สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

แนวรบ “ขนมซอง” จุดเปลี่ยนที่บางดาน

by kai @7 ต.ค. 50 21:34 ( IP : 117...14 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
photo  , 2048x1536 pixel , 629,010 bytes.

"เพียงผีเสื้อขยับปีก  ย่อมสั่นสะเทือนไปถึงดวงดาว"

นงลักษณ์ ศรีชยาภิวัฒน์ หรือ "ครูเจี๊ยบ"  แห่งศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัดบางดาน นำประโยคดังกล่าวมาพูดระหว่างเป็นวิทยากรในการสัมมนาโครงการส่งเสริมและป้องกันโรคในช่องปากเด็กปฐมวัย "ฟันลูกดี เริ่มที่บ้าน ร่วมสานฝันที่ศูนย์เด็ก" ของฝ่ายทันตสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดสงขลา จัดที่โรงแรมกรีนเวิร์ลพาเลซ  4 -7 กันยายน 2550ที่ผ่านมา

ตลอด13 ปีในการเป็นครูตัวเล็กๆ ครูเจี๊ยบได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นผีเสื้อที่คอยขยับปีกอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แม้ปัญหาเด็กในโลกปัจจุบันจะยิ่งใหญ่ ซับซ้อนเกินกว่าใครคนหนึ่งจะขับเคลื่อนเพียงลำพัง

อย่างน้อยการบูรณาการโครงการสานสัมพันธ์ดูแลสุขภาพช่องปากลูก และโครงการลดปัจจัยเสี่ยงต่อพฤติกรรมบริโภคในเด็กของครูเจี๊ยบได้เกิดผลเชิงรูปธรรมนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชน

ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัดบางดานหรือศูนย์เด็กเล็กบางดาน  ตั้งอยู่ในวัดบางดาน หมู่ 1 ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลามีเด็กต้องดูแลอราว 130 คน หน้าวัดเป็นที่ตั้งของโรงเรียนบางดาน ระดับประถมศึกษา  บริเวณนี้จึงเป็นชุมทางของเด็กๆ มีการเปิดร้านรวงขายขนม เครื่องดื่ม ของเล่นเด็ก ทั้งแบบถาวรและมาตามเวลาของการจับจ่ายของเด็ก

"อยู่มาวันหนึ่งเด็กในศูนย์ของเรา ชื่อว่าน้องน้ำล้มป่วยเป็นโรคไต  ซึ่งตอนนั้นแกอายุราวสามขวบครึ่งมาพบสาเหตุว่าเพราะกินขนมซอง" ครูเจี๊ยบเล่า
สาเหตุขนมซองหรือขนมกรุบกรอบอย่างที่เรียกกัน ของน้องน้ำนั้นชัดเจน แม่ของเด็กยอมรับว่าต้องทำงานโรงงาน ส่วนพ่อเป็นช่างซ่อม ไม่ค่อยมีเวลาดูแลลูกนัก เพิ่งมารู้ว่าที่ลูกขอเงินซื้อขนมตั้งแต่พอเดินได้ออกไปร้านค้าทุกครั้ง ไปซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสำหรับเด็กยี่ห้อหนึ่งกินมานานแรมปี  วิธีการกินไม่ได้ลวกน้ำร้อน เพียงเทเครื่องปรุงลงในเส้นแห้ง  ไม่เฉพาะน้องน้ำเท่านั้น น้องน็อต ที่เดินตามต้อยๆกันไปร้านขนมทุกวันก็มีอาการเดียวกัน เพียงแต่ยังไม่รุนแรงเท่า

"มีข้อมูลทางการแพทย์ที่ระบุว่าในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีโซเดียมสูง เป็นสาเหตุของโรคไตตอนไปเยี่ยมน้องเขาที่โรงพยาบาลสงขลา เห็นภาพเขาต้องกินยา ตัวบวม แม่เด็กบอกว่าพลาดแล้วไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าลูกเอาเงินไปซื้ออะไร เพราะกลับมาถึงบ้านก็เห็นแต่ซองเปล่าทุกที แต่ยังโชคดีที่ไม่ถึงต้องกับฟอกไตซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายมาก " ครูเจี๊ยบเล่า ตอนนั้นคิดว่าในฐานะครูผู้ดูแลเด็ก น่าจะมีสิทธิคุ้มครองเด็ก และปัญหาเหล่านี้ อยู่ใกล้ตัวมาก

การที่ครูเจี๊ยบเป็นนักกิจกรรมผู้ไม่เคยหยุดนิ่ง มีบทบาทในองค์กรทางสุขภาพอย่าง สปสช. จึงเป็นโอกาสทำโครงการสานสัมพันธ์ดูแลสุขภาพช่องปากลูก และโครงการลดปัจจัยเสี่ยงต่อพฤติกรรมบริโภคในเด็ก สองโครงการมาบูรณาการ ภายใต้การอุดหนุนของภาคเครือข่าย อย่างเช่น  อบต.พะวง  อบต.ทุ่งหวัง อบจ.สงขลา  และสวรส.ภาคใต้ ภายใต้แนวคิดว่าวัยเด็กเป็นวัยที่มีความเสียงต่อการเกิดโรคจากการกินสูง เด็กเล็กไม่สามารถที่จะดูแลเรื่องการกินด้วยตนเอง จึงต้องอาศัยการเอาใจใส่จากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูและชุมชนเพื่อเป็นการปกป้องสุขภาพที่ดี และสมบูรณ์

วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจากการกินของเด็ก ,ให้เด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และชุมชนเกิดความตระหนักต่ออันตรายที่อาจก่อให้เกิดให้เด็ก และร่วมกันหาแนวทางป้องกันแก้ไข  และพัฒนาศักยภาพเด็ก  พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชนให้เกิดความรู้ เจตคติ และทักษะในการสร้างพฤติกรรมการกินเพื่อสุขภาพเด็ก

"มองว่า ทุกอย่างที่เข้าปาก เป็นปัญหาทางสุขภาพ  ถ้ากินถูกต้องเงินเหลือ ยังเป็นประโยชน์อีก" ครูเจี๊ยบเล่า กิจกรรมอันสืบเนื่องจากโครงการมีหลากหลาย ทั้งการให้ทันตบุคลากรมาตรวจฟันเด็ก การอบรมความรู้ การแปรงฟันในกลุ่มครู ผู้ปกครอง ชี้แจงผู้ปกครองในการประชุมวาระต่างๆ ของศูนย์ ฯ

เอากิจกรรมเข้าไปสอดแทรกอยู่ในวันสำคัญอย่างวันเด็ก วันแม่  โดยมอบรางวัลเด็กฟันดี ฟันสวย  จัดสื่อหลากหลายรูปแบบสู่เด็กอย่างนิทาน  หุ่นละคร  เป็นต้น  โดยโครงการนี้ยังขยายผลไปสู่ศูนย์เด็กเล็ก 7 แห่งในตำบลพะวงอีกด้วย การจัดกิจกรรมอบรมหรือทุกกรณี เน้นให้ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมทุกครั้ง เพราะครูกับพ่อแม่ เป็นส่วนที่แยกกันไม่ออกที่จะนำพาเด็กคนหนึ่งให้ได้ผ่านช่วงวัยนี้ไปได้
ครูเจี๊ยบพบความจริงอันน่าห่วงอย่างหนึ่งว่าอาหารเช้าเด็กบางคนคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกินกับน้ำอัดลม จากสรุปบันทึกการกินอาหารของเด็ก ที่ครูเจี๊ยบให้ผู้ปกครองเขียนบันทึกมายังพบว่า

-เด็กยังกินอาหาร ลักษณะที่ซ้ำกัน  เช่น บางคนกินข้าวต้ม ข้าวเหนียวไก่ทอด ข้าวมันไก่
-เด็กบางส่วนไม่ได้ทานอาหารเช้ามา -เด็กบางส่วนดื่มนมอย่างเดียวในมื้อเช้า

แม้จะเป็นรายงานที่ไม่แน่ใจว่าผู้ปกครองบันทึกตามจริงหรือไม่ เพราะไม่พบรายงานขนมซอง ซึ่งถ้าเป็นจริงก็น่ายินดีในระดับหนึ่ง

ขนมซองเป็นปัญหาใหญ่  ครูเจี๊ยบนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ว่าเด็กสงขลาทุกวันนี้ไม่ต่างจากเด็กที่อื่น ที่มักซื้อขนมและเครื่องดื่มจากแรงกระตุ้นของโฆษณา เลือกซื้อจากขนาดและสีสันของบรรจุภัณฑ์มากกว่าคุณค่า  ไม่ต้องพูดว่าข้อมูลบนฉลากยากแก่การเข้าใจ ไม่มีข้อมูลการเตือนถึงผลกระทบต่อสุขภาพหากบริโภคเกินปริมาณที่พอเหมาะ  ขนมรสชาติแปลกๆ ที่ออกมาทุกวัน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลากรสชาติ กลายมาเป็นอาหารหลักของเด็ก แทนที่จะได้กินของที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย  นอกจากโรคในช่องปากแล้วอาจจะเกิดโรคอื่นตามมาไม่ว่า โรคอ้วน ขาดสารอาหาร ความดันโลหิตสูง  ลำไส้อักเสบ

ครูเจี๊ยบเจอมาด้วยตัวเองกรณีน้องน้ำคือโรคไต นั่นชัดเจนอยู่แล้ว

2 กันยายน  2550 ที่ผ่านมาเป็นอีกครั้ง ที่ครูเจี๊ยบจัดกิจกรรม รวมพลังสร้างพฤติกรรมการกินเพื่อสุขภาพเด็ก ในงานดังกล่าวได้การฉายวีซีดีเรื่องพิษภัยจากขนมซอง การเชิญแม่ของน้องน้ำ ที่ตกเป็นเหยื่อจนเป็นโรคไตมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง ล่าสุดแม้อาการของน้องน้ำจะดีขึ้นบ้าง แต่ยังต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะการกิน

ยังดีว่าครอบครัวน้องน้ำ ได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส โดยแม่ได้หันมาทำอาหารให้ลูกกิน ทำให้ได้ใกล้ชิดกัน

กิจกรรมสำคัญอยู่ที่ การนำฉลากขนมซองที่เด็กชอบกินมาให้ผู้ปกครองช่วยกันวิเคราะห์ ซึ่งได้สร้างความตกตะลึงอีกครั้ง ในหมู่ผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อพบว่า สิ่งที่ลูกซื้อกินอูยู่ทุกวันนั้นอันตรายมากเพียงใด  โดยส่วนประกอบของขนมที่เน้นการโฆษณาทางสื่อ หลายอย่างนอกจากไม่เกิดประโยชน์แก่ร่างกายยังอาจเกิดโทษ  อย่างเช่น ผงชูรส  การแต่งสีสังเคราะห์ การแต่งกลิ่นสังเคราะห์ แต่งรสเลียนแบบธรรมชาติ  เครื่องปรุงรส กรดซิติก  สารเคมีในชื่อที่ชาวบ้านไม่มีวันรู้จัก  ฯลฯ ยังพบว่าผลูผลิตจงใจไม่เผยแพร่คำเตือนถึงอันตรายที่จะเกิดจากการบริโภค  หรือทำให้สังเกตได้ยาก  จึงพบว่าขนมที่เด็กนิยมรับประทาน จำนวนมากมีคำเตือนที่ไม่ค่อยมีใครสังเกตเห็นว่า เด็กและสตรีมีครภ์ไม่ควรรับประทาน  บางอย่างห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบบริโภค  หรือบางอย่างห้ามกินมากกว่า 1 ห่อ หรือห้ามกินแทนอาหาร

หากปฐมวัยของคนเริ่มจากการเสื่อมสภาพด้านสุขภาพ คงไม่ต้องถามถึงสุขภาวะของประชากรไทยในอนาคต  สุขภาวะของเด็กสงขลาคงไม่ต่างจากพื้นที่อื่นในประเทศไทยแล้วแต่ว่าใครจะลุกขึ้นมาปกป้องสุขภาพของเด็กสงขลาอย่างจริงจังและจริงใจ

"เราต้องการสร้างความตระหนกเพื่อให้ตระหนักต่อไป ถ้าไม่เล่นแรงคนมักไม่สนใจ " ครูเจี๊ยบว่า

การรณรงค์เรื่องนี้ที่ชุมชนบางดาน แม้เป็นเรื่องยากเพราะแม้ลูกแม่ค้าบางคนก็มาอยู่ในความดูแลของครูเจี๊ยบ แต่คนค้าขายไม่ได้ให้ความร่วมมือเพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของการทำมาหากิน  แต่ที่ชุมชนบางดานได้เกิดผลแล้วทั้งที่เริ่มเป็นประเด็นที่คนกล่าวถึง และหันมารับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค แม่ค้ารายหนึ่ง ที่ตั้งร้านขายน้ำอัดลมอยู่หน้าศูนย์เด็กบางดานเลิกขายน้ำอัดลมอย่างเด็ดขาด หันมาขายอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพแทน ประคอง แดงดี และสุพรรณี แดงดี คือเจ้าของร้านดังกล่าว

สุพรรณี แดงดี เล่าให้ฟังว่าเคยได้ฟังเกี่ยวกับอาหารเด็กมาบ้าง อย่างเรื่องกรณีที่น้ำอัดลมมีฤทธิ์ในการกัดกร่อนกระดูก  ตอนกินจะรู้สึกเสียวฟันได้  ในที่สุดปรึกษากับแม่ว่าน่าจะหันมาขายน้ำผลไม้กันดีกว่า ทุกวันนี้จึงขายเฉพาะน้ำผลไม้ ไม่ว่าน้ำมะพร้าว กระเจี๊ยบ  เงาะ  ลิ้นจี่  เฉาก๊วย โกโก้  ฯลฯ

"น้ำผลไม้ต้องทำเองทุกขั้นตอน บางอย่างปลูกเองที่บ้านอย่างมะพร้าว การทำน้ำผลไม้ยุ่งยากกว่าไปซื้อน้ำอัดลมมาขาย  กำไรก็น้อยกว่า แต่อยากทำเพราะเป็นตัวเลือกให้เด็ก " สุพรรณีเล่า  และชี้เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจจริงจัง เป็นเพราะว่าครอบครัวนี้มีหลานอยู่ด้วย  หลานคนโตที่ชื่อ น้องก๊อฟ เป็นเด็กที่ชอบกินขนมกรุบกรอบ และน้ำอัดลม ยิ่งที่บ้านขายเอง จึงกินทุกวันต่อเนื่อง ทั้งขอกินและแอบกิน  จนเกิดอาการปวดท้องอย่างแรงบ่อย บางครั้งถึงกับต้องนำส่งโรงพยาบาล  และครั้งหนึ่งน้องก๊อฟได้ลื่นล้มลงฟันหักโดยง่าย ยิ่งทำให้สงสัยว่าอาจเป็นอาการกระดูกเปราะที่เกี่ยวเนื่องด้วยหรือไม่

"เรื่องแบบนี้รู้มาก่อน แต่ไม่กระแทกแรง และ เห็นของจริง" สุพรรณียอมรับว่าจากการไปร่วมสัมมนารวมพลังสร้างพฤติกรรมการกินเพื่อสุขภาพเด็ก  อยากอาสาที่จะไปช่วยอธิบาย แม่ค้ารายอื่นในบริเวณรอบศูนย์เด็กฯ ให้ช่วยกันในเรื่องนี้ อาจจะไม่ต้องหยุดขายน้ำอัดลม  แต่จำกัดการขายในกลุ่มเด็กเล็ก
น้ำอัดลมเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ คาเฟอีนทำให้สมองเสื่อม สีสังเคราะห์อาจะเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง ในการขอความร่วมมือแม่ค้ารายอื่น แม้ยังไม่รู้ว่าจะเกิดผลอย่างไรและค่อนข้างเป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะเห็นด้วย  แต่จะพยายามเพราะการลดพื้นที่การขายใกล้สถานศึกษาย่อมลดโอกาสการซื้อของเด็กได้ส่วนหนึ่งแน่นอน แม้ไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม  อาจจะเป็นรูปแบบการจัดโซน ส่วนตัวเธอนอกจากจะขายน้ำผลไม้แล้ว ยังขายอาหารเช้าเพื่อสุขภาพไม่ว่า  ข้าวผัด  ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง กำลังจะเสนอผักทอด เป็นเมนูใหม่ให้เด็ก

ครูเจี๊ยบเล่าว่าเมื่อต้องการให้เด็กเลิกบริโภคขนมซอง  ยังเป็นโอกาสทำให้เกิดการฟื้นฟูขนมไทยประจำท้องถิ่น พ่อแม่อาจหันมาทำขนมไทยให้ลูกกิน นอกจากจะได้ความอบอุ่นในระดับครอบครัว  ระดับชุมชนบางดานเองก็ได้เกิดกระแสนี้ขึ้นด้วย เกิดกลุ่มทำขนมไทยของชาวบ้าน ได้รับการอุดหนุนจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ขนมหลายอย่างกลับมา โดยเฉพาะขนมบ่วง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นนี้

"พอเราสั่งขนมพวกนี้มาให้เด็กที่ศูนย์  ประโยชน์เกิดทันทีเห็นง่ายๆ  กลุ่มก็มีงานทำ แต่เดิมมีกลุ่มทำดอกไม้จันทน์ ซึ่งขายไม่ค่อยได้ เพราะนานกว่าจะมีคนตาย พอได้มาทำขนมกก็คึกคักขึ้น ยังเชิญชาวบ้านมาเป็นวิทยากร เป็น ป้าครู น้าครู สอนทำขนม มันเกิดการพึ่งพา เงินทองหมุนเวียนในหมู่บ้าน  ทุกวันนี้ไม่ได้สั่งแค่ขนม เพราะทางกลุ่มเขาผลิตพวกน้ำยาล้างจาน สบู่เหลวล้างมือ เราก็สั่งด้วย"

ครูพี่เลี้ยงตัวเล็กๆ จบปริญญาตรีทางด้านคหกรรมศาสตร์  ครูเจี๊ยบกำลัง เปลี่ยนแปลงอะไรได้กว่า ที่คิด เพียงแต่ขยับปีกเงียบๆ ทำอะไรไปเรื่อยๆ หากกำลังสะเทือนไปถึงดวงดาว

Relate topics

Comment #1อยากได้ข้อมูลและวิธีการสอนเพิ่มเตืมค่ะ
ปอ (Not Member)
Posted @19 ก.ย. 52 01:43 ip : 58...66

ตอนนี้นู๋เรียนแอยู่ชั้น ปี4 สาขาการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ กำลังทำทีสิท เรื่อง หนูน้อยกินดี มีสุขภาพ  วัตถุประสงคืคือทำให้เดกตระหนักถึงโทษของขนมและน้ำซ่า และการเลือกรับประทาน จึงอยากด้ายความรู้และวิการสอนเพิ่มเติมค่ะ กลุ่มเป้าหมายคือเดกชั้นอ.3 ค่ะ

หากใครมีข้อมูลกรุณาติดต่อกลับทางเมล์

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว