิทยาลัยมากที่สุด ซึ่งเมื่อก่อนคนคิดว่าสถาบันการศึกษา ไม่เหมาะกับชาวบ้านจะไปวุ่นวาย เพราะเป็นแหล่งของคนที่มีความรู้ แต่แนวคิดเปลี่ยนไปแล้ว สถาบันการศึกษาต้องเป็นมหาวิทยาลัยของชุมชน เอาความรู้มาให้ชาวบ้าน ชาวบ้านต้องนำความรู้มาใช้ประโยชน์ ต้องคอดเสียใหม่

“ถ้าไม่คิดใหม่ ชาวบ้านจะขาดองค์ความรู้ ทำให้เสียเปรียบคนในเมือง ขาดโอกาสคนกลุ่มอื่น” รองปลัดกระทรวงมหาดไทยยังดีใจที่มหาวิทยาลัยในจังหวัดสงขลาได้ปรับตรงนี้ ยกกรณีที่ได้ทำงานร่วมกับ อาจารย์พงค์เทพ (สุธีรวุฒิ) ก็ต้องการดึงมหาวิทยาลัยออกไปหาชาวบ้าน อยากให้ชาวบ้านกล้าเข้าไปในมหาวิทยาลัยเพื่อหาความรู้ เพื่อชดเชยส่วนนี้ที่ขาดหายไปในอดีต และส่งเสริมให้ลูกหลานเข้าเรียน เพราะโลกต่อไปคงปฏิเสธความรู้ไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านต้องคิดและปรับเปลี่ยน

ทางภาคราชการนายสมพรมองว่า ภาคราชการมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุข และแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน ระหว่างรับตำแหน่งที่สงขลาได้พยายามดึงภาคส่วนต่างๆเขามาร่วม และเห็นว่าจนถึงทุกวันนี้ยังทำงานร่วมกับภาคประชาคมอยู่ ส่วนภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนหลายภาคส่วน และเป็นหลักทางเศรษฐกิจ

“ทำงานร่วมกันมาก็ดีใจว่าหลายส่วนช่วยกัน หอการค้าก็ร่วม ทราบว่ากำลังมีมูลนิธิ (มูลนิธิชุมชนสงขลา) ก็จะนำไปสู่สงขลาพอเพียง ภาคธุรกิจ เอกชน มองกำไรอย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ ต้องแบ่งกำไร ความคิด ความร่วมมือลงสู่สังคมให้ได้”

การปกครองส่วนท้องถิ่น นายสมพรมองว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นสู่พี่น้องประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญในสังคมไทย แต่ยอมรับว่ายังอยู่ในช่วงการพัฒนา ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ในอนาคตจะมีบทบาทแทนภาคราชการในบทบาทของท้องที่ เป็นการกระจายอำนาจสู่ประชาชนไม่ใช่ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“อนาคต ท้องถิ่นต้องมีบทบาทหลักในฐานะผู้ปฏิบัติ ในท้องที่และประชาชนเลือกเข้ามา ประชาชนก็จงอย่ากลัวนายกต่างๆ เพราะเขาต้องเข้ามารับใช้สังคม ประชาชนจะต้องตรวจสอบเขาและต้องบอกเขาว่าเราต้องการอะไรต้องปรับแนวคิด จากที่คอยแต่ระบบอำนาจ มาเป็นประชาชนเป็นใหญ่ แต่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อต้องรอการพัฒนาไปสักระยะหนึ่ง ประชาชนเองต้องปรับวิธีคิดเหมือนกัน ” นายสมพรกล่าว การปรับวิธีคิดของประชาชนจึงจะเกิดประชาธิปไตยจริงๆ เสียที มองการเมืองทุกวันนี้ว่า ต่างเข้าไปหาประโยชน์ตัวเอง หรือพรรคพวกตัวเอง ต้องโทษประชาชนด้วยเหมือนกันที่ไม่ได้ทำหน้าที่ส่วนนี้อย่างจริงจัง

“ผมบอกกับทีมงานเสมอว่าต้องทำงานกับท้องถิ่นให้ได้ ผูกโยงเป็นเรื่องเดียวกัน และทำให้ยั่งยืน ท้องถิ่นจะได้รับงานไปทำให้เกิดความต่อเนื่อง งานไม่สูญหาย ขาดตอน เมื่อเกิดความเชื่อมโยงกับท้องถิ่น สำหรับสงขลานับว่ามีจุดแข็ง เพราะเชื่อมโยงไปถึงภาคส่วนอื่นๆอีกไม่ว่า ศาสนา วัฒนธรรม ..”

การพัฒนาคนเพิ่งมีการพูดถึงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 และขณะนี้ถือว่ายังไม่ได้ทำอะไรชัดเจน นายสมพรมองว่าการพัฒนาที่มุ่งไปในเรื่องวัตถุ นิยม ทุนนิยม เป็นเรื่องอันตราย เพราะคนไม่ห่วง รับผิดชอบสังคม ปล่อยเป็นตามแนวทางนั้น บ้านเมืองไม่รอด เห็นว่าปัญหาที่เผชิญอยู่ล้วนแต่เป็นปัญหาสังคมทั้งนั้น ปัญหาเศรษฐกิจที่มีแก้ง่ายกว่า แต่ถ้าสังคมตาย ก็จะตายกันหมด ถึงเวลามามองสังคม เปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาจากสร้างเจดีย์จากยอดมาสร้างจากฐาน คือพัฒนามาจากข้างล่าง จึงจะพาสังคมไปรอด โดยเริ่มจากทุกคนมีเป้าหมายเพื่อส่วนรวม ประเทศชาติ

สำหรับสุขภาวะเป็นมิติใหม่ อยากให้สังคมสงขลาอยู่กันอย่างมีความสุข ทุกมิติ และยั่งยืน ซึ่งงานของสงขลาพอเพียงอยากฝากให้ท้องถิ่นรับช่วง เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ถึงความต้องการของประชาชนที่มีความคาดหวังอยากมีความสุข การขับเคลื่อนเรื่องนี้ต้องให้กำลังใจ ช่วยเหลือกัน เอาใจเข้าหากัน

หลังปาฐกถาของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเสรี ศรีหะไตร ได้ขึ้นมาประกาศวาระสงขลาพอเพียง 2553 เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลังจากนั้น นายอุทิศ ชูช่วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ลั่นฆ้องในพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ

นายอุทิศกล่าวว่า ก้าวของสงขลาพอเพียงเป็นก้าวที่คนสงขลาภาคภูมิใจ เป็นก้าวเล็กๆที่ครอบคลุมมากกว่ามิติสุขภาพ แต่หมายถึง มิติสังคม อันหมายถึงความรักสามัคคี มิติเศรษฐกิจคืออาชีพพอเพียง มิติสิ่งแวดล้อม มิติแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 คำอธิบายภาพ : pic4bd1613860a9b

“การจะสำเร็จก้าวสู่สงขลาพอเพียง คิดว่าต้องได้รับความร่วมมือของภาคทุกส่วน อบจ.ขอประกาศกับทุกภาคี เครือข่ายว่าจะร่วมมือ สนับสนุนในการขับเคลื่อนไปสู่สงขลาพอเพียงร่วมกับทุกภาคส่วน”

แดดร่มลมตก เป็นจังหวะแขกมาร่วมงานเดินชมทุกส่วนอย่างมีความสุข เกาะกลางน้ำซึ่งเป็นโซนครอบครัวมีกิจกรรมดึงดูดความสนใจ ให้บรรยากาศครอบครัวโดยแท้จริง ถนนคนเดินบ้านพรุมีชีวิตขึ้นมา ขณะที่เวทีกลางใต้ต้นไม้ย้ายขึ้นเวทีใหญ่ เปิดการแสดงของเครือข่ายสุขภาพ โดยเฉพาะประเด็นวัฒนธรรม และการแสดงดนตรีของตำรวจตระเวนชายแดน

ครั้นความมืดค่อยโรยตัว แสงไฟสว่างไสวทั่วสวนสาธารณะพรุค้างคาว ยินเสียงหนังตะลุงน้ำ โหมโรงแว่วมา ..เป็นอีกวันหนึ่งที่ผู้ร่วมงานมีความสุขสมกับชื่องาน.

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว