สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สิบโทอุดม เพ็ชรธนู จากนักรบมาเป็นนักอนุรักษ์

by punyha @2 ธ.ค. 52 09:57 ( IP : 114...142 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
photo  , 640x480 pixel , 21,384 bytes.

สิบโทอุดม เพ็ชรธนู จากนักรบมาเป็นนักอนุรักษ์

“รถถูกซุ่มยิง..ผมบาดเจ็บพิการ ชีวิตทหารเลยหยุดเท่านั้น”

นาทีชีวิตพลิกผันยังอยู่ในความทรงจำของสิบโทอุดม เพ็ชรธนู ประธานคณะทำงานกลุ่มอนุรักษ์คลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

เขาเกิด พ.ศ.2502 ริมสายน้ำคลองแห ไม่ไกลจากวัดและโคกนกคุ่มสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต้นตำนานคลองแห อุดมไปจบมัธยมต้นที่จังหวัดสตูล หลังรับการเกณฑ์ทหารแล้วต่อเข้าเป็นนักเรียนนายสิบปี 2523 จึงเข้ารับราชการทหารยศสิบตรี สังกัดกองทัพแห่งชาติอยู่แค่ 3 เดือน

“ชุดของเราได้รับมอบหมายภารกิจดูแลพื้นที่ทั่วภาคใต้ ที่ดังหน่อยก็สมรภูมิค่าย 508 ที่ช่องช้าง ปราบที่นั่นเสร็จลงมาทางเบตง วันนั้นรถถูกซุ่มยิงรถหักหลบตกเขาพลิกคว่ำ ผมแขนหักแล้วแต่ยังมีสติอยู่ ยังเห็นทางไฟ(ปืน)ฝ่ายตรงข้าม จึงคว้าปืนใครได้ไม่รู้พยายามยิงตอบ พอพลิกตัวจะยิงเท่านั้นรู้สึกว่าถูกยิงจึ๊กเข้าไปในโคนขา ผมค่อยหมดแรงมารู้สึกตัวอีกทีอยู่โรงพยาบาลเขาผ่าตัดให้แล้ว”

อุดมรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนาน 2 ปี กลายเป็นทหารผ่านศึก ข้าราชการบำนาญพิเศษยศสิบโท ครั้นร่างกายพอจะใช้ชีวิตตามปกติได้บ้าง จึงกลับบ้านหันมาทำงานเป็นช่างเหล็ก

“ผมเคยทำงานกับมูลนิธิสายใจไทยซึ่งสมเด็จพระเทพฯท่านทรงดูแลทหารผ่านศึกฝึกประกอบอาชีพตอนนั้นผมเลือกฝึกการเจียระไนพลอย ทำเครื่องหนัง แต่พอกลับมาบ้านไม่ได้ทำต่อเพราะไม่มีตลาดและอุปกรณ์”

สำหรับงานช่างเหล็กเขาไม่ได้เรียนมาก่อนอาศัยครูพักลักจำ อาศัยมีเพื่อนมากมาก มีคนช่วยเหลือ งานนี้จึงโตเร็วต่อมามีลูกน้อง 20 กว่าคน รับทำงานหลายประเภท ตั้งแต่เหล็กดัดในบ้านกระทั่งรับเหมาทำปั๊มน้ำมัน โรงเรียน แฟลต ฯลฯ

ระหว่างเป็นช่างเหล็กเขาพยายามช่วยเหลือสังคม โดยเสนอทำเสาธงเหล็กให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน โดยทางโรงเรียนช่วยออกวัสดุ หินทราย เขาจัดหาปูน เสาธง ผืน ธง เชือก สามารถช่วยสร้างเสาธงได้ 60 กว่าโรงเรียน วิกฤติในปี 2540 ธุรกิจช่างเหล็กของเขาประสบภาวะขาดทุน

“ไม่มีอะไรเหลือ ผมว่างงานมาถึงปี 2542 พอปี 2543 น้ำท่วมใหญ่ หลังน้ำท่วมท่านเจ้าอาวาสวัดคลองแหองค์ก่อนมรณภาพลง ต่อมาพระครูปลัดสมพร ฐานธมฺโม มาเป็นเจ้าอาวาสแทน” อาศัยความคุ้นเคย อุดมซึ่งมีโอกาสคุยกับพระครูปลัดสมพร บ่อยๆ ได้เห็นปัญหาร่วมกันอย่างหนึ่งว่า สายน้ำคลองแหกำลังเต็มไปด้วยขยะและ น้ำเสีย

“ตอนนั้นเองที่เริ่มคิดฟื้นฟูคลองแหกัน ผมหาพรรคพวก 3 - 4 คนมาร่วมพัฒนาคลอง ปี2544 นั้นสำหรับผมรายได้เลี้ยงครอบครัวมาจากบำนาญอย่างเดียว งานช่างเหล็กเริ่มไม่มีแล้วลูกน้องเหลือ 4-5 คนแล้วค่อยทยอยออกไปจนหมด ผมเองหันไปช่วยพ่อท่าน(เจ้าอาวาส) ลอกคลอง”

สภาพคลองแหขณะนั้นอุดมเล่าว่า รก น้ำเสีย และเหม็นมาก สภาพขยะที่อยู่ในคลองหนาแน่นแออัดยัดเยียด จนชาวบ้านเห็นพ้องกันว่าถ้าเกิดมีประกายไฟขึ้น สามารถลุกลาม “ไฟไหม้คลอง”ให้เห็นเป็นแน่

อุดมช่วยพระครูปลัดสมพรลอกคลองแห ได้ระยะทางหลายกิโลเมตร การดำเนินการจะหาเวลาว่างนัดคนที่มีจิตอาสามาทำใช้เวลานับเดือน

“จากแรกๆมีไม่ถึง 10 คนใช้แรงมือ ตอนหลังเพิ่มมาเป็น 50 คน เป็น 100 คน มีหน่วยงานเข้ามาช่วย”

งานอาชีพช่างเหล็กค่อยเลิกรา บวกกับสภาพร่างกาย ผลพวงบาดเจ็บจากการสู้รบ ยังเกิดอาการเจ็บ แขนชา ยกไม่ขึ้น เขาจึงหันมาทำงานสังคมเต็มเวลา

กระบวนการฟื้นฟูสภาพน้ำในคลองแห เขาเป็นผู้นำเทน้ำหมักชีวภาพลงคลองนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่คนเพิ่งจะรู้จัก

ที่มาเกี่ยวกับเรื่องนี้อุดมเล่าว่า ในปี 2543 พลเอกหาญ ลีนานนท์ อดีตแม่ทัพภาค 4 ซึ่งเป็นเจ้านายเก่ามาชวนไปทำน้ำหมักชีวภาพที่จังหวัดสตูล

“เป็นโครงการของท่านแม่ทัพหลังแกเกษียณ ท่านหาลูกน้องเก่าไปเรียนรู้ หัดทำน้ำหมัก ไปดูงานสระบุรี กลับมาทำเองที่สตูล เทดลองสูตรทำกันมาเรื่อยๆ ใช้เศษอาหาร สับปะรด เป็นหลัก เป็นน้ำหมักชีวภาพที่นำไปใช้ในนากุ้ง บ่อปลา ได้ผล ผมเกิดความคิดว่าน่าจะเอามาใช้ในคลองบ้านเราก็ขนมาจากสตูลมาเทลงในคลอง ”

ตอนนั้นน้ำหมักชีวภาพยังไม่แพร่หลาย ใครเห็นต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า น้ำอะไรก็ไม่รู้กลิ่นเหม็นเหลือเกิน “คนไม่ยอมรับก็หาว่าเราบ้า”อุดมเล่า

หลังจากเทน้ำหมักลงคลอง ปรากฏว่าน้ำคลองที่มีกลิ่นเน่าเหม็นเริ่มดีขึ้น เกิดการตอบรับขยายวงกว้างออกไปโดยเฉพาะคนที่ทำงานสิ่งแวดล้อม กระทั่งพัฒนาเป็นการเริ่มชักชวนกันเอาจุลินทรีย์แบบก้อนเข้ามาทิ้งลองคลองในประเพณีวันสำคัญของท้องถิ่น เช่นแข่งเรือ ลอยกระทง กัลยาณมิตรทางสังคมเหล่านั้นเองเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดเป็นกลุ่มอนุรักษ์คลองแห มีพระครูปลัดสมพรเป็นแกนนำ

“ฝ่ายชาวบ้านมีผมเป็นแกนนำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หลายคนเข้ามาร่วม ปี 2548 โครงการวัฒนธรรมพื้นบ้านประสานวัดได้จัดตั้งขึ้นมีงบ สนับสนุนจาก สสส. และ พอช. สนับสนุนการทำกิจกรรมสิ่งแวดล้อม และประวัติหมู่บ้าน”

กรณีน้ำหมักได้เริ่มทำอย่างจริงจัง จาก 4-5 ถัง เป็น 20-30 ถัง เมื่อนำไปเทลงคลองมากจะได้ผลชัดเจนว่าคุณภาพน้ำดีขึ้น คนที่รับรู้ก็เข้ามาช่วยมากขึ้น

เมื่อสิ่งแวดล้อมดีขึ้นเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นด้านต่างๆในเวลาต่อมา

เริ่มตั้งแต่การฟื้นฟูประเพณีลากพระที่ขาดหายไป การหันมาสนใจประวัติชุมชน โดยการเอาคนเฒ่ามาช่วยกันเล่าเรื่องชุมชน มาเป็นการสืบค้นตำนานคลองแหอย่างเป็นระบบ

จากการทำประวัติชุมชนคลองแห พบว่าที่ดินในคลองแหส่วนใหญ่สมัยอดีตเป็นเรือกสวนไร่นา ของ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี เจ้าเมืองสงขลา ชาวบ้านดั้งเดิมจึงน่าจะเป็นคนเฝ้าสวนของเจ้าเมืองสงขลามาก่อน กระทั่งได้รับมอบที่ดินในเวลาต่อมา โคกนกคุ่ม หรือ โคกคุ่ม ซึ่งห่างจากบ้านของอุดมไม่กี่ร้อยเมตรเป็นพื้นที่สำคัญในตำนานคลองแห

“ชื่ออย่างนั้นเพราะว่ามีนกคุ่มมาก โคกนกคุ่มเคยเป็นเกาะกลางคลอง เป็นที่ฝังสมบัติตามตำนาน ตอนเล็กผมได้ฟังเรื่องแบบนี้จากแม่เฒ่า”

เรื่องเล่าสูญหายไปตามยุคสมัย ชุมชนคลองแหเปลี่ยนแปลง จากหมู่บ้านที่นับญาติกันได้หมด เป็นคลองแหยุคใหม่ ที่มีคนต่างถิ่นอพยพเข้ามาอยู่จำนวนมาก

การทำโครงการคนเฒ่าเล่าเรื่องจนได้ประวัติคลองแหขึ้นมา ทางกลุ่มอนุรักษ์คลองแหจึงได้จัดงานย้อนตำนาน คลองแหครั้งที่ 1 เมื่อปี 2549 ได้งบประมาณสนับสนุนจำนวนหนึ่งจาก สสส. และ พอช. ซึ่งเป็นงบประมาณที่ใช้ทำงานขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมไปด้วย

“งบไม่พอครับ แต่คณะทำงานเราไม่เอาค่าตอบแทน ชาวบ้านมาช่วยสมทบอีกตามแต่กำลังศรัทธา 10 -20 บาท เราจึงถือว่าได้จัดตำนาน คลองแหครั้งแรกโดยความร่วมมือของประชาชนทั้งตำบลคลองแห”

หลังการจัดงานย้อนตำนานคลองแหครั้งแรก ชาวบ้านเกิดการตื่นตัว เกิดการมีส่วนร่วมอย่างสูง การจัดงานย้อนตำนานคลองแหครั้งที่ 2 เมื่อปี 2550 จึงอาศัยแรงศรัทธาชาวบ้านโดยไม่ต้องขอการสนับสนุนจากภายนอก

กระทั่งงานย้อนตำนานครั้งที่ 3 ปี 2551 เปลี่ยนไป เพราะเทศบาลเมืองคลองแหเห็นว่างานนี้มีคนสนใจจึงรับไปจัดการเองหมด บทบาทการย้อนตำนานของกลุ่มรักษ์คลองแหจึงยุติไป แต่อุดมเห็นว่ากิจกรรมที่หยุดไม่ได้คือสิ่งแวดล้อม น้ำในคลองแหยังเสียมาก การรณรงค์ชาวบ้านให้ทำน้ำหมักชีวภาพเอาไปเทลงคลองก็ยังไม่ได้ผลจริงจัง นับตั้งแต่ปลายปี 2550 อุดมหันมาคิดค้นผลิตภัณฑ์ชีวภาพเกี่ยวเนื่อง เขาทดลองทำน้ำยาเอนกประสงค์ด้วยตนเอง

“มานั่งคิดดูน้ำที่ใช้ในครัวเรือนมันจะเทลงคู จากคูเล็กไปลงคูใหญ่ จากคูใหญ่ไปลงคลอง มานั่งเทจุลินทรีย์ลงคลองทุกวันมาแก้ปลายเหตุ ทำไมไม่แก้ที่ต้นเหตุ เลยคิดเรื่องน้ำยาเอนกประสงค์ชีวภาพสำหรับซักผ้า ล้างจาน” อุดมเริ่มจากทำแจก แล้วสอนให้ชาวบ้านทำใช้เอง จากหมู่บ้านตัวเอง ออกไปตามกลุ่มต่างๆ เข้าโรงเรียน กระจายออกไปกว้าง ถึงอำเภอบางกล่ำ พื้นที่ริมคลองอู่ตะเภา อันเชื่อมต่อกับคลองแห

เขาศึกษาทดลองทำในหลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ น้ำยาเอนกประสงค์ชีวภาพ น้ำยาไล่แมลงชีวภาพ ยากำจัดวัชพืชจากน้ำหมักชีวภาพ การผลิตก๊าซชีวภาพ เตาเผาถ่าน เครื่องอัดถ่านเป็นแท่ง น้ำส้มควันไม้ เป็นต้น

การประดิษฐ์ ดัดแปลง อุปกรณ์ต่างๆ ฐานความคิด ได้มาจากการเป็นช่าง ทำให้มองได้เร็ว อุดมเล่าว่าสิ่งที่เขาคิดทำแต่ละอย่างต่างจากคนอื่น ไม่ได้ลอกเลียนใครมาโดยตรง แต่มักจะเป็นการ ค้นคว้า ทดลอง พิสูจน์ ทำโดยตัวเอง

“ผมมีพื้นฐานที่ได้เห็นคนรุ่นก่อนทำ อย่างก๊าซชีวภาพใครว่าเป็นของใหม่ ตอนผมเรียนอยู่ประถมลุงของผมทำแล้วตามประสาชาวบ้านแกใช้ถังซีเมนต์หมักขี้วัว แล้วใช้ฝาชีสังกะสีครอบ ต่อท่อนำก๊าว หัวเตาไม่มีใช้ก็ใช้หัวบัวเครื่องสูบน้ำมาแทน”

เขาพบว่าการเผาถ่านนอกจากได้ถ่านก้อน ยังได้น้ำส้มควันไม้และยังมีถ่านผงที่คนทั่วไปมักไม่ได้ใช้ประโยชน์เขาคิดอัดถ่านผงเป็นแท่ง

“ดูจากเวบไซต์เขาแนะนำเครื่องอัดราคาเป็น 2-3หมื่น อย่างนั้นชาวบ้านจะทำอย่างไร ก็คิดเครื่องอัดถ่านผงขึ้นมาเอง ต้นทุน 1,000 กว่าบาท แต่ได้เครื่องอักแล้วไม่รู้จะอัดอย่างไรให้ถ่านติดเป็นก้อน จนพบว่าเอาแป้งเปียกมาผสมพอได้ผลก็ไปบอกชาวบ้านคนอื่น”

การเผาถ่าน เขาเน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ วัสดุที่นำมาเผาจึงเน้นเปลือก สะตอ ที่แคะเมล็ดออกแล้ว เปลือกเงาะ ทุเรียน มังคุด สับปะรด และผลไม้ทุกชนิด ถ่านที่ได้ออกมาบางอย่างยังคงสภาพผลไม้แบบเดิม มีแนวความคิดเอาไปใช้ในการดูดกลิ่นตู้เย็น ถ้าแตกหักเอาไปอัดแท่ง

น้ำส้มควันไม้ใช้ไล่แมลงได้แต่อุดมยังคิดต่อเรื่องสารไล่แมลงแบบธรรมชาติ ใช้สมุนไพร เครื่องแกง พวก ข่า ตะไคร้ เอามาปั่น หรือตำ เอาผ้าขาวกรองคั้นน้ำไปผสมเหล้าขาว ส่วนยาปราบวัชพืชใช้ เกลือ นำตาลทราย ผงชูรส ผสมน้ำยาเอนกประสงค์ชีวภาพ

“ทุกวันนี้ ผมไม่มีรายได้จากงานอื่นนอกจากเงินบำนาญ แต่อยากตอบแทนสังคม แทนที่จะกินเงินเดือนเปล่า ๆ เพื่อนว่าบ้าที่เห็นว่าเราเอาเงินไปช่วยคนอื่น แต่ผมบอกว่าสิ่งที่ได้รับ ถ้ากระจายออกสู่สังคมต้องทำ แทนที่จะนั่งกินเงินเดือนเปล่าๆ ก็ภาษีของประชาชน”

นอกจากเป็นนักเคลื่อนไหวในบทบาทกลุ่มอนุรักษ์คลองแห ที่เขาเป็นประธาน ทุกวันนี้อุดมมีภาระ ภาระการเป็นวิทยากรสอนความรู้ ต่างๆที่เขาประดิษฐ์คิดค้น พัฒนาต่อ เกือบทุกวัน ทั้งที่บ้าน และนอกสถานที่ และเขามุ่งมั่นจะทำหน้าที่ทางสังคมนี้ต่อไป

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว