สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ทำขวัญแม่ย่า“ฟื้นชีวาคลองบางกล่ำ”

by kai @11 ก.ย. 50 23:11 ( IP : 58...153 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
photo  , 2048x1536 pixel , 639,721 bytes.

เสียงประทัดแตกรัวลั่นคุ้งคลองบางกล่ำ ก่อนเที่ยง 8 กันยายน2550 ที่ผ่านมา  ระหว่างฝีพายหนุ่มฉกรรจ์ทั้งหลายช่วยกันแบกเรือแข่งสามลำลงน้ำ ฝีพายเร่งเข้าประจำที่สองลำ แล้วแข่งจ้ำพาย โห่ร้องไชโยสุดเสียงเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย เรือแหวกผืนน้ำฉิวทั้งขึ้นและล่องคลองอยู่หลายเที่ยว

นับเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำขวัญเรือ  ที่จัดขึ้นในวันนั้นตามโครงการทำขวัญแม่ย่าฟื้นชีวาคลองบางกล่ำ  อุดหนุนโดยแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาประเด็นวัฒนธรรม  นอกจากชาวบ้านแล้วยังมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เข้าร่วมอย่างสนใจ

พิธีทำขวัญเรือแห่งลุ่มน้ำบางกล่ำ  เป็นเรื่องที่ถูกกล่าวขานมาเท่านั้นเพียงยังไม่มีใครเห็นมากับตาแม้แต่ สาธร ลือขจร  วัย 65 ปี ลูกคลองบางกล่ำขนานแท้ นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ทุกคนจะได้สัมผัส

" ถ้าจะเห็นอยู่บ้างคงเรียกว่ากาดเรือหรือเซ่นเรือ  แต่ไม่ใช่ทำขวัญ การทำขวัญไม่เคยเห็นได้ยินเขาพูดกันมา" สาธรเล่า  การเซ่นเรือที่ว่า เป็นเพียงพิธีกรรมพื้นๆ แบบการเซ่นไหว้เจ้าที่  มักทำในโอกาสนำเรือออกแข่ง
สมโภช นันทวงศ์  ผู้จัดโครงการทำขวัญแม่ย่าฟื้นชีวาคลองบางกล่ำ ซึ่งนั่งคุยร่วมวงอยู่ด้วยเสริมว่า การทำขวัญเรือเป็นเพียงตำนาน จึงอยากจะฟื้นฟู อย่างน้อยจะได้เป็นตัวอย่าง  เขาหวังว่าถ้าท้องถิ่นหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้  จะปลุกกระแสฟื้นอดีตสืบสานประเพณี ทำให้รักบ้านบ้านเกิดเมืองนอน เกิดความสามัคคีในหมู่คณะได้มากกว่านี้

"วิถีชีวิตของคนแถบนี้ยังกินอยู่กับคลองแม้ไม่เหมือนเดิม" สมโภชเล่า คำว่าไม่เหมือนเดิม นั้นหมายถึงคลองที่เคยใสจนเกือบเห็นก้นคลองมาก่อนนั้น บัดนี้เกิดมลภาวะขุ่นคล้ำเน่าเสีย  กุ้งปลาที่เคยชุกชุมก็หายไป  วิถีคนที่เคยได้พึ่งพาสายน้ำก็เปลี่ยนตามทุกวันนี้ต้องหาเงินมาซื้อกุ้งปลากินในราคาแพงแทน

ภาพความคึกคักของลำคลองในวันชักพระทางน้ำในอดีต อาจพอหลงเหลืออยู่ในความทรงจำของคนรุ่นเก่าอยู่บ้าง  หากสิ่งที่เหลืออยู่จริงๆ คงมีเพียงประเพณีการแข่งเรือบางกล่ำ ซึ่งจะจัดที่ท่าน้ำวัดบางหยี อยู่ห่างจากท่าน้ำวัดบางกล่ำไปไม่ไกลนัก ในปีนี้กำหนดจัดในต้นเดือนพฤศจิกายน  การทำขวัญเรือในวันนั้นจึงเป็นการเตรียมตัวสร้างขวัญกำลังใจฝีพายที่จะลงแข่งไปด้วย

พิธีทำขวัญเรือเริ่มต้นประมาณเก้าโมง บริเวณใต้ร่มไม้ ริมท่าน้ำวัดบางกล่ำ หรือวัดชลธาราวาส  มองเห็นเรือสามลำวางสง่าอยู่บนคาน  บนโต๊ะเครื่องสังเวย เครื่องบูชาครบถ้วน ดอกไม้ ชุดบายศรี  ผลไม้หลายอย่างวางอยู่บนพาน มะพร้าว  สับปะรด  ส้มโอ แก้วมังกร แอปเปิ้ล สาลี่  กล้วยส้ม อาหารคาวมีหัวหมู เป็ด ไก่  ปู  ปลา เป็นต้น โยงสายสิญจน์ไปหัวเรือผูกผ้าสีน้ำเงิน เหลือ แดง  วางดอกไม้  น้ำ และเหล้าโรง  พร้อมจุดธูป 5 ดอกบูชาแม่ย่านาง

ตามหลักการจัดบูชาแม่ย่านางอาหารคาวมี ข้าว ไก่ เป็ด กุ้ง ปลามีหัวมีหาง เป็นต้น  ของหวาน เช่น ขนมถ้วยฟู ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวเหลือง ข้าวเหนียวแดง ซาลาเปา ขนมจันทร์อบ ขนมเม็ดขนุน  ผลไม้ เช่น มะพร้าวอ่อน กล้วยหอม สัม ทับทิม ผลไม้ตามฤดูกาลยกเว้นแต่ผลไม้ที่ชื่อไม่เป็นสิริมงคล เช่นมังคุด พุดทรา ละมุด ลางสาด นอกจากนั้นยังต้องมีหมากพลู  ธูป เทียนเป็นเครื่องบูชา
ก่อนเริ่มพิธีกรรม วิจิตร ชูมณี  หมอผู้ประกอบพิธีให้ความรู้ว่าปกติชาวใต้ จะมีการทำขวัญอยู่แล้ว ไม่ว่าตอนเกิด ตอนบวช  แต่การทำขวัญเรือไม่ค่อยได้เห็นนัก  จึงเล่าตำนานการสร้างเรือในครั้งอดีตกาล เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ที่คนรุ่นใหม่อาจไม่เข้าใจ

วิจิตรเล่าว่า จากการค้นคว้าทำให้ทราบว่าการสร้างเรือครั้งแรกเกิดที่อินเดีย...
เรื่องโดยสังเขป มีอยู่ว่าในสมัยพระเจ้าพรหมทัต ก่อนพุทธกาล  ปรากฏว่ามีธิดาของกษัตริย์ราชวงศ์หนึ่ง ผู้ตั้งจิตอธิษฐานเอาไว้แต่ต้นว่าเมื่อใดสิ้นชีวิตลง เมื่อนำศพพระนางไปพระราชทานเพลิงตรงไหนให้บังเกิดเป็นต้นไม้ขึ้นมาสักต้น ที่นำไปใช้ประโยชน์โดยเฉพาะมนุษย์ทั่วโลกยามนั้นไม่สะดวกในเรื่องยานพาหนะเดินทาง

พระธิดาเกิดรักใคร่ชอบพอกับคนใช้ในวัง จนต้องหนีออกจากวังไปอยู่ด้วยกันฉันท์สองสามีภรรยากลางป่า อยู่มาวันหนึ่งพระธิดาถูกนายพรานยิงด้วยลูกธนูอาบยาพิษขณะออกไปตักน้ำริมคลองจนสิ้นใจ ฝ่ายสามีคอยอยู่ไม่เห็นกลับมาตามไปก็พบว่าสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ฝังเอาไว้ริมคลอง  บริเวณนั้นได้เกิดต้นตะเคียนทอง ตามแรงอธิษฐานและเทพบันดาล

ครั้นพระเจ้าพรหมทัตต้องการสร้างเรือ พระที่นั่ง ได้พบไม้ตะเคียนทองมีสัญญาณเทวดา  ก็ให้ทหารมุ่งหน้ามาถึงต้นตะเคียนทองต้นแรกนั้น ตัดมาเป็นท่อนมาให้นายช่างต่อเรือส่วนที่เหลือนำมาเป็นส่วนประกอบต่างๆในลำเรือ  นับเป็นเรือลำแรกของโลก  ตะเคียนทองนั้นนับเป็นแม่นางเรือรี  แม่ย่านางเรือ อันศักดิ์สิทธิ์ ที่นับถือของชาวเรือมาจนปัจจุบันแม้จะมีการใช้ไม้ชนิดอื่นมาทำเรือก็ตาม

มีความเชื่อเกี่ยวข้องกับเรืออยู่มากทีเดียว อยู่ในวิถีชุมชนริมน้ำทุกวันนี้  ก่อนออกเรือจะต้องทำพิธีเซ่นไหว้แม่ย่านาง  ให้แคล้วคลาดจากอันตราย และสิ่งเลวร้ายทั้งปวง และขอให้ประสบความสำเร็จในกิจการของตน มีโชคมีลาภ เจ้าของเรือต้องจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้วางไว้ที่หัวเรือ นำผ้า 3 สี หรือ 5 สี ผูกที่โขนเรือ หรือแขวนพวงมาลัยที่โขนเรือ ส่วนดอกไม้ช่อใหญ่สอดไว้ด้านบนของผ้าที่ผูกหัวโขนเรือ  ต่อจากนั้นจุดธูป กล่าวคำบูชาแม่ย่านาง ว่า "ขอเชิญแม่นางเรือรี แม่ศรีคงคา แม่ศรีตะเคียนทอง สิ่งสถิตทั้งหลายที่สถิต ณ เรือนี้ เชิญมาสู่เรือวันนี้ เพื่อเป็นสิริมงคลให้คุ้มครองเรือให้ ปลอดภัย..."หรือ "โอม แม่ย่านาง ตัวแม่ชาติโรชาติ ลูกขอเชิญแม่ย่านางจงคุ้มครองให้ลูกผู้ร่วมมาด้วย ให้ปลอดภัยตลอดทั้งวันด้วยเถิด สาธุ" จุดธูปปักบนโขนเรือ จากนั้นจึงจะเคลื่อนเรือออกพร้อมจุดประทัด เรือออกจากท่ารอจนกว่าธูปหมดจึงลาของไหว้

เชื่อกันว่าแม่ย่านางศักดิ์สิทธิ์ เจ้าของเรือและผู้ร่วมงานจึงต้องปฏิบัติอย่างเคารพหลายประการ เช่น  ทุกครั้งที่ออกเรือต้องทำพิธีกรรม  ,ก่อนนำเรือลงจากคานหรือทำบุญในโอกาสต่างๆ ควรเปลี่ยนเครื่องสำอางของแม่ย่านาง ,สีผ้าที่ผูกโขนเรือ ต้องถูกใจแม่ย่านาง ,ต้องดูแลหัวเรือให้สะอาด เชื่อว่าแม่ย่านางเป็นผู้หญิงรักความสะอาด ,เมื่อนำเรือออกไปถึงเวลารับประทานอาหาร ต้องจัดอาหาร 1 ชุด พร้อมน้ำ 1 แก้วเซ่นไหว้แม่ย่านาง และการซ่อมเรือต้องบอกกล่าวแม่ย่านาง

"ต้นไม้ทุกต้นมีชีวิต มีเปลือก กะพี้ แก่น  ศาสนาก็เช่นเดียวกัน ถ้าต้องการหาแก่นต้องตั้งจิตอธิษฐาน" วิจิตรเล่า ก่อนจะเข้าสู่บทสวดทำขวัญ

"โย พุทธโธ อันว่าองค์สมเด็จพระสัญเพชรพทุธองค์ ..."ต่อด้วย สวดโองการแบบทำขวัญแม่ย่านาง " ศรี ศรี สวัสดิภัทตะมงคล ฮึ วันนี้ เป็นวันดี ดิถีโชคนัคสะสุขโยคใช้อยู่กลบาท..."
หลังบทสวดในพิธีกรรมหลักผ่านพ้น หมอผู้ประกอบพิธีผูกผ้า 3 สี เสียบดอกไม้ ที่โขนเรือ เจิมแป้ง ปิดทอง  เครื่องสำอางและเครื่องใช้อื่นๆเก็บไว้ให้แม่ย่านาง เชื่อว่าแม่ย่านางต้องใช้เครื่องสำอาง ผ้าถุง เสื้อ ผ้าเช็ดตัว กระจก แป้ง หวี กำไลมือ ตุ้มหู เข็มขัด ลิปสติก ดินสอเขียนคิ้ว แหวน ฯลฯ  เครื่องเหล่านี้จะบรรจุอยู่ในกล่องเก็บไว้ในที่ควร มีการเปลี่ยนใหม่ปีละครั้ง หรือหลังซ่อมเรือเท่านั้น
เด็กหนุ่มอาสาสมัครฝีพายประจำวัดบางกล่ำรวมกลุ่มเฮฮา สนุกสนานตามวิถีอันงดงามแห่งท้องถิ่นที่ยังดำรงอยู่  ทั้งแอบแซว  พูดหยอกล้อกันบ้าง อย่างมีความสุข ยิ่งเห็นแขกต่างถิ่นมาเยือน
หมอประกอบพิธีนำฝีพายเข้าสู่พิธีสร้างขวัญกำลังใจเป็นการเฉพาะ  นับช่วงเวลาเตรียมตัวฝึกซ้อมสำหรับพวกเขาเพื่อวัดฝีมือกับคู่แข่งต่างหมู่บ้านอีกครั้งในอีกสองเดือนข้างหน้า  หลังเลิกเรียน เสร็จภารกิจของงาน ทุกวันเด็กหนุ่มเหล่านี้ต้องมาลงฝีพายพร้อมกันด้วยระยะทางราว 10 กิโลเมตร  หลายคนในทีมเคยได้รับการคัดเลือกไปแข่งในนามจังหวัดสงขลามาแล้ว  หมอผู้ประกอบพิธีสร้างขวัญเพื่อชัยชนะพร้อมกับให้พรผู้เข้าร่วมพิธีทั้งหลาย  ประพรมน้ำมนต์ แจกจ่ายแป้ง  ลาของไหว้เพื่อเป็นสิริมงคล
ก่อนได้เวลาจุดประทัด ฝีพายแบกเรือลงน้ำ...

วิจิตร ชูมณี เล่าหลังพิธีกรรมว่าในพิธีทำขวัญเรือจะเชิญเทวดาอารักษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆมาช่วยคุ้มครองป้องกัน  เรือมีความสำคัญ เพราะการจะเป็นเรือลำหนึ่ง มีส่วนประกอบมากมาย ทั้งสิ่งที่จะนำมาสร้าง นายช่างผู้มีความสามารถในศิลปะการต่อเรือ  มีภูมิปัญญาของช่าง
"คนกับเรือแยกกันไม่ออก  เพราะเกี่ยวกับการเดินทางและอาชีพ คนที่อยู่ใกล้น้ำต้องมีเรือกันทั้งนั้น  แม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยยังให้ความสำคัญ จะเห็นได้จากพิธีเสด็จทางชลมารค และการอุปถัมป์ประเพณีแข่งเรือในที่ต่างๆมาโดยตลอด  ชาวบ้านจึงควรอนุรักษ์สิ่งนี้ไว้ จะทิ้งเสียไม่ได้"

ประเสริฐ  รักษ์วงศ์แกนนำแผนสุขภาพสงขลา ประเด็นวัฒนธรรม  เล่าว่า การทำขวัญเรือ มักจะทำใน 2 กรณีกล่าวคือ เมื่อสร้างเรือเสร็จ หรือเรือขึ้นคานซ่อมใหญ่ เมื่อซ่อมเสร็จจะต้องทำขวัญ  อีกกรณีหนึ่งคือเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับเรือลำนั้น อย่างเช่นเกิดเรือชน มีผู้เสียชีวิต เชื่อว่าจะต้องมีผีร้ายหรือวิญญาณร้ายมาคอยรบกวน จึงต้องขับผีร้ายออกไป    สำหรับเหตุผลอื่นอาจทำไปตามเทศกาลสำคัญเช่นปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์  แต่การจัดทำขวัญครั้งนี้ นับเป็นโอกาสพิเศษที่ต้องการฟื้นฟูประเพณีนี้ขึ้นมา เพราะไม่ได้ทำกันมานาน

"เรานำประเด็นวัฒนธรรมมาฟื้นฟูคลอง  ยังมีกิจกรรมที่ต่อเนื่อง อย่างเช่นเครือข่ายโรงเรียน ในอำเภอบางกล่ำและควนเนียง 13 โรง เรากำลังจัดทัศนศึกษา โรงเรียนริมคลอง  มีกิจกรรมปลูกต้นไม้ ปล่อยปลา"

ประเสริฐว่า หลังรับประทานอาหารกลางวันแบบพื้นบ้านเรียบร้อยแล้ว ในบ่ายวันนั้น  ทางโครงการทำขวัญแม่ย่าฟื้นชีวาคลองบางกล่ำ ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แขกผู้มาเยือนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชน โดยการเดินทางลงไปสัมผัสกับวิถีชาวบ้านแห่งลุ่มคลองบางกล่ำ ในหลากหลายมิติอีกด้วย .

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว