สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

"หมอมงคล" ชี้เลือกยาบัญชีหลักเน้นจำเป็น-ไม่แพง-มีคุณภาพ

"หมอมงคล" ชี้คัดเลือกยาในบัญชียาหลักต้องเป็นยาที่จำเป็น ไม่แพง มีคุณภาพ ระบุทั้งหมอ-คนไข้ใช้ยาฟุ่มเฟือย ไม่สมเหตุสมผล เผยยอดรวมค่ายาทะลุสูงร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งประเทศ แต่สุขภาพไม่ได้ดีกว่าประเทศที่บริโภคยาต่ำ หวั่น พ.ร.บ.ยาแท้ง เหตุขัดแย้งผลประโยชน์บริษัทยา แก้ไขเพิ่มให้แจงโครงสร้างราคายา สร้างกลไกควบคุมราคาเป็นธรรม ยกสินค้าจำเป็นอื่นๆ ต้องขออนุญาตกระทรวงพาณิชย์ก่อนขึ้นราคา แต่ยาซึ่งเป็นปัจจัย 4 กลับไม่มีใครรู้ราคายาที่เป็นจริง

วันนี้ (30 พ.ค.) ในการประชุมสัมมนาเรื่องการพิจารณาคัดเลือกยาในบัญชียาหลัก นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ทิศทางและนโยบายด้านยากับระบบประกันสุขภาพ" ว่า นโยบายที่สำคัญในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และการเข้าถึงยาที่มีดีที่คุณภาพ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม โดยจะต้องเป็นยาที่มีความจำเป็นจริงๆ มีคุณภาพ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาหลายสิ่งหลายอย่างไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ ทั้งปัญหาการเข้าถึงยา และการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านยาคิดเป็นร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนร้อยละ 10-20 เท่านั้น ขณะที่สุขภาพของคนไทยมิได้ดีกว่าประเทศที่มีการบริโภคยาต่ำกว่าโดยมีหลักฐานการวิจัยที่มีชี้ว่ามีปัญหาการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมอยู่มาก คือ พบตั้งแต่ร้อยละ 12- 91.3 รวมทั้งความไม่ปลอดภัยในการใช้ยา โดยมีรายงานว่าผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมีภาวะไม่พึงประสงค์จากการเข้าถึงยาร้อยละ 20 ของภาวะไม่พึงประสงค์ทั้งหมด โดยร้อยละ 11.4 เสียชีวิต และร้อยละ 2.9 มีการพิการถาวรมากกว่าร้อยละ 50 ของร่างกาย

"มีข้อคำถามเยอะมาก ว่า ยาในบัญชียาหลักเป็นยาที่มีความจำเป็นหรือไม่ มีคุณภาพหรือไม่ หรือแม้แต่ยาขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) เองมีคุณภาพ 100% หรือไม่ ดังนั้น จึงมีอะไรอีกมากที่จะต้องช่วยกันทำ รวมถึงระบบการใช้ยาก็เช่นเดียวกัน ที่ยังมีความฟุ่มเฟือยไม่ว่าจะเป็นทั้งหมอและคนไข้ ซึ่งโดยมากจะวัดว่าหมอรักษาเต็มที่หรือไม่ด้วยการสั่งยา หากหมอไม่จ่ายยาหรือจ่ายยาน้อยกลายเป็นว่าหมอให้บริการไม่น่าพอใจ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีหมอของเราที่หลังจากที่บริษัทยาพาไปเที่ยวสัมมนาอบรมต่างๆ แล้ว ก็มีชื่อยาติดอยู่ในหัวตลอดเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้การใช้ยามากเกินความจำเป็น" นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ มียาหลายตัวที่ในองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (US FDA) หรือ เอฟดีเอ มีการประกาศเลิกใช้ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในประเทศไทย ผสมปนเปกันไป ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยสูงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งแพทย์ เภสัชกร นโยบาย ระบบการใช้ยา การอภิบาลระบบ ล้วนมีความสำคัญ ซึ่งจะต้องช่วยกันอย่างจริงจังจริงใจเท่านั้น จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ ที่สำคัญ จะต้องมีการนำนโยบายกฎเกณฑ์ต่างๆ นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง

"ประเทศของเราไม่ใช่ประเทศที่สามารถผลิตยาด้วยตัวเองแม้จะมีการลงทุน สนับสนุนการพัฒนาและวิจัย แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ แต่ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาจากต่างประเทศ โดยซื้อเทคโนโลยี ที่มีราคาแพง ดังนั้น ราคายาจึงเป็นส่วนหนึ่งของประสิทธิภาพยาที่จำเป็นในการนำมาพิจารณาการขึ้นบัญชียาหลัก โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำลังผลักดันร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ยา ให้มีการแจกแจงโครงสร้างราคายาซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการต่อรองราคายาด้วย" นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวอีกว่า ส่วนการต่อรองราคายาจำเป็น โดยมีการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ทั้งยาเอดส์ ยามะเร็ง ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้คนยากจนมีโอกาสเข้าถึงยาซึ่งในระบบสวัสดิการทั้ง 3 ระบบของประเทศ ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ยาบางตัวหากมีราคาแพงก็ไม่สามารถจ่ายได้ คนที่อยู่รอดจึงมีเพียงคนที่มีความสามารถที่จะจ่ายได้ ซึ่งประเทศไทยมีไม่เกิน 20% จากประชากรทั้งหมดกว่า 60 ล้านคน ดังนั้น หากยาถูกลง มีบัญชียาหลักที่ดี สปสช.หรือสำนักงานประกันสังคมก็จะมีกำลังในการที่จะซื้อยาเพื่อคนยากจนเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น และค่าใช้จ่ายจากยาก็จะลดลงด้วย

นพ.มงคล กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในปีนี้คณะกรรมการแห่งชาติด้านยามีนโยบายในการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติให้เป็น "บัญชียาแห่งชาติ" เพื่อสร้างเสริมระบบการใช้ยาอย่างเหมาะสม ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยมุ่งให้เกิดความยั่งยืนของระบบสวัสดิการภาครัฐ และสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงยา สำหรับประชาชนที่มีความจำเป็นเฉพาะเช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องใช้ยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของการคัดเลือกยาเข้า "บัญชียาแห่งชาติ" ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ยาที่ได้รับคัดเลือกต้องเป็นยาที่มีประสิทธิภาพจริง สนับสนุนด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงจากการใช้ยาอย่างชัดเจน

มีความคุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาวิถีชีวิตพอเพียง โดยจัดให้มีกลไกกลางกำกับสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นให้สามารถเข้าถึงยาได้

"บัญชียาแห่งชาติฉบับนี้ดำเนินการคัดเลือกด้วยความโปร่งใส ผ่านการพิจารณาจากคณะบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยมีรายการยาที่มีความจำเป็นในการป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนไทยอย่างครอบคลุม บัญชียาแห่งชาตินี้จะมีการปรับปรุงเป็นระยะให้ทันต่อสถานการณ์ และเปิดโอกาสให้มีการแสดงความ คิดเห็นในระหว่างขั้นตอนการคัดเลือกยาและตรวจสอบได้ตามความเหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งต่อประชาชน ผู้สั่งใช้ยา ระบบบริหารเวชภัณฑ์ ผู้บริหารสถานพยาบาล ระบบการเบิกจ่ายเงินค่าบริการสุขภาพ และระบบเศรษฐกิจของชาติ" นพ.มงคล กล่าว

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ได้มีการปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ.ยาให้มีการแจกแจงโครงสร้างราคายา เนื่องจากปัจจุบันราคายามีราคาแพงเกินเหตุ ไม่ทราบต้นทุนที่แท้จริงว่ามีเท่าใดกันแน่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนตรงนี้ เพื่อป้องกันการผูกขาดและเป็นเครื่องมือกลไกที่จะช่วยให้รู้ต้นทุนที่แท้จริงของสินค้าเหมือนกับสินค้าอื่นๆ เหมือนกับกระทรวงพาณิชย์ที่มีการประกาศสินค้าจำเป็นจะต้องมีการขออนุญาตหากจะขอขึ้นราคาสินค้า ซึ่งยาก็เป็นสินค้าหนึ่งที่มีความจำเป็นทั้งยังเป็น 1 ในปัจจัย 4 ด้วย จึงควรที่จะมีกลไกควบคุมราคาที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน

"มีเสียงต่อต้านพ.ร.บ.ยามากเช่นกันเพราะเกี่ยวกันกับผลประโยชน์ของบริษัทยา เนื่องจากรายละเอียดพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้มีการแจกแจงรายระเอียดราคายาว่ามีต้นทุนเท่าไหร่ การวิจัย พัฒนามีค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง มีการบวกกำไรกี่เปอร์เซ็นต์ มีความสมเหตุสมผลและเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่ โดยที่ผู้ประกอบการยังคงได้กำไร เพียงแต่มีการแสดงความโปร่งใสของผู้ประกอบการเท่านั้น"นพ.ศิริวัฒน์กล่าว

นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวด้วยว่า อย่าไรก็ตามขณะนี้พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีความกังวลพอสมควรเกรงจะมีปัญหาเหมือนกับพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดีจะมีการพิจารณาแต่ละมาตราอย่างละเอียด พร้อมทั้งมีการแก้ไขปรับปรุงก่อนจะนำสู่การพิจารณาสภานิติบัญญัติ โดยมุ่งหวังให้พ.ร.บ.แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ได้ในรัฐบาลนี้

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 30 พฤษภาคม 2550 13:31 น.

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว