สถานสงเคราะห์เด็ก
บุญเรือง ปลอดภัย (14 มิ.ย.52)
คนเราเลือกเกิดไม่ได้ ทุกคนย่อมต้องการเกิดมามีทุกอย่างที่เพียบพร้อมสำหรับชีวิตตัวเอง แต่ที่สำคัญของแต่ละชีวิต ก็คือ การไม่มีโรคถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐของสิ่งมีชีวิต
มีโอกาสได้เข้าไปสถานสงเคราะห์เด็กบ้านสงขลาเนื่องจากน้อง ๆ โรงเรียน หาดใหญ่รัฐประชาสรรค์ไปทำกิจกรรม มีความรู้สึกว่าบรรยากาศข้างในคล้าย ๆ กับโรงเรียน เพราะมีอาคารคล้ายโรงเรียน แบ่งเป็นสัดส่วน มีสนามเด็กเล่น อาคารแยกสำหรับเด็กแต่ละช่วงอายุ
การอุปการะเลี้ยงดูเด็กของสถานสงเคราะห์ เช่น เด็กกำพร้า อนาถา ถูกทอดทิ้ง เร่ร่อน และบางส่วนก็เป็นเด็กที่พ่อแม่แยกทางแล้วมีครอบครัวใหม่กลัวว่าลูกจะเข้ากับพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงไม่ได้ แม่ถูกจำคุก กักขัง พิการ ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง ยากจน เป็นผู้เยาว์ ถูกทำร้าย โรคจิต โรคประสาท ผู้ปกครองมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และเด็กติดเชื้อ ซึ่งทางสถานสงเคราะห์ อุปการะเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่อายุแรกเกิดถึง 20 ปี สำหรับเด็กผู้หญิง ส่วนเด็กผู้ชาย อายุแรกเกิดถึง 6 ปี จะส่งต่อไปยังสถานสงเคราะห์อื่นที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย
เด็กที่ทางสถานสงเคราะห์รับไว้ในการอุปถัมภ์ตั้งแต่แรกเกิดเมื่อมาอยู่สถานสงเคราะห์ทางสถานสงเคราะห์ก็จะตั้งชื่อ ให้ส่วนนามสกุล จะใช้นามสกุลกลางของสถานสงเคราะห์ ก่อนจะรับเด็กเข้ามามีการตรวจสุขภาพเด็กทุกคน
เด็กในสถานสงเคราะห์ทุกคนเมื่ออายุถึงเกณฑ์ที่ต้องเรียนหนังสือทางสถานสงเคราะห์ก็จะส่งไปเรียนสถานศึกษาในเขต อำเภอเมืองสงขลา แต่เป็นโรงเรียนของรัฐบาล จะมีรถรับส่งของสถานสงเคราะห์ จะมีบางคนที่เรียนจบ ป.6 หรือ ม.3 หรือออกจากโรงเรียนกลางเทอม ทางสถานสงเคราะห์ก็จะส่งไปเรียนโรงเรียน กศน. เพื่อให้เด็กได้เรียนด้านอาชีพ เด็กจะได้มีอาชีพติดตัวสามารถออกไปประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ บางรายก็ต้องไปอยู่หอพัก สำหรับคนที่อยู่หอพักตอนเช้าวันจันทร์ทางสถานสงเคราะห์ก็จะไปส่งที่โรงเรียนวันศุกร์เย็นก็ไปรับ เสาร์ อาทิตย์ อยู่สถานสงเคราะห์ ส่วนเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการทางสมองช้าจะส่งไปเรียนเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา
สิ่งดี ๆ สำหรับน้อง ๆในสถานสงเคราะห์บ้านสงขลาที่สังเกตได้ชัด คือ เด็กในสถานสงเคราะห์แต่ละช่วงอายุจะมีน้ำหนักตัวใกล้เคียงกันเด็กอ้วนจะไม่มี และสุขภาพในช่องปากเด็กที่นี่ไม่ค่อยมีปัญหา ฟันผุมีน้อยมากแทบจะไม่มี เนื่องจากเด็กที่นี่ต้องอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์อยู่ตลอดโอกาสที่เด็กจะได้กินลูกอมหรือขนมขบเคี้ยว รวมทั้งน้ำอัดลม และกินจุกจิกเด็กที่นี่มีโอกาสน้อยมาก เพราะทางสถานสงเคราะห์จะให้กินอาหารเป็นเวลา หลังรับประทานเสร็จก็จะแปรงฟัน พอเวลาว่างก็จะจัดกิจกรรมนันทนาการ ออกกำลังกายให้กับเด็ก ส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสือเวลาว่าง
เด็กที่นี่จะดื้อกว่าเด็กปกติ นิสัยก้าวร้าว เมื่อเห็นคนแปลกหน้ามาจะดีใจ ถ้าเอาอกเอาใจมาก ๆ จะทำให้เด็กเหงา และร้องไห้หลังจากกลับไปแล้ว เนื่องจากเด็กที่นี่มาจากครอบครัวที่มีปัญหา บางคนเวลาไปโรงเรียนจะมีนิสัยลักขโมย ทะเลาะกับเพื่อน เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยที่ทางสถานสงเคราะห์รับทราบมาจากโรงเรียนที่ส่งเด็กไปเรียน เด็กที่นี่ถ้าหากเค้าไม่ได้ตามที่ใจต้องการก็จะแสดงออกทันที่ว่าชอบ หรือไม่ชอบ ส่วนใหญ่เวลาทำกิจกรรมเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กแต่ละช่วงอายุจะต้องมานั่งดูการทำกิจกรรมเด็กด้วยเพื่อประเมินพฤติกรรมเด็กรายบุคคล แต่ละคนกว่าจะรู้นิสัยใจคอต้องใช้เวลา สายตาแต่ละคู่ที่จ้องมาทำให้เห็นถึงสายตาแห่งการรอคอย โหยหาความรักความอบอุ่น
เด็กบางคนที่โชคดีมีพ่อแม่อุปถัมภ์รับไปเลี้ยงดู ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ แต่พ่อแม่อุปถัมภ์คนไทยบางคนเมื่อเอาเด็กไปเลี้ยงได้ระยะหนึ่งแล้วนำเด็กกลับมาส่งคืนสถานสงเคราะห์ เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอในการเลี้ยงดู เด็กเมื่อกลับมาอยู่ในสถานสงเคราะห์ช่วงแรกจะซึมเศร้า ร้องไห้ งอแง บางรายไม่ยอมกินอะไรเลย ส่วนเด็กที่พ่อแม่อุปถัมภ์เป็นคนต่างชาติจะรับเลี้ยงดูเป็นอย่างดี และถาวร
สิ่งของเครื่องใช้ที่ทางสถานสงเคราะห์จำเป็นต้องใช้ทุกวัน คือ ข้าวสาร ไข่ไก่ นมผงดูเม็กซ์ นมยูเอสที ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ขนาด L ,XL ของเล่นที่เสริมพัฒนาการเด็ก เสื้อผ้า
สังคมทุกวันนี้ปัญหาเกิดขึ้นเยอะมาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเด็กและครอบครัวเป็นปัญหาที่สำคัญมากและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปัญหาลดน้อยลงสังคมจะได้มีความสุข
Relate topics
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 82: เภสัชวิทยาแห่งดอกดิจิทัลลิส
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 81: ประปาดื่มได้
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 80 : วัวนมกับเกษตรวิถีแห่งโลกตะวันตก
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 79: ทุ่ง rapeseed กับคุณลุงชไมเซอร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 78: บรัสเซลส์ เมืองหลวงแห่งยุโรป
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 77 : ประท้วง สิทธิในการแสดงออกที่ต้องขออนุญาต
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 76 : แต่ระบบสวัสดิการสังคมในยุโรปกำลังสั่นคลอน
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 75 : ย่านโคมแดง แข่งแสงจันทร์
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 74 : เวลา นาฬิกา และชีวิตที่ต้องเดินเร็ว
- เรื่องเล่าจากเบลเยียม 73: หลังคาพลังแสงอาทิตย์





