สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ปัญหา Classic ประเด็นวัฒนธรรม

by กล้วยหวาน @13 ก.พ. 52 12:50 ( IP : 118...81 )
photo  , 600x450 pixel , 102,290 bytes.

มีโอกาสลงพื้นที่ ต.ควนโส อ.รัตภูมิ 1 ใน 6 พื้นที่เป้าหมายดำเนินการทำแผนสุขภาพตำบลในปีนี้(2551-2552)

บ่ายวันพฤหัสบดี ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 ณ ห้องประชุม อบต.ควนโส สถานที่นัดหมายประชุมคณะทำงานประเด็นวัฒนธรรม โดยมีคุณภิติพัฒน์  หนูมี ปลัดอบต.ควนโสเป็นผู้ประสานงานหลักของพื้นที่

วันนี้เป็นยกแรกของการคุยของประเด็นวัฒนธรรม  ผู้เข้าร่วมประชุมมีตัวแทนศิลปินในพื้นที่ ตัวแทนครูจากโรงเรียนปากจ่าวิทยา บ้านควนเนียง และตัวแทนสภาวัฒนธรรมควนเนียง  มีการระดมความเห็นถึงทุนด้านวัฒนธรรม แค่เริ่มด้วยคำขวัญของพื้นที่เราก็เห็นถึงทุนของพื้นที่แล้ว "ควนสูงเด่น ยาเส้นเมา นกเขาโต แตงโมหวาน " หนังอ้นจันทร์ กล่าวด้วยรอยยิ้ม การระดมเริ่มเริ่มตั้งแต่ความเป็นมาของชื่อควนโสซึ่งมีด้วยกัน 2 คำบอกเล่า มีทุนด้านภูมิปัญญา ทั้งภูมิปัญญาทางด้านศิลปการแสดง นายหนังตะลุง โนรา  ช่างทำเทริดโนรา ช่างแกะสลักหนัง  ภูมิปัญญาด้านการรักษา ทั้งหมอบีบ หมอต่อกระดูก ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม ทั้งการจักสาน เครื่องมือประมง ด้านอาหารมีแตงโมเป็นของขึ้นชื่อ และข้าวสังหยดที่น่าจะมีการต่อยอดได้  มีประเพณีลากพระเดือนห้า ที่มีที่เดียวที่ วัดควนโส  และความเชื่อเรื่องของพ่อจอมหน้าเขื่อน  ความศรัทธาต่อท่านไชย วัดควนโสที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน

ปัจจุบันสำหรับกลุ่มองค์กรในพื้นที่ที่มีการ ส่งเสริม สนันสนุน  กิจกรรมด้านวัฒนธรรม มีอบต. มีการอบรมการแกะสลักรูปหนังให้เด็ก สภาวัฒนธรรมตำบลควนโส สนับสนุนด้านอุปกรณ์ สภาวัฒนธรรมอำเภอควนเนียง อบรมลูกคู่หนังตะลุง จัดงานเสวนานายหนังตะลุง และประชุมนายหนังประจำเดือน กลุ่มคนรักษ์หนังตะลุง  มีการอบรมลูกคู่เด็ก โรงเรียนปากจ่าวิทยา และโรงเรียนควนเนียง มีชมรมโนรา  สำหรับโรงเรียนปากจ่าวิทยา มีวิชาเลือกโนราหนังตะลุง และมีการถามถึงปัญหา อุปสรรคของการทำงานด้านวัฒนธรรมทีผ่านมา ประเด็นที่มีการพูดถึงก็ด้านความต่อเนื่องในการทำงานจากงบประมาณส่วนหนึ่ง การขาดการรวมรวมข้อมูลด้านวัฒนธรรม การขาดพื้นที่ในการแสดงของศิลปินในพื้นที่ ที่คนในพื้นที่ไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก  และโดยเฉพาะเด็กเยาวชน ที่ได้รับการฝึกอบรมด้านศิลปวัฒนธรรม

แต่ประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนกันมากคือ "ขนบการแสดงแบบเดิมสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในปัจจุบันหรือไม่" มุมหนึ่งบอกว่าวิถีชีวิตคนในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตแล้ว  ศิลปินควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ แต่อีกมุมหนึ่งศิลปิน บอกว่า แล้วในขนบมันมีเรื่องคุณค่า ที่มีแบบแผนเพราะเขามีการให้คุณค่า โจทย์ใหญ่คือจะคงคุณค่าเดิมและร่วมสมัยได้อย่างไร  มีการให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า ต้องทำให้ ผู้แสดง(ศิลปิน)  ผู้ชม(คนทั่วไป) ผู้สนับสนุน(หน่วยงาน องค์กร ที่สนับสนุน) เข้าใจซึ่งกันและกัน และค้นหารูปแบบที่เหมาะสมและคงคุณค่าเดิม การคุยเริ่มออกรสออกชาติแต่เกือบ 4 โมงเย็นแล้วจึงมีการนัดหมายจะมาปรึกษาหารือกันอีกครั้งของประเด็นวัฒนธรรมในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 โดยมีการเพิ่มคนที่จะมาร่วมปรึกษาหารือ และจะหาประเด็นเด่นๆด้านวัฒนธรรมที่จะใช้ขับเคลื่อนในแผนสุขภาพตำบลควนโสต่อไป

Comment #1
เอ (Not Member)
Posted @9 พ.ย. 52 16:29 ip : 124...78

ดีใจจังได้อ่านเรื่องราวของบ้านเกิด

Comment #2ประเด็นวัฒนธรรม
Posted @14 ธ.ค. 53 22:42 ip : 182...157

เรื่องของวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่สมควรกล่าวถึงและเน้นย้ำให้มากๆ  เพราะในปัจจุบันเด็กไทยไม่ค่อยรู้จักวัฒนธรรมของไทย ตลอดไป ถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีและจารีต  ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น  ระดับภาค หรือระดับชาติ บิดา มารดา  ปู่ย่าตายาย  ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน ครู /อาจารย์  พระสงฆ์  ศิลปินพื้นบ้าน (หนังตะลุง / โนรา )  ควรจะให้ความรู้แก่เด็กในเรื่องนี้ให้มาก โดยการสอน การพาเข้าร่วมกิจกรรมใน เรื่องวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม  ประเพณีและจารีต เพื่อให้เด็กเห็นคุณค่าและความสำคัญ           มีความยินดีมากและขอชื่นชมในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีและจารีตของ อบต.ควนโส ในครั้งนี้และหวังว่า การจัดกิจกรรมแบบนี้คงจะมีต่อเนื่องนะครับ

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว