สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

แก้จนของจริงที่คำปลาหลาย

by kai @18 ก.พ. 49 22:37 ( IP : 58...246 ) | Tags : มุมมองหมอ

อาจสามารถโมเดล ที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้ไปแสดงเรียลลิตี้ โชว์มาตลอด 5 วันเต็ม ที่อำเภออาจสามารถ จังหวัดขอนแก่น ได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า จะแก้จนได้จริงหรือ หรือเป็นเพียงการดิ้นรนทำคะแนนในช่วงขาลง แต่กรณีศึกษาจากหมู่บ้านคำปลาหลาย อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ที่ไม่มีการจัดฉากใดๆ ได้พิสูจน์แล้วว่า การแก้จนทำได้ไม่ยาก แต่ต้องพึ่งตนเอง

หมู่บ้านคำปลาหลาย มองจากภายนอกก็รู้สึกเหมือนหมู่บ้านทั่วๆไป ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ลุงแสวง สิงห์น้อย เล่าว่า " แรกเริ่มเดิมทีหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่ยากจนที่สุดและเล็กที่สุดในอำเภอ คนก็น้อยมีอยู่แค่ 200 กว่าคนเท่านั้น ที่ดินก็เป็นทรายปลูกอะไรก็ไม่ค่อยขึ้น ชื่อหมู่บ้านว่า คำปลาหลาย ก็จริง แต่ความจริงก็คือว่า ปลาก็บ่หลาย น้ำก็บ่หลาย แล้งมากจนปลาตายหมด ที่นี่ในอดีตก็เหมือนเกษตรกรอีสานทั่วไปที่นิยมปลูกพืชเชิงเดียว ก็คือเวลารัฐบอกมาว่าให้ปลูกอะไร ก็ปลูกตามกันทั้งหมู่บ้าน เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด นายทุนพ่อค้าที่มาซื้อก็กดราคาได้ตามใจชอบ ทุกปีขาดทุนสะสม ทำมากขาดทุนมาก คนหนุ่มสาวต้องอพยพไปเป็นกรรมกรในเมืองใหญ่ หมู่บ้านเงียบเหงา ครอบครัวแตกแยก โรคภัยรุมเร้า ความหวังเลือนลาง"

จนกระทั่งปี 2537 ทางโรงพยาบาลอุบลรัตน์ก็ได้ส่งนักพัฒนาคนหนึ่งเข้ามากระตุ้นจุดประกายความคิดในหมู่บ้าน ให้มาช่วยกันคิดว่าหมู่บ้านมีทุกข์อะไรบ้างและสาเหตุมาจากอะไร หลังจากคิดกัน 2 วัน 3 คืน คุณลุงและเพื่อนๆก็ได้ข้อสรุปว่า ที่เราเป็นหนี้อยู่ทุกวันนี้ ที่เราทุกข์ ที่เราจนกันทุกวันนี้ สาเหตุก็มาจากตัวเรากันเอง

พอคิดได้ทุกคนก็เริ่มจะมองหาทางออกอื่นๆที่ไม่เหมือนที่แล้วๆมา จากการสนับสนุนจากองค์กรศุภนิมิตร ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านบางคนก็ได้ออกไปดูงานไปและเรียนรู้การพัฒนาตามหมู่บ้านอื่นๆที่ประสบความสำเร็จและมีความสุขโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง พอได้แนวคิดผู้ใหญ่ก็กลับมาประชุมกันที่หมู่บ้านว่า ต่อไปนี้เราจะทำการเกษตรแบบผสมผสานแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เน้นปลูกเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน เหลือจึงขายหรือแบ่งปันแก่เพื่อนบ้าน และเราจะเปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยลำแข้งลำขาของเราเอง ไม่หวังพึ่งคนอื่นหรือทางราชการ

การปลูกเริ่มต้นจากการปลูกผักผลไม้ที่กินได้ก่อน และปลูกแบบพอกิน คุณลุงเริ่มปลูก 1 ไร่ ช่วงแรกๆอาจจะเหนื่อยหน่อยที่ต้องดูแลต้นกล้าเล็กๆ แต่ต่อมาพอต้นไม้โตแล้ว ก็ไม่ต้องดูแลมาก พอมีพอกินและยังมีพอเหลือที่จะแบ่งให้เพื่อนบ้าน ถ้าเหลืออีกก็จะเอาไปขาย จึงพอจะมีเงินเก็บอยู่บ้าง นอกจากนี้ทุกบ้านยังปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อนำไม้มาใช้สร้างบ้านในอนาคต ถึงแม้ว่าจะกินระยะเวลาอีกนานกว่าจะได้ใช้ แต่ต้นไม้ใหญ่พวกนี้ก็ช่วยดูดซับความชุ่มชื้นไว้ในดิน และยังช่วยเป็นร่มเงาให้แก่ไม้เล็กที่ปลูกไว้กิน ทุกบ้านจะขุดบ่อเก็บกักน้ำขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีน้ำมากมายแต่ก็มีน้ำพอที่จะใช้ดื่มกิน และพอที่จะเป็นที่อยู่ของปลาของเป็ดได้ เมื่อหมู่บ้านเข้มแข็ง คนในหมู่บ้านมีความสุข เงินก็มาเองโดยไม่ต้องขวนขวายหาแบบที่แล้วๆมา

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้ลงกองทุนหมู่บ้านละล้านมาให้ คุณลุงแสวงเล่าว่า "หมู่บ้านผมไม่มีใครไปกู้ซักคน ทางการเขาก็หาว่าหมู่บ้านเราบริหารเงินไม่เป็น ไอ้ผมก็ถามคนในหมู่บ้าน ไม่มีใครอยากกู้หรอกครับ ทุกคนก็มีเงินเก็บเงินออม ไม่มีใครอยากเป็นหนี้อีกแล้ว ผมต้องขอร้องให้ใครอยากทำอะไรก็ช่วยๆไปกู้เอาใจนายกฯเขาเสียหน่อย"

นี่คือเรื่องคร่าวๆของหมู่บ้านคำปลาหลาย กับแนวทางการพัฒนาและการแก้จนอย่างยั่งยืนภายใต้การสนับสนุนจากโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ที่สามารถตอบโจทย์ในด้านการสร้างสุขภาวะที่แท้จริงได้อย่างตรงจุดที่สุด แก้จนด้วยลำแข้งลำขาตนเอง ไม่ต้องไปพึ่งพาโมเดลโชว์ใดๆ ที่เน้นการขอ การแจก และการหวังให้คนอื่นมาแก้ปัญหาให้ ความจนต้องแก้ที่ฐานราก แก้ที่วิธีคิด ให้พึ่งตนเองบนความพอเพียง จึงจะยั่งยืน

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว