สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สธ.เตือนถึงตาย โรคคุชชิ่งซินโดรม พวกหาซื้อกินเอง ทั้งยาหม้อ-ยาชุด

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นพ.มรกต กรเกษม รมว.กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เปิดเผยเกี่ยวกับปัญหาการใช้สารสเตียรอยด์ ว่า สธ.โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ศึกษาความชุกของปัญหาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการใช้สารที่มีสเตียรอยด์ปะปน โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยได้สำรวจผู้ป่วยอายุ 15ปีขึ้นไป ที่เข้ารับการรักษาในแผนกอายุรกรรม ของโรงพยาบาล 10 แห่ง ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน2547 รวม 8,876 ราย พบว่าผู้ป่วย 1,985ราย มีประวัติ หรืออาการแสดงที่บ่งชี้ว่าน่าจะเคยใช้สารที่มีสเตียรอยด์ปะปนมาก่อน ในจำนวนนี้ร้อยละ62 หรือ 1,258ราย ซื้อยามาใช้เองถึง 1,534ครั้ง โดยยาที่นิยมใช้มากที่สุดได้แก่ ยาชุด 404ครั้ง รองลงมาเป็นยาหม้อ 361ครั้งและยาลูกกลอน 334ครั้ง สำหรับปริมาณที่ใช้โดยเฉลี่ย ยาชุดใช้วันละ 4 ชุด ยาหม้อกินวันละ 2 แก้ว ส่วนยาลูกกลอนกินวันละ 3 เม็ด ระยะเวลาใช้ยามีตั้งแต่ 1 วันจนถึง 600 เดือน

ทั้งนี้ อาการข้างเคียงจากการใช้สารสเตียรอยด์ ที่สำคัญได้แก่ ใบหน้ากลม มีไขมันพอกที่ต้นคอด้านหลังเป็นหนอก ผิวหนังบาง มีรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา หรือที่เรียกว่า คุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing's Syndrome) ซึ่งเป็นอาการเฉพาะของการได้สารสเตียรอยด์มากเกินขนาด พบในการศึกษาครั้งนี้ 48 ราย รองลงมาคืออาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด บางรายความดันโลหิตสูง เป็นเบาหวาน โดยที่ไม่น่าจะเป็น ซึ่งผู้ที่มีอาการแสดงของคุชชิ่ง ซินโดรมแล้ว จะมีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตจากภาวะพร่องฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตสูงถึง 12 เท่า เสี่ยงกระดูกหักจากกระดูกผุ 23 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการแสดงของคุชชิ่ง ซินโดรม นอกจากนี้ ยังมีอาการข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ กระเพาะอาหารเป็นแผล กระดูกผุ ภูมิคุ้มกันลดลงจนติดเชื้อได้ง่าย ระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นได้

นพ.มรกต กล่าวด้วยว่า จากการศึกษาพฤติกรรมการรักษาตัวของคนไทยพบว่า เมื่อเจ็บป่วยมักจะรักษาด้วยตนเองเป็นอันดับแรก จึงมีโอกาสที่จะได้รับสารสเตียรอยด์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และเกิดอาการข้างเคียงดังกล่าวตามมาได้ การใช้ยาสเตียรอยด์จึงต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการออกกฎหมายให้ยาสเตียรอยด์เป็นยาควบคุมพิเศษ ขายได้เฉพาะร้านขายยาที่มีเภสัชกรดูแลตลอดเวลาและต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น แต่ยังคงพบปัญหาการใช้สารสเตียรอยด์โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์โดยตลอด และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เบื้องต้นได้สั่งการสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เฝ้าระวัง ตรวจสอบการจำหน่ายยาในพื้นที่อย่างเข้มงวด และมอบหมายให้ อย. ประชุมชี้แจงขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านขายยา โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ให้เข้มงวดในเรื่องนี้ เพื่อดูแลให้มีการใช้ยาสเตียรอยด์อย่างเหมาะสมต่อไป

วันที่ 2/7/2007 แนวหน้าออนไลน์

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว