สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

กองทุนสุขภาวะ : กองทุนปรับทุกข์ แบ่งปันความสุขของชาวกรุงเทพฯ

กองทุนสุขภาวะ : กองทุนปรับทุกข์ แบ่งปันความสุขของชาวกรุงเทพฯ

โดย ผู้จัดการรายวัน 28 สิงหาคม 2550 02:38 น.

  สภาพความอ่อนแอของระบบนิเวศที่เปราะบางในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร มีการเติบโตอย่างไร้ระเบียบมาเป็นระยะเวลานานนับร้อยปีแล้ว และสืบเนื่องจากการเร่งรีบพัฒนาเศรษฐกิจยังมีผลทำให้ประชาชนทุกหย่อมหญ้าใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต ตลอดจนการบริโภคอย่างไม่เหมาะสม ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกใช้สอยและถูกทำลายจนเสื่อมถอยทั้งสภาพ ปริมาณ คุณภาพ ซํ้าร้ายยังก่อให้เกิดมลพิษในหลายด้านอีกด้วย


      จากสภาพการณ์ดังกล่าว จะยังคงความรุนแรง และถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะการเพิ่มขึ้นของประชากรในเขตเมืองยังคงมีอย่างต่อเนื่อง  ขณะที่แบบแผนของกระบวนการผลิตและการบริโภคที่ไม่เหมาะสมยังคงเป็นไปในทิศทางเดิม ระบบนิเวศที่ย่ำแย่ดังกล่าวกำลังกลายมาเป็นข้อจำกัดของการพัฒนาไปสู่การเป็นกรุงเทพ ฯ "เมืองน่าอยู่"
      และเมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ทางกลุ่มชุมชนที่เล็งเห็นความสำคัญของประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงมีการระดมความคิด และร่วมกันสร้างเงื่อนไขให้เกิดเป็นกองทุน ที่เน้นการสร้างกิจกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ในแต่ละชุมชน เช่น การระดมทุน ธุรกิจเพื่อชุมชน เพื่อสังคม การจัดกลุ่มออมทรัพย์  หรือการรวมตัวไปช่วยผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากในที่ต่างๆ ด้วยการเป็นอาสาสมัคร เป็นต้น  เพื่อให้ได้มาซึ่งทุน ทรัพยากร หรือส่วนต่าง ที่จะเกิดขึ้นจากการรวมตัวกัน แล้วนำทุนนั้นมาใช้แก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ให้กับชุมชนท้องถิ่นของตน ซึ่งเราเรียกการรวมกลุ่มในลักษณะนี้ว่า "กองทุนสุขภาวะกรุงเทพฯ"
      เชื่อมประสาน "ทุนทางสังคม"       "กองทุนสุขภาวะ" เกิดจากฐานความคิดการรวมตัวเป็นองค์กรที่ประชาชนจะได้ร่วมกันบริหารจัดการ ร่วมระดมทุน ร่วมจัดสรรทุน รวมถึงการเป็นผู้สนับสนุนทุน โดยสามารถให้มากกว่าทุนที่เป็นตัวเงิน เช่น อาจจะเป็นการให้แรงงาน การเป็นอาสาสมัคร รวมถึงการให้ทรัพยากรอื่นๆ ตามกำลังความสามารถ
      หัวใจสำคัญของการสร้างกองทุนสุขภาวะคือ ความร่วมมือ การแลกเปลี่ยน ความช่วยเหลือ และการสร้างระบบความมั่นคงให้กับชีวิต ให้กับครอบครัว ชุมชน และพื้นที่  แล้วคุณรู้อะไรมั้ย.....กองทุนสุขภาวะยังต้องตั้งอยู่บนฐานของวิถีเศรษฐกิจพอเพียงด้วย
      เนื่องจากกองทุนสุขภาวะได้เน้นการสร้างโอกาสให้ทุกคน ทุกครอบครัว ทุกชุมชน และทุกองค์กร ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งไม่ได้หมายถึงการพัฒนาที่ต้องใช้เงินในการเพิ่มศักยภาพอย่างเดียว แต่หมายถึงการช่วยกันเชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อเพิ่มศักยภาพในทุกระดับ หรือกล่าวโดยรวมคือ การสร้างระบบเกื้อกูลช่วยเหลือกันและกัน หรือ ระบบภูมิคุ้มกันทางสังคม (Social Safety Net) ร่วมกันนั่นเอง
      ซึ่งหากจะพัฒนากิจกรรมกองทุนสุขภาวะนั้น ควรต้องคิดถึงเรื่องกระบวนการให้ได้มาซึ่งความครบถ้วนของชุดกิจกรรมอันสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในเรื่องสร้างให้เกิดการดูแล การช่วยเหลือกันได้ทั้งระบบของพื้นที่ เพราะท้ายสุดของเรื่องราวต่างๆ ต้องตอบให้ได้ว่า ทำไปเพื่อใคร เพื่ออะไร ไม่ใช่การทำเฉพาะประโยชน์ของกลุ่มตน แต่ต้องเป็นประโยชน์สุขโดยรวมของคนทั้งพื้นที่
      กองทุนนัยยะที่แตกต่าง       อัญชัน แกมเชย ผู้จัดการโครงการกองทุนสุขภาวะกรุงเทพฯ จากกลุ่มบางกอกฟอรั่ม เล่าให้ฟังถึงที่มา ที่ไป และความหายของกองทุนสุขภาวะกรุงเทพฯ ว่า
      "พวกเราชาวบางกอกฟอรั่ม เป็นหน่วยงานพัฒนาเอกชนที่ทำงานในเมืองนี้มานานกว่าสิบปี พวกเราถือว่าที่นี่เป็นบ้านของพวกเรา บ้านที่มีทั้งความทุกข์และความสุข บ้านที่ได้ร่วมแบ่งปันสิ่งดี ๆ หลากหลายเรื่องราวให้แก่พวกเรา รวมทั้งเรื่องนี้ด้วย  "กองทุนความสุข"
      "เมื่อเอ่ยถึงคำนี้ "กองทุนความสุข" มักมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่า  "กองทุน" หมายถึงเรื่อง เงินหรือทรัพยากรเชิงวัตถุที่จับต้องได้เท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว นัยยะคำว่า "ทุน" มีอยู่มากมาย แล้วแต่ประสบการณ์ที่แต่ละบุคคลพบพาน  รวมทั้งการให้ความหมายของแต่ละกลุ่ม เครือข่าย หรือองค์กรด้วย
      "แต่ "กองทุน" ในความหมายของชาวบางกอกฟอรั่ม มีความหมายมากมายหลายแบบ เช่น ทุนทางสังคม ทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ ทุนคน ทุนความรู้ เป็นต้น รวมทั้งทุนที่เป็นวัตถุ สิ่งของ และเงินด้วย"

      แล้วคำว่า "สุขภาวะ" เมื่อเอามารวมกันแล้วกับคำว่า "กองทุน" หมายถึงอะไร อัญชันพร้อมไขข้อสงสัยว่า
      "กองทุนสุขภาวะ เป็นการรวมทรัพยากรต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายมารวมกัน และนำไปส่งเสริม หรือสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมสร้างสุขแก่คนในพื้นที่ กลุ่ม หรือเครือข่ายนั้น ๆ
      "กองทุนสุขภาวะ คือ การรวมตัวของคนตัวเล็ก ๆ หรือจะเป็นกลุ่ม เครือข่ายก็ได้ ที่ต้องการมาทำอะไรดี ๆ ให้แก่กลุ่ม พื้นที่ หรือชุมชนตนเอง นี่เป็นเพียงความหมายที่พวกเราพยายามจะนิยามเท่านั้น แต่พวกเราเชื่อว่า คำว่า "กองทุนสุขภาวะ" มีความหมายมากกว่านี้ ......"
      ผู้จัดการโครงการฯ ยังบอกต่อไปอีกว่า กองทุนสุขภาวะสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกชุมชน แต่จะอยู่ในรูปแบบใดก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ความเหมาะสมของชุมชนนั้นๆ จะกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยลงไป ซึ่งสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ควรให้ความสนใจระหว่างการทำงานขับเคลื่อนให้เกิด "มูลนิธิชุมชน" หรือ "กองทุนสุขภาวะ" คือ การค้นหาความหมายของคำว่า "ทุน" ที่จะต้องให้นิยามเองโดยคนในพื้นที่ เพราะนั่นจะช่วยเป็นกลไกเชื่อมประสานทรัพยากร ที่เน้นการพึ่งพากันบนฐานของศักยภาพของตนเอง ชุมชน และสังคมอีกช่องทางหนึ่ง ดังนั้น การให้ความหมายในเรื่อง "ทุน" จึงต้องมาจากคนในพื้นที่เป็นหลักเพราะ "คนใน" ย่อมรู้บริบทต่าง ๆ ได้ดีกว่า "คนนอก"
      "จากการทำงานในช่วงต้นพบว่าสิ่งที่เรียกว่า " ทุน" ของชาวกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง "ทุนมนุษย์" "ทุนภูมิปัญญา" "ทุนทางสังคม" "ทุนสิ่งแวดล้อม" ฯลฯ โดย "ทุนเงิน" เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ชุมชนสามารถดำเนินกิจกรรมได้ แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดทางปัญญาของพื้นที่ แนวคิดความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดกองทุนสุขภาวะ" อัญชัน พยายามอธิบายถึงความหมายของทุนในอุดมคติของชาวกรุงให้เราเข้าใจ
      นอกจากนี้กองทุนสุขภาวะยังเป็นกลไกที่ช่วยให้เกิดการพึ่งพากันบนศักยภาพของตนเอง ชุมชน และสังคมอีกด้วย เช่น ธุรกิจในท้องถิ่นหรือผู้ที่มีกำลังทรัพย์มีจิตใจอยากเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ก็สามารถสมทบหรือบริจาคตามกำลังของตนเอง รวมทั้งทุกคนในท้องถิ่นนั้นๆ ก็สามารถสมทบทุนได้ ถือเป็นการทำให้เกิดการทำบุญแบบใหม่ ซึ่งเป็นการทำบุญเพื่อการพัฒนา และสร้างสุขภาวะให้แก่ทุกคนในกรุงเทพฯ
        จากเหตุผลดังกล่าว ทางบางกอฟอรั่มจึงได้เลือก เขตหนองจอก และเขตทวีวัฒนา เป็นพื้นที่นำร่องโครงการฯ เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 แห่งนี้มีลักษณะความพร้อมในการขับเคลื่อนมูลนิธิชุมชน มากกว่าเขตอื่น ๆ เพราะหากเริ่มด้วยพื้นที่ที่มีความเป็นชุมชนสูงจะสามารถเคลื่อนกระบวนการคนอาสาได้ง่ายกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของกรุงเทพฯ
      ชุมชนแผ่นดินทอง คอยรุตตั๊กวา       ตามเงื่อนไขบริบทของพื้นที่ที่ได้เบื้องต้นผนวกกับจากการสำรวจความคิดเห็นของแกนนำในเขตหนองจอก พบว่าเขตหนองจอกมีความต้องการที่จะพัฒนา "มูลนิธิชุมชน" หรือ "กองทุนสุขภาวะ " ในมิติของการเป็นองค์กรเชื่อมประสานทรัพยากรที่จะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ทางปัญญาร่วมกันของคนในพื้นที่
      หากมีใครสักคนบอกว่าในกรุงเทพฯ ยังมีชุมชนที่ทำนาข้าว คนทั่วไปก็คงจะไม่เชื่อ และคงจะไม่เชื่อมากกว่านั้นหากจะบอกว่า ในกรุงเทพฯ เมืองแห่งความสับสนวุ่นวาย มีชุมชนที่นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นอย่างได้ผลดีเยี่ยม จนส่งผลให้กลายเป็นชุมชนที่มีความสุขสงบ
      ชุมชนแผ่นดินทอง คอยรุตตั๊กวา หมู่ 5 แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพฯ คือชุมชนดังกล่าว ซึ่งชุมชนแห่งนี้อยู่ทางทิศตะวันตกสุดของกรุงเทพฯ ในพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่อายุกว่า 130 ปี ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ยังมีการทำนาข้าว เลี้ยงสัตว์ ดำเนินชีวิตอย่างสุขสงบตามหลักศาสนาอิสลาม และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
      ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นทันทีที่เข้าไปในชุมชนแห่งนี้คือการรับรู้ได้ถึงบรรยากาศของความร่มรื่นเงียบสงบแบบชายทุ่งที่มีต้นไม้ให้ร่มเงา มีเสียงนกร้อง มีลำคลองสวยๆ ไหลผ่าน มีบ้านเรือนตั้งอยู่เป็นลักษณะกลุ่มบ้าน ที่น่าสังเกตคือ ไม่มีบ้านหลังใดเลยที่มีรั้ว เพราะที่ชุมชนแห่งนี้ไม่มีการลักขโมย อีกทั้งเพื่อนบ้านใกล้เคียงยังช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตาดูแลซึ่งกันและกันอยู่เสมอ
      ชุมชนแห่งนี้สามารถรักษาความสุขสงบไว้ได้ ทั้งๆ ที่อยู่ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมรอบข้างที่กำลังกลายเป็นเมือง ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การที่ชาวชุมชนช่วยกันรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีหลักศาสนาอิสลามเป็นพื้นฐานในจิตใจ มีการใช้ศาสนาเป็นศูนย์กลาง ใช้ศาสนาเป็นสิ่งที่สร้างสังคม ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันที่สำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมและพอดี
      นอกจากนี้ชาวชุมชนส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาสูงพอสมควร และได้นำความรู้นั้นมาพัฒนาชุมชน ขณะที่ชุมชนเองก็มีทรัพยากรมากพอจากการผลิตเองภายในชุมชน ทำให้สามารถพึ่งตนเองได้และลดรายจ่ายลงได้มาก เมื่อเหลือจากการใช้บริโภคในครัวเรือนแล้วยังสามารถจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริม แต่ไม่ได้ทำในลักษณะของ OTOP เพราะชุมชนเล็งเห็นว่าวิธีคิดแบบ OTOP เป็นวิธีที่สร้างปัญหา
      "OTOP กลายเป็นปัญหา เพราะมันไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เมื่อก่อนมันเป็นการทำอยู่ทำกิน พอเปลี่ยนมาเป็นทำเพื่อการค้า มันก็เลยมีปัญหาการตลาด ต้องมีการจัดงานที่เมืองทองธานี เอาอุตสาหกรรมมาเกี่ยวโยง ต้องมี PACKAGING ฟุ่มเฟือยบริโภค เกิดการแข่งขันกันขาย สุดท้ายคือประชาชนตอนนี้หมดโอกาส OTOP ก็เลยไปตกอยู่ในมือของอุตสาหกรรม " อาจารย์สมชาย สมานตระกูล ประธานชุมชนเล่าให้ฟังในบ่ายวันหนึ่งที่บริเวณร่มไม้หน้าบ้านของอาจารย์
      "ที่นี่ไม่มี OTOP แต่มีกระบวนการ OTOP ในครัวเรือนนี่มีขนมเยอะแยะเลย แต่ไม่วางขายเป็น OTOP แต่ทุกอย่างมาจากภูมิปัญญา มีขนมดอกจอก ขนมหม้อแกง ทุกอย่าง ใครอยากกินก็ขอให้บอก เราจะทำให้เป็นรายๆ ไป แต่ถ้าให้ไปทำแข่งกันขาย อันนี้เราไม่เอา เพราะที่นี่เน้นการให้ การเอื้ออาทร มีการปรับสมดุลความพอดี คือเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เน้นการแข่งขัน คนมีอำนาจก็จะข่มคนอื่น ซึ่งผิดคุณธรรม บ้านเมืองก็เลยมีปัญหา"
      ชุมชนแผ่นดินทอง คอยรุตตั๊กวา ได้ก่อตั้งสหกรณ์ร้านค้ามาตั้งแต่ พ.ศ.2532 นับเวลาจนถึงปัจจุบันนี้ได้ 17 ปีแล้ว โดยชุมชนเป็นผู้ก่อตั้งกันเอง คิดกันเอง ทำกันเอง บนพื้นฐานของความไม่มีอะไรเลย ตั้งแต่ไม่มีอาคาร ไม่มีทุนเงิน มีแต่ความคิดที่อยากทำสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือกันเองในรูปแบบของสหกรณ์ โดยให้คนที่มีเงินน้อยมาเป็นเจ้าของ เงินกำไรที่ได้จากสหกรณ์ร้านค้า จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน เพื่อปันผลให้กับสมาชิก และเอามาพัฒนาชุมชน เช่น ทำศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม
      ในการระดมทุนครั้งแรก มีการขายหุ้นในอัตราผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 20 บาท รวมเป็นเงิน 7,000 บาท แต่เมื่อได้เงินมาแล้ว กลับพบอุปสรรคเนื่องจากผู้คนจำนวนมากยังไม่เข้าใจ
      "ไปซื้อของไม่มีร้านไหนขายให้เลย เพราะไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร มันจะไปไหวไหม คือไปซื้อของราคาประมาณ 15,000 บาท จนไปเจอร้านหนึ่งเขาบอกว่า อาจารย์..หนูช่วย แล้วก็ได้ของจากร้านนั้นมาขาย โดยใช้มุมหนึ่งของโรงเรียนเป็นที่ตั้งสหกรณ์ขายสินค้า คนก็เริ่มเข้าใจ แล้วมีเงินปันผล ซึ่งกลายเป็นคำตอบว่า สหกรณ์ดี ชาวบ้านก็เลยถือหุ้นเพิ่ม ไม่เคยเลยในชีวิตที่ชาวบ้านซื้อของแล้วจะได้เงินกลับคืน ตอนนี้มีเงินหุ้นอยู่ 7 แสน มีเงินทุนหมุนเวียน 1 แสน ซึ่งพอแล้ว และชุมชนไม่อยากขยายสหกรณ์ คือจริงๆ แล้วสหกรณ์เป็นอุดมการณ์ สหกรณ์ไม่ใช่ร้านค้า"
      "สำนักพัฒนาชุมชนเข้ามาถามผมว่า อาจารย์จะเอาเงินไหม ดอกเบี้ยไม่มี ผมบอก..ผมไม่เอา เงินโครงการ SML ก็ไม่เอาด้วย ทุนที่จะเข้ามา มันควรเป็นทุนทางสังคมมากกว่า ถ้าเป็นทุนเงินมันจะเป็นดาบฟันสังคม ฟันไม่เลี้ยงเลย" อาจารย์สมชายอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น
      สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีความอยู่เย็นเป็นสุขก็คือ การมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีความรู้ ยึดมั่นในศาสนา เป็นผู้สามารถประสานทุกอย่างด้วยหลักการเข้าด้วยกันอย่างลงตัวและเหมาะสม แบบอาจารย์สมชาย และกรรมการชุมชนนี่เอง จนปัจจุบันชุมชนแผ่นดินทอง คอยรุตตั๊กวา มีความสุขสงบร่มเย็นจนกลายเป็นชุมชนตัวอย่างที่ได้รับรางวัลมากมาย และเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของหน่วยราชการต่างๆ องค์กรชุมชนท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จนชื่อเสียงแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง
      ซึ่งเราหวังว่า คุณจะเป็นหนึ่งในการร่วมสร้างกองทุนสุขภาวะ หรือกองทุนความสุขนี้ ให้เบ่งบาน และเติบโตอย่างมั่นคงได้ หลายฝ่ายต้องเข้ามาร่วมให้ข้อคิดเห็น และร่วมสร้างความสุขด้วยกัน เพื่อให้กองทุนความสุขนี้ ออกดอก ออกผลทั่วกรุงเทพฯ บ้านของเรา
      คุณก็เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งรอยยิ้มและมีความสุขบนวิถีเศรษฐกิจพอเพียงได้

Relate topics

Comment #1
No Name (Not Member)
Posted @28 ม.ค. 51 10:52 ip : 58...145

ที่ชุมชนเเผ่นดินทองคอยรุตตั๊กกวาหนูเคยไปมาเเล้วค่ะ ดีมากๆเลยค่ะ    น่าจะได้รางวัลชุมชนน่าอยู่เเห่งปีนะเนี่ย

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว