สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

พบเด็กไทยเส้นยึด-ตึง เหตุหิ้วกระเป๋าหนัก-นั่งหน้าคอมนาน

พบเด็กไทยเส้นยึด-ตึง เหตุหิ้วกระเป๋าหนัก-นั่งหน้าคอมนาน

17 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 15:47:00

นักวิชาการระบุ เด็กไทยมีปัญหาโครงสร้างร่างกาย เส้นยึด เส้นตึง ข้อต่อ ต้นตอมาจากหิ้วกระเป๋าหนัก-นั่งหน้าคอมพิวเตอร์นาน วอน ศธ. และโรงเรียนใส่ใจโครงสร้างร่างกายเด็กให้มาก

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายมงคล ศรีวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการปรับสมดุลและเพิ่มพลังชีวิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึงสภาพร่างกาย และโครงสร้างทางร่างกายของเด็กไทยยุคปัจจุบันผิดเพี้ยนจากเดิมไปมาก

เกิดจากการดำรงชีวิตที่ไม่สมดุล เด็กไทยหิ้วกระเป๋าหนักมากเกินไป หรือบางคนก็นั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การที่หิ้วกระเป๋าหนักๆ หรือนั่งหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ

ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัว เส้นจะตึงไปตลอดทั้งตัว จากการตรวจสภาพความยืดเหยียดในเด็กนักเรียนพบว่า เด็กไทยมีปัญหาเกี่ยวกับเส้นยึด เส้นตึง เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะนำมาซึ่งปัญหาด้านข้อต่อของกระดูก

"สังคมไทยเข้าใจผิดอย่างมาก คิดว่าปัญหาเรื่องเส้นยึดหรือข้อต่อเสื่อมนั้น เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น ความจริง ปัญหาเหล่านี้เกิดกับเด็กไทยจำนวนมาก แต่พ่อแม่ ครู หรือบุคคลทางการแพทย์ยังไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก เพราะคิดว่าวัยเด็กเป็นวันที่มีความแข็งแรงสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว จึงไม่ต้องให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้"

นายมงคล กล่าวด้วยว่า เด็กที่หิ้วกระเป๋าหนักมากๆ จะเกิดอาการไหล่เอียงและทำให้กระดูกสันหลังคด โค้ง จากนั้นสังคมไทยก็เริ่มพูดกันเรื่องกระเป๋านักเรียนของเด็ก ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อนุญาตให้ใช้กระเป๋าเป้สะพายหลัง เพื่อให้น้ำหนักเกิดความสมดุล ไม่ต้องหิ้วกระเป๋าอีกต่อไป

แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นมาอีก คือ วัยเด็กเป็นวัยที่กระดูกสันหลังยังไม่แข็งแรง เมื่อมีกระเป๋าไปกดทับตรงแนวไหล่ ข้อต่อไหล่ของเด็ก จึงเริ่มใช้ไม่ได้

และหากไม่ช่วยแก้ไขปัญหาให้เด็ก อาการที่เส้นถูกกดทับไหล่จะรุนแรงมากขึ้น เด็กบางคนเกิดปัญหาเส้นที่ถูกกดทับจะไปกดทับเส้นเลือดที่ต้องไปเลี้ยงหัวใจ เด็กจะเริ่มเหนื่อย หายใจไม่เต็มปอดเส้นเลือดที่จะไปเลี้ยงหัวใจเกิดตีบ ในที่สุดอาจจะเป็นโรคหัวใจได้

ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ตลอดถึงครู ต้องช่วยสังเกตเด็ก โดยสอนให้เขาพิจารณาและสำรวจสภาพร่างกายของตัวเอง วิธีการทดสอบและสังเกตเด็กๆ เกี่ยวกับโครงสร้างร่างกาย

วิธีง่ายๆ คือให้เด็กยืนตรง จากนั้นให้ยกขาข้างหนึ่งขึ้น และให้ยืนบนขาที่ถนัดที่สุด ต้องทรงตัวให้อยู่นิ่งๆ จากนั้นให้เด็กหลับตา พร้อมกับนับ 1-10 ให้ได้

ถ้ายืนได้ แสดงว่าสภาวะจิตของเด็กคนนั้นปรับสมดุลตัวเองได้ แต่บางคนทรงตัวไม่ได้ ต้องช่วยปรับการใช้โครงสร้างที่ถูกให้เด็กๆ ทันที ด้วยการแก้ปัญหาเส้นด้วยการนวด

จากนั้นต้องสอนวิธีบริหารร่างกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ซึ่งการบริหารร่างกายด้วยโยคะควรคู่กับไทเก็กจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว