สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เกษตรยุคใหม่ : เพิ่มมูลค่ายางพารา

หลังจากที่เคยเขียนเรื่องราคายางพาราไว้เมื่อไม่นานมานี้ โดยเตือนให้จับตาดูราคายางให้ดีว่า คงไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ ดังนั้นอย่าได้ผลีผลามโค่นพืชอื่น แล้วหันมาปลูกยางกันหมด มาถึงวันนั้นคงจะเริ่มเห็นแล้วว่า ราคายางพาราของเราเริ่มดิ่งลงเหวอย่างแรง และยังไม่รู้ว่าจะหยุดเมื่อไร ก็ได้แต่หวังว่าราคาคงไม่ตกต่ำจนเกิดปัญหาขึ้นมามากกว่านี้

พอพูดถึงเรื่องราคายางก็คงต้องไปเกี่ยวพันกับตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดต่างประเทศ เพราะว่าเป็นลูกค้าของเราโดยตรง และที่สำคัญคือ ราคาของยางมักจะไม่อยู่ในความควบคุมของเรา แต่กลับกลายเป็นว่าตลาดเป็นตัวควบคุมราคา เมื่อเป็นอย่างนี้ถ้าเราหวังพึ่งพาตลาดต่างประเทศในรูปของการส่งวัตถุดิบไปขายอย่างที่เคย คงต้องรอให้ต่างประเทศเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของเราโดยตลอด

ทางหนึ่งที่จะหนีให้พ้นการพึ่งพาดังกล่าวได้บ้าง คือการสร้างมูลค่าเพิ่มจากยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบที่ไม่ค่อยมีใครทำกัน เพื่อจะได้ควบคุมตลาดได้ง่ายขึ้น อย่างการแปรรูปยางให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มแบบต่างๆ ให้มากขึ้น ที่สำคัญคือ คนไทยเราเองต้องหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้มากขึ้นเช่นกัน มิฉะนั้นคงไม่มีใครกล้าลงทุนผลิตสินค้าใหม่ๆ แล้วเราก็คงต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศต่อไป

ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่ทำได้จากยางพารา ที่น่าสนใจคือ การผลิตผิวหนังเทียมจากยางพารา ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้มี ผศ.ดร.ชลดา เลวิส และคณะจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ดำเนินการ เป้าหมายคือการพยายามที่จะสร้างผิวหนังเทียมจากยางพารา เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนของนักเรียนแพทย์และพยาบาล เท่าที่ผ่านมาก็มีการใช้ยางซิลิโคนเหลว ซึ่งเป็นยางสังเคราะห์ที่มีความนิ่มและไม่เหนียวจนเกินไป แล้วนำมาหล่อเป็นรูปร่างหรืออวัยวะต่างๆ สำหรับใช้ในการฝึกหัดการฉีดยา การผ่าตัด หรือว่าการเย็บแผล

แต่ปัญหาคือ "ยางซิลิโคน" เป็นของที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศและราคาแพง ดังนั้นการที่เมืองไทยเรามียางธรรมชาติมหาศาลส่งออกอันดับหนึ่งของโลก น่าที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวใช้เอง รวมทั้งส่งออกไปขายต่างประเทศได้ด้วยซ้ำไป

กลุ่มนักวิจัยนี้จึงได้นำเอายางธรรมชาติเหลว ซึ่งมีราคาถูกและเป็นวัตถุดิบภายในประเทศมาพัฒนาจนกระทั่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับผิวหนังของคนเราจริงๆ หมายความว่าต้องมีความนิ่ม ซึ่งสามารถใช้เข็มฉีดยาเจาะเข้าไปได้ หรือสามารถใช้มีดกรีดได้ใกล้เคียงกับผิวหนังของคน วิธีการนี้ก็จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราได้มากขึ้น แต่เดิมเรื่องการใช้ยางพาราในการสร้างเป็นอุปกรณ์ช่วยการสอนก็มีอยู่บ้างแล้ว เช่นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยศึกษาใช้ยางพารามาหล่อขึ้นรูปเป็นอวัยวะต่างๆ สำหรับการสอนกายวิภาค กระทั่งสามารถผลิตขายออกไปในวงกว้างแล้ว

แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการทดแทนผิวหนังเทียม ส่วนการใช้ยางธรรมชาติมาทำเป็นอวัยวะเทียมเพื่อใช้สอนเรื่องการฉีดยาหรือเย็บแผลนั้น ก็เคยมีการทำกันมาก่อนโดยใช้ยางมาทำในรูปของฟองน้ำ ซึ่งมีข้อด้อยคือว่าไม่ค่อยเหมือนกับผิวหนังจริง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการฝึกฉีดยา กรีดผิวหนังหรือว่าเย็บแผล ก็จะให้ความรู้สึกไม่เหมือนจริง

ผลงานที่นักวิจัยกลุ่มนี้ ได้ทำขึ้นอยู่ในระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร เพราะว่ามีโอกาสนำไปใช้ได้กว้างขวางเชิงพาณิชย์ โดยที่เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตซึ่งก็มีหลายขั้นตอนพอสมควร กระทั่งได้ยางธรรมชาติแปรรูปที่นำมาใช้ทำเป็นผิวหนังเทียมโดยมีความหนืด ความแข็ง และความยืดหยุ่นเหมาะสม ตอนนี้ได้มีการทดลองหล่อออกมาเป็นรูปมือ และแขนเทียม เพื่อนำไปทดลองใช้ประโยชน์ในการเป็นสื่อการสอนอย่างที่บอกไว้ตอนต้น ดังนั้นหากใช้ได้จริงและมีคุณสมบัติดีกว่า หรืออย่างน้อยก็เท่ากับผิวหนังเทียมที่ทำมาจากยางซิลิโคน

นั่นหมายความว่า เรามีโอกาสที่จะพัฒนาให้เกิดเป็นสินค้าสำหรับการเรียนการสอนทางการแพทย์ ทั้งในประเทศ หรือแม้แต่การส่งออกไปขายต่างประเทศได้อย่างสบาย


บายไลน์ -เกรียงศักดิ์ เผ่าอินทร์
ที่มา คมชัดลึก

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว