สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

มหาวชิราวุธ โมเดลทักษะชีวิต : ต้นแบบความร่วมมือ

by kai @5 ส.ค. 51 13:52 ( IP : 118...248 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
  • photo  , 448x336 pixel , 34,111 bytes.
  • photo  , 448x336 pixel , 21,699 bytes.
  • photo  , 448x336 pixel , 30,814 bytes.
  • photo  , 448x336 pixel , 28,996 bytes.
  • photo  , 448x336 pixel , 30,871 bytes.
  • photo  , 448x336 pixel , 27,836 bytes.
  • photo  , 448x336 pixel , 25,366 bytes.
  • photo  , 448x336 pixel , 24,117 bytes.
  • photo  , 448x336 pixel , 28,203 bytes.

อุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนนักเรียน 2 ครั้งเมื่อปี 2550  เหตุเกิดหน้าประตูโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา (ม.ว.)  หลายฝ่ายยืนยันตรงกันว่าไม่ใช่ความผิดเด็กที่กำลังเดินกลับบ้านอยู่บนฟุตบาทแท้ๆ  แต่มาจากความประมาทของคนขับรถยนต์ที่ชนแล้วหนี

กรณีดังกล่าวยังถูกหยิบมาพูดในมหาวชิราวุธโมเดล (MVSK Model)โครงการต้นแบบความร่วมมือป้องกันภัยอุบัติเหตุจราจรโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา

มหาวชิราวุธโมเดล เกิดจากนางอัจจิมา  พรรณนา นักวิชาการสาธารณสุข 7สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา แกนนำขับเคลื่อนแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ประเด็นอุบัติเหตุจราจร  มีโอกาสเข้าหารือกับผู้บริหารโรงเรียนเมื่อเดือน 8 เมษายน 2551

“เราไปนำเสนอว่าอุบัติเหตุมันร้ายแรงแค่ไหนกระทบคน ครอบครัว ส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างไร เอาสถิติให้ดู ฉายภาพให้เห็น สถิติที่เกิด สาเหตุความสูญเสีย” นางอัจจิมาเล่า

ที่ผ่านมาเธอมุ่งทำกิจกรรมกับกลุ่มเด็ก เยาวชน และสถานศึกษามาตลอดเพราะเห็นว่าอุบัติเหตุมักเกิดกับคนเหล่านี้ค่อนข้างรุนแรง

คำอธิบายภาพ

ในแต่ละปี คนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนน กว่า 13,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 1.5 คน  มีกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน อายุ 15-29 ปี เป็นกลุ่มที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากที่สุด  รถจักรยานยนต์ เป็นพาหนะที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 90% ไม่สวมหมวกกันน็อค

“บนรถมอเตอร์ไซค์เราจะเห็นเด็กซ้อนหน้า ซ้อนท้าย โอกาสเกิดอันตรายมากกว่า ผู้ใหญ่อาจสวมหมวกเพราะบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ อย่างเมืองสงขลาคิดว่าส่วนใหญ่สวม แต่คนซ้อนท้าย หรือเด็กเล็กไม่มี”

ที่ผ่านมาการรณณรงค์สวมหมวกกันน็อคในเด็กได้ผลน้อยมาก ขนาดแจกฟรียังถูกนำกลับไปแขวนหรือทิ้งเพ่นพ่านอยู่กับบ้านเสียส่วนใหญ่  แต่นางอัจจิมายังมีความหวังว่าจะเปลี่ยนค่านิยมใหม่กลุ่มเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่ตระหนักว่าการขับขี่ที่ปลอดภัย และการปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัดช่วยให้ปลอดภัยจากการใช้รถ ใช้ถนน

“เราคิดว่าน่าจะสร้างรูปแบบโมเดลขึ้นมา ขั้นต้นคิดไว้ที่โรงเรียนวิเชียรชม ระดับประถมศึกษาที่เคยไปร่วมกิจกรรมปีก่อน แต่เรามองว่าเด็กวิเชียรชม ที่เคยผ่านโครงการนั้น ต้องขึ้นมัธยมแล้ว น่าติดตามดูผลอีกระดับ”

เพื่อให้เป็นวาระต่อเนื่องกับแผนงานเดิมที่ทำไปแล้ว นางอัจจิมาจึงขอประชุมร่วมระหว่างผู้บริหารโรงเรียนมหาวชิราวุธ และโรงเรียนวิเชียรชม

“ทุกฝ่ายยินดีร่วมมือ แต่ช่วงนั้นปิดเทอมพอดีเราเองไม่รู้ว่าแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนมหาวชิราวุธต้องทำตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ” แผนงานของประเด็นอุบัติเหตุจึงไม่สามารถนำเข้าสู่แผนยุทธศาสตร์โรงเรียนได้ แต่พบจุดแข็งอย่างหนึ่งของโรงเรียนคือโครงการทักษะชีวิตและมองเห็นได้ชัดว่าประเด็นอุบัติเหตุเชื่อมกับเรื่องนี้ได้

คำอธิบายภาพ

ทักษะชีวิตบนความหมาย ที่โรงเรียนยึดถือว่าความสามารถอันประกอบด้วยความรู้ เจตคติ และทักษะในอันที่จะจัดการปัญหารอบๆตัว ในสภาพสังคมปัจจุบัน และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เพศ สารเสพติด บทบาทชาย -หญิง ชีวิตครอบครัว สุขภาพ อิทธิพลสื่อ สิ่งแวดล้อม จริยธรรม และปัญหาสังคมฯลฯ

อาจารย์ณรงค์ ขุ้มทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียน หัวเรือใหญ่กิจกรรมทักษะชีวิต  ผู้มองเห็นปัญหาเนื่องจากมายืนรับนักเรียนหน้าโรงเรียนตั้งแต่หกโมงครึ่ง นานนับปีแล้ว เห็นดีด้วยที่จะนำเรื่องอุบัติเหตุมาเป็นส่วนสำคัญของทักษะชีวิต ขณะที่ อาจารย์สัจจา ศรีเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนประกาศชัดว่า

“ผมยินดีมากเป็นโครงการที่ดีผมไม่เคยเห็นใครทำเรื่องนี้จริงจังแบบนี้มาก่อน  ยินดีให้การสนับสนุน”

นางอัจจิมาเล่าว่า การที่ผู้บริหารเห็นชอบและลงมือทำงานร่วมด้วย นับเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จได้ระดับหนึ่ง

“หลังจากฟังเราหลายครั้งโรงเรียนมีท่าทีตอบรับชัดเจน  ปกติโรงเรียนมหาวชิราวุธมี  บุคลากรมีคุณภาพ แผนงานชัดเจน  เชื่อมกับเครือข่ายชุมชน 33 แห่ง  ในเขตเทศบาลนครสงขลา มีระบบ ไอทีในโรงเรียน มีระบบ MVTV โทรทัศน์ภายในโรงเรียน  ระบบเสียงตามสาย  ความเป็นลูกน้ำเงินขาวเป็นเหมือนความภาคภูมิใจมาทุกยุคสมัยมีศิษย์เก่าที่ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี  ข้าราชการระดับสูง นักการเมือง ผู้มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ”

คำอธิบายภาพ

ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์  ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ  นักเรียนเก่า เอกบุรุษของโรงเรียนมหาวชิราวุธ ได้กล่าวให้โอวาทกับคณาจารย์เสมอ เมื่อกลับมาเยี่ยมเน้นย้ำเสมอว่าครูที่ดีเป็นอย่างไร
“บุคลากรมหาวชิราวุธนับว่ามีคุณภาพสูงแต่ทำอย่างไรจะมาช่วยเด็กเรื่องการระวังป้องกันรณณรงค์ลดอุบัติเหตุ” นางอัจจิมาว่า

เบื้องต้นยังได้กระแสความร่วมมือกับผู้ปกครองนักเรียน หลายคนที่เห็นด้วยกับการดูแลเด็กอย่างถูกต้อง ไม่ปกป้องในสิ่งที่เด็กทำผิด ตามกรอบทักษะชีวิต แต่อยากเห็นเป้าหมายที่ชัด

“เด็กทำผิดอะไรจะถูกตัดคะแนนอย่างไร ระเบียบ กติกา  อย่างไร ต้องกลับไปสู่ชุมชน แต่ไม่ใช่กลับไปนอนเล่นอย่างเดียวต้องทำความดี ให้ครู ชุมชนเห็น อย่าง ความผิดซิ่งรถ ต้องถูกพักการเรียน กลับบ้าน แต่เมื่อถูกส่งกลับบ้าน แล้วคนดูแลเด็ก คือใคร โรงเรียนไปเยี่ยมเด็กแค่ไหน นั่นคือสิ่งที่เขาอยากให้เห็นในความร่วมมือ”

โรงเรียนมหาวชิราวุธ อันมีสีน้ำเงิน-ขาว เป็นสีประจำโรงเรียน  มีความเป็นมาเก่าแก่กว่า 110 ปี  มีวัฒนธรรมองค์กร ความเป็นคนดี มีคุณธรรม รักพี่รักน้องสืบทอดกันมาไม่ขาดสาย สร้างเครือข่ายหลายภาคส่วนเหนียวแน่น อาจกล่าวได้ว่า นอกจากครู  ผู้ปกครอง  ชุมชน ยังมีสมาคมนักเรียนเก่ามหาวชิราวุธ เป็นฐานสำคัญ  แค่ระดับปัจเจก ศิษย์เก่าที่มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ยินดีเข้ามาช่วยเหลือโรงเรียนทุกเมื่อ

โอกาสจึงเป็นของโรงเรียน ตำรวจ หมอ พยาบาล  สาธารณสุข นักวิชาการ  เหยื่อเมาแล้วขับ ขนส่งจังหวัด เทศบาล  ดีเจ  บริษัทเอกชน ฯลฯ พร้อมเข้ามาร่วมมหาวชิราวุธโมเดล

“เราบอกว่าโรงเรียนน่าจะประสานหลายทางเข้ามาเพื่อผลระยะยาว การประชุมโฟกัสกรุ๊ปเมื่อ 29 พฤษภาคม ได้ยกร่างแผนขึ้นมา เริ่มใช้ชื่อมหาวชิราวุธโมเดล พูดได้ว่าหลักสำคัญเป็นโมเดลของความร่วมมือ”

หลังเกิดแผน มีการวิเคราะห์เป็นยุทธศาสตร์ 5 ด้าน

คำอธิบายภาพ

1. ยุทธศาสตร์การบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement) นางอัจจิมามองว่า อุบัติเหตุจราจรมักเกิดนอกสถานศึกษา ถ้าทำโครงการมีเป้าหมายพื้นที่เฉพาะในโรงเรียน อาจมองหลงทิศผิดทางได้  เมื่ออยู่ในระบบเปิด ต้องมีหลายภาคส่วนมาช่วย  การบังคับใช้กฎหมาย จึงต้องอาศัยคนข้างนอก ตำรวจเป็นด่านแรกที่เจอเด็กทำผิด อาจบอกว่า “อาจารย์ครับ ลูกศิษย์อาจารย์นะครับ” ฝ่ายครูผู้รับผิดชอบ ต้องมีข้อมูล สามารถเปิดทะเบียนชื่อเด็กแล้วรู้ว่าพ่อแม่คือใคร พร้อมโทรบอกพ่อแม่ไปเจอกันที่โรงพัก

ยุทธศาสตร์นี้ ทำให้เกิดโครงการเตือนก่อนสายร่วมใจช่วยเหลือ  เพื่อลดจำนวนนักเรียนที่ทำผิกฎจราจรให้น้อยลง มุ่งไปที่การรับแจ้งเหตุการณ์กระทำผิดกฎจราจรของนักเรียนจากตำรวจจราจร  ถ้ามีการกระทำผิด ครู และผู้ปกครอง ต้องมาพบตำรวจก่อนรับเด็กกลับบ้าน  การดำเนินการตามกฎทักษะชีวิตของโรงเรียน และการขอความร่วมมือ นักเรียนที่โดยสารรถยนต์รับจ้าง ไม่โหนท้ายรถ และผู้ขับขี่ไม่ให้บรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด

2. ยุทธศาสตร์การปรับปรุง โครงข่ายจราจร (Engineering)
กรณีอุบัติเหตุเกิดหน้าโรงเรียนมหาวชิราวุธ  เพราะต้นเฟื่องฟ้าที่อยู่บนเกาะกลางถนนบังทัศนวิสัยในการขับขี่  จึงนำเสนอโครงการถนนเส้นขาว ล้อมรั้วน้ำเงินขาว ประสานการตัดแต่งกิ่งเฟื่องฟ้าหน้าโรงเรียน ผลักดันการติดตั้งไฟกระพริบ และป้ายจราจรชะลอความเร็วรถ ผลักดันติดตั้งกล้องวงจรปิด ด้านหน้า-ข้างโรงเรียน เพื่อระวังเหตุร้ายจากอุบัติเหตุและการก่อการร้ายอีกด้วย

**3.ยุทธศาสตร์ การให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วม (Eduction & Paticipation) **

24 กรกฎาคม ที่ผ่านมานำเสนอแผนบูรณาการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภายนอกโดยเฉพาะคณะทำงานป้องกันอุบัติเหตุของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เพื่อเรียนรู้ และระดมความร่วมมือร่วมดำเนินงานลดอุบัติเหตุใน “สงขลา มหาวชิราวุธโมเดล”

คำอธิบายภาพ

28 กรฎาคม - 1 สิงหาคม  ที่ผ่านมามีการจัด คาบเรียน ทักษะชีวิตพิชิตอุบัติเหตุ  โดยเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับโรงพยาบาลหาดใหญ่  ส่งตัวแทนผู้พิการที่เป็นเหยื่อเมาแล้วขับมาเป็นวิทยากรเล่าเรื่องชีวิตที่ยังเหลือ ฝ่ายตำรวจ จะมาบรรยายความสำคัญกฎหมายจราจร ในกิจกรรมนี้ ทีมงานแผนสุขภาพประเด็นอุบัติเหตุจราจร ยังได้ทำเอกสารเผยแพร่ เรื่องทักษะชีวิต ขับขี่ปลอดภัย สิ่งที่ควรรู้ในชีวิตประจำวัน มุ่งหลักสำคัญ คือ การขับขี่รถให้ปลอดภัย , เมาไม่ขับ ,ง่วงไม่ขับ,โทรไม่ขับ ,ความรู้เรื่องป้ายจราจร และ การมีใบอนุญาตขับขี่  จากกิจกรรมคาบเรียน ทักษะชีวิตพิชิตอุบัติเหตุ  จะมีการสอบวัดความรู้กฎจราจร และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

9 สิงหาคม ที่ผ่านมา  จัดโครงการดีเจ นักเรียน เอาเด็กนักเรียนที่สนใจ  จาก โรงเรียนมหาวชิราวุธ และเพื่อนนักเรียนและเยาวชนจากโรงเรียนคู่พัฒนาของ มว. จาก โรงเรียน วรนารีเฉลิม  นวมินทราชูทิศทักษิณ สงขลาวิทยาคม และสงขลาเทคโนโลยี 100 คน อบรมการจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ เอาเรื่องอุบัติเหตุมาเป็นเนื้อหาในการนำเสนอ พร้อมประสาน วิทยากรจากสถานีวิทยุSunshine radio สาขาสงขลา ให้ความรู้ “การเตรียมตัวเมื่อต้องจัดรายการ รณรงค์ลดอุบัติเหตุจังหวัดสงขลา หลังจากนั้นก็จะขยายผล  เด็กที่ผ่านการอบรมสู่สถานีวิทยุหลายสถานี เช่นซันไชเรดิโอ วิทยุชุมชนสวีทจูเนียร์ สถานีตำรวจตระเวณชายแดน

สำหรับกิจกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการ มี โครงการ อบรมขับขี่ปลอดภัย และต้องการมีใบขับขี่ได้สอบใบขับขี่  โครงการประกวดสื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุ  โครงการจัดทำศูนย์ข้อมูล อุบัติเหตุ ทำเวบเพจ (Web Page) มหาวชิราวุธโมเดล  ลงเวบไซด์ (Website)ของโรงเรียนมหาวชิราวุธ    เพื่อเชื่อมโยงกับแหล่งข้อมูลจากศูนย์อุบัติเหตุแห่งชาติ และแหล่งอื่น


โครงการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย  เน้นการสวมใส่จริง ได้รับการอุดหนุนหมวกกันน็อคจากภาคเอกชน แจกให้กับผู้ปกครองที่มาส่งนักเรียนเป็นประจำถึงหน้าโรงเรียน ราว 200 ราย ผู้ที่รับแจกแล้วไม่สวม มีข้อแม้ว่าเด็กคนนั้นไม่ผ่านทักษะชีวิต 


คำอธิบายภาพ

4. ยุทธศาสตร์ระบบ บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency Medical Service; EMS)
แม้เป็นเรื่องปลายเหตุ การรับส่ง ผู้บาดเจ็บ ทั้งเจ็บป่วย และก็อุบัติเหตุฉุกเฉิน แต่นางอัจจิมามองว่าเด็กจะเป็นช่องทางหนึ่งที่มีบทบาทต่อเรื่องนี้ได้

“ เด็กมหาวชิราวุธ 3,000 กว่าคน  แค่ 10 % ที่รู้เรื่องนี้ ก็ช่วยได้มาก การแจ้งเหตุ ต้องทำอย่างไร รู้ระบบ ว่ารถฉุกเฉินอยู่ไหน พัฒนาต่อไปอาจฝึกว่า กรณี กระดูกหัก ลำเลียงอย่างไร ใครสนใจกู้ภัย ชอบก็มาฝึก”

10 สิงหาคม ที่ผ่านมา จัดโครงการจิตอาสา เพื่อผู้ป่วยฉุกเฉินหรืออีเอมเอสจูเนียร์  ให้ตัวแทนเด็กนักเรียนที่เข้าร่วม เรียนรู้การดำเนินงานในระบบบริการการแพทย์ ฉุกเฉิน
**5. ยุทธศาสตร์การประเมินผล( Evaluation)  **เน้นประเมินกระบวนการว่าตั้งแต่ต้น  ว่าเกิดได้อย่างไร แต่ละจุด ร่วมกันอย่างไร  ผู้ปกครอง ชุมชน เกี่ยวข้อง แค่ไหน

นางอัจจิมามองไกลต่อไปว่า พัฒนาจริงจังโดยได้เข้าแผนปีการศึกษาหน้า  ใช้งบโรงเรียนขับเคลื่อน แม้ปีแรกโมเดลนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับอุบัติเหตุ แต่เท่ากับสร้างโอกาสเชื่อมโยงชุมชนไปยังเรื่องทางสุขภาพอื่นๆ ทุกเรื่อง

“ถ้าเป็นระบบดีจริงตามความคาดหวัง หมายความว่า ต้องคุยกันบ่อย มีเครือข่าย โครงสร้างงานที่ชัดเจน  ตัวมหาวชิราวุธโมเดล  จะขับเคลื่อนไปต่อ ขยายผลนำโมเดลนี้ ไปใช้มัธยม 10 โรง ประถม 10 โรง เราเองจะเอากระบวนการไปช่วยต่อเพื่อ  กระจายไปทั่วสงขลา เราต้องวิ่งต่อ ไป ต้องหาเวทีให้เขาพูดคุย นำเสนอ สิ่งดีให้โรงเรียนอื่น นั่นจะได้นวัตกรรม ไม่เฉพาะโรงเรียน หน่วยงานอื่น ก็อาจนำไปขับเคลื่อนระบบก็ได้”

อาจารย์ณรงค์ ขุ้มทอง รองผู้อำนวยการโรงเรียนมหาวชิราวุธ เล่าว่าแม้ทักษะชีวิตจะเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการแต่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลานับว่าเป็นโรงเรียนเดียว ที่จริงจังกับการขับเคลื่อน<br />

สืบเนื่องมาจาก ปี2549-2550 อาจารย์สัจจา ศรีเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียน กำหนดเป็นปี คุณธรรม โดยเล็งเห็นว่าเด็กเปลี่ยน เพราะสังคมเปลี่ยน สื่อเปลี่ยน  เด็กมีความคิดของตัวเอง  ผู้ใหญ่ก็ไม่มีเวลาดูแลลูกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ  เด็ดคิดเองโดยเอาสื่อมาตัดสิน คิดว่าถูกต้อง ครูต้องช่วยหาทางช่วยนักเรียนให้พ้นจากวิกฤติใหม่  ต้องฝึกความหลากหลายให้อยู่ในสังคมได้

“นักเรียนของเราแต่ละคนจะมี รบ. 2 ใบ  ใบแรกเป็นการประเมินทางด้านวิชาการ อีกใบเป็นการประเมินทักษะชีวิต  ซึ่งมีระเบียบคู่มือชัดเจนว่าต้องทำอย่างไร แม้เกรดเฉลี่ย 4 แต่ถ้ามีฐานข้อมูลทักษะไม่ดี จะไม่ได้เรียนต่อ หรือจบ ต้องแก้ทักษะชีวิต เหมือนกับติด 0 หรือติด  ร” อาจารย์ณรงค์เล่า ทักษะชีวิตไม่ต้องการจับผิดนักเรียน แต่ต้องการฝึกวิชาชีวิต วิชาคนให้อยู่ในกรอบ รู้จักกติกา  สอดคล้องกับการส่งเสริม ระบอบประชาธิปไตย

  เมื่อโยงมาเรื่องจราจร มองเห็นปัญหาเชิงรูปธรรมอย่างหนึ่ง กรณีทางโรงเรียนห้ามนักเรียนพารถจักรยานยนต์มาโรงเรียน ถือว่าเสี่ยงจะเกิดอันตราย และการมีจักรยานยนต์ เป็นโอกาสที่เด็กจะทำความผิดอย่างอื่นสืบเนื่อง เช่นหนีโรงเรียนไปเที่ยว หรือกระทำผิดอย่างอื่น แต่คำสั่งห้ามไม่เป็นผล นักเรียนมักหลบเลี่ยงแอบพามาจอดเอาไว้ใกล้โรงเรียน อันเป็นสถานที่ราชการ

“เอามามากถึง 400-500 คัน แอบจอดหลังโรงเรียน พอเอาทักษะชีวิตมาจับกับเรื่องนี้  จึงคลี่คลาย เพราะเด็กจะกลัวใบสั่งทักษะชีวิต”

งานนี้ อาจารย์ณรงค์ชี้ให้เห็นว่าเกิดสำเร็จได้ เพราะเครือข่าย มีทั้งตำรวจ คนขับรถสองแถวหน้าโรงเรียน  ศิษย์เก่า  กระทั่งนักเรียนจำนวนมาก โทรมาแจ้งความผิด  ถ้าปล่อยให้ครูวิ่งไล่จับอยู่ส่วนเดียวคงไม่ไหว

เพื่อสนับสนุนมหาวชิราวุธโมเดลรอบด้าน อาจารย์ณรงค์ให้นโยบายใส่เรื่องนี้ลงในหลักสูตร ม.1-ม.2  โดยสอบกฎหมายจราจรเบื้องต้น ก่อนขยายผลถึงม.6  เป็นแบบที่อาจารย์บอกว่า เคยไปดูงานมาจากสิงคโปร์

“ผมให้เด็กรู้กฎจราจรก่อน  ให้รู้ อันตรายจากการจราจร ว่าจะเกิดอะไร เราคุยกับผู้ปกครอง 6 วันรวด ประชุมเด็ก 6 วันรวด  ประชุมครู 3 วัน ประชุมเครือข่าย ประชุม นักเรียน ให้เข้าใจประเด็นนี้  พร้อมประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ”
ที่ผ่านมานักเรียนมหาวชิราวุธมักได้รับการยกเว้น จากจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เป็นศิษย์เก่ารุ่นพี่มหาวชิราวุธเสมอ  อาจารย์ณรงค์ลงคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปรับมุมมองใหม่

“ ตอนนี้จับทั้งนั้น เด็กที่โดนจับมาบอกว่าหลาบแล้ว ผมว่าตัวกฏหมายต้องมีผล
เป็นตัวบังคับให้คนปฏิบัติ”

  อาจารย์ณรงค์เล่าว่า นักเรียนม.1-ม.6  จะมีคาบเรียนทักษะชีวิต

“นักเรียนมหาวชิราวุธในเทอม 1 ทุกคนจะต้องสอบผ่านความรู้ เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายจราจร ถ้าสอบไม่ผ่านนักเรียนคนนี้ จะไม่ผ่านหลักสูตร”

อาจารย์ณรงค์ตั้งใจจะทำเรื่องนี้มาก เพราะมองว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องน่าเสียใจ น่าเศร้า

“ถ้าตาย จะเสียใจทีเดียวแต่ พิการ เช่นกรณีที่เกิดขึ้นต้องไปดูแลกันนานเห็นผู้ปกครองเดือดร้อน สังคมเราสนใจปัญหาอุบัติเหตุผ่านสื่อ บางช่วงเช่นสงกรานต์7 วันอันตราย  กลัวตายปีไม่กี่หน  ไม่ตระหนักตลอดถึงเวลา ต้องใส่ในห้องเรียน ดึง  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมาร่วมมือกัน ประสานการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อบอกว่าต่อไปนี้ จะเอาอย่างนี้นะ  เห็นด้วยหรือไม่  พอเห็นด้วย ผมชี้แจงว่า บทบาทพวกคุณ คุณจะช่วยเหลืออะไร  เรื่องลดอุบัติเหตุจราจรในชุมชนของคุณ และถ้าคุณเห็นเด็กมหา ฯ ต้องรับผิดชอบ ต้องช่วย”

นับได้ว่าขณะนี้ มหาวชิราวุธโมเดลสร้างปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นระดับหนึ่ง ในการเฝ้าระวัง ดูแล ป้องกันอุบัติเหตุ

เอกสารคู่มือคณะกรรมการชุมชน ตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของฝ่ายกิจการนักเรียน โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ปรากฏรายชื่อ  -เบอร์โทรศัพท์ของคณะกรรมการชุมชน สายด่วนกิจการนักเรียน กรณีผู้ปกครองมีปัญหาเรื่องบุตรหลาน  ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมทำงาน  มีการระบุภาระหน้าที่ของ กรรมการชุมชนว่าต้องให้ข้อมูลนักเรียนในชุมชน สอดส่องดูแลช่วยเหลือนักเรียนในชุมชน เสนอแนวคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมและพัฒนาพฤติกรรมของนักเรียนและประสานข้อมูลพฤติกรรมนักเรียนให้เครือข่ายชุมชน

“เคยเกิดเหตุหน้าโรงเรียนก็จริงแต่ในชุมชนมีอุบัติเหตุเยอะกว่า  ไม่ใช่เฉพาะ เด็ก ม.ว.  เท่านั้น แต่เด็ก มว.กว่า 3,500 คน เป็นกลุ่มใหญ่ น่าจะเป็นต้นแบบได้ ทำอย่างไร ให้เขาเป็นต้นแบบเราเริ่มทำสิ่งที่ดี เราไม่ได้มุ่งหวังให้เด็ก มว.ป้องกันภัย แต่เรามุ่งหวังว่า  อันนี้เป็นแบบอย่าง หลังจากนี้ จะเอาเรื่องนี้เผยแพร่สู่ข้างนอก กล้ารณรงค์เผยแพร่สิ่งเหล่านี้น่ายินดีที่สสส. เข้ามาช่วย”

อาจารย์ณรงค์บอกว่า มหาวิชราวุธโมเดลมี เป้าหมายเพิ่มความเข้มแข็ง ภายใน เมื่อเข้มแข็งแล้ว จะออกสู่ภายนออกโดยใช้เครือข่ายชุมชนที่มีอยู่ 33 ชุมชน  ถ้า สำเร็จ จะขยายสู่อบต.รอบนอก โดยลงไปคุยกับ นาย กอบต. เพื่อลงสู่ชุมชน

“ผมมองว่า ในโรงเรียนครูตระหนักอยู่แล้ว แต่คนในหมู่บ้านอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์พบในสายรองมากกว่า  ในหมูบ้าน เมาเหล้า แล้วโยกย้ายที่ดื่มหรือออกถนนใหญ่ ผมเชื่อว่า ถ้าชุมชนทุกชุมชนตระหนัก ทุกอบต.ตระหนัก มีกฎจราจร มีการเผยแพร่มั่นใจว่าเป็นไปได้ ผมไประเทศอังกฤษ พอเข้าไปในหมู่บ้านในซอย เขาดูแล ออกมาเตือนว่าคุณขับรถเร็ว เขามาร่วมขนาดนั้น”

คำอธิบายภาพ

ผลที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมหาวิชราวุธหลังขับเคลื่อนกิจกรรมออกแล้วอาจารย์ณรงค์บอกว่า เด็กมีความตระหนักเรื่องอุบัติเหตุจราจรเห็นได้ชัด แม้จะยังมีคนแอบนำรถจักรยานยนต์มาโรงเรียนแต่ลดน้อยลง การซิ่งรถมอเตอร์ไซค์ของเด็กนักเรียนน้อยลง

“ผมเชื่อว่าผมกำลังทำให้สำเร็จ การนำทักษะชีวิตมาแก้ปัญหาพฤติกรรมนักเรียนน่าจะเป็น แนวทางที่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน เพราะไม่ได้วัดว่าได้หรือตก แต่ฝึกให้มีวินัย รู้จักเคารพ กฎ กติกา”

อาจารย์ อัจฉรา รัตนจรณะ ฝ่ายกิจการนักเรียน กล่าวว่า ทักษะชีวิต หมายถึงจิตใจในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ความเป็นคนเพียบพร้อมทุกด้าน ทั้ง ความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และพฤติกรรม สำหรับการดำเนินการ มหาวิชราวุธโมเดล ให้ความสำคัญ การดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

“เราก็อยากให้ทุกองค์กรในสงขลามาช่วยกัน  อาจารย์ณรงค์ลงไปคลุกชุมชน  ชุมชน 33 แห่ง ชวนเข้ามามีส่วนร่วม และร่วมอย่างถูกต้อง คือให้ความรู้เด็กได้ด้วย มีตำรวจ ชุมชนเครือข่าย ผู้ปกครองเครือข่าย สสจ. เข้ามาทุกองค์กรที่มีส่วน”

สำหรับโรงเรียน มีสภานักเรียนเป็นตัวตั้ง  โรงเรียนมีคณะกรรมการนักเรียนที่มาจากการเลือกตั้ง ทุกกิจกรรมถ้าเกี่ยวข้องนักเรียนจะให้ผ่านกรรมการนักเรียน

“มหาวชิราวุธโมเดล คือเอาทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน แล้วคิดวิเคราะห์สภาพทั่วไป เพื่อกำหนด กลยุทธ์ แผน โครงการต่างๆ เราให้ความสำคัญ เรื่องระบบดูแล  มีการประชุมผู้ปกครอง ทั้งผู้ปกครองชั้นเรียน อย่างน้อยเทอมละ  2 ครั้ง”

ลึกลงไปในโรงเรียน มีกรรมการเครือข่ายระดับชั้น  กรรมการในห้องเรียนกรรมการสายชั้น และกรรมการระดับโรงเรียน มาคุยทุกปัญหา เมื่อมาคุยจะได้ข้อมูล ว่าต้องการอะไร เด็กมีปัญหาอะไร

“ตำรวจชุมชนที่ช่วยโรงเรียน เกิดเพราะเรามีศิษย์เก่าเป็นตำรวจมาก บางทีตำรวจโทรเข้ามาว่ามีน้องโรงเรียน ไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้  ก็คิดว่า ทำให้เป็นระบบ มีชุมชนเครือข่ายเข้ามาจัดการร่วมกับตำรวจ  แม้แต่คนขับรถ แม่ค้า ที่เกี่ยวข้องตรงนี้ เราจัดทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ตั้งแต่ร่วมเห็นปัญหา ร่วมคิด ร่วมทำ  ร่วมประเมิน แล้วร่วมกันชื่นใจ”

นายชิต สง่ากุลพงศ์ ประธานผู้พิพากษาสมทบ หนึ่งในเครือข่าย มหาวชิราวุธโมเดล กล่าวยอมรับว่าทักษะชีวิตเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้  เอื้อมากและ น่าจะเป็นโครงการนำร่อง ให้กับสถานศึกษาอื่นๆ

“บทบาทผมที่เป็นผู้พิพากษาสมทบ มีบุคลากรเกี่ยวกับ ชีวิต และกฎหมาย เกี่ยวกับเยาวชนมาเกี่ยวข้อง พร้อมมาพูดคุยกับโรงเรียน ถ้าเชิญมาให้ความรู้ก็ยินดี และถ้าขยาย เป็นเรื่องทักษะชีวิตพิชิตปัญหาอุบัติจราจร ฟังดูแล้วมีค่ามาก”นายชิตกล่าวและว่า ปัญหาที่พบ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นกลุ่มของเด็กที่อยู่นอกระบบโรงเรียนจะทำอย่างไรต่อไป ทุกวันนี้กระบวนการยุติธรรมมีมุมมองใหม่ว่าเยาวชนเป็นผู้รู้เท่าไม่ถึงการ พร้อมให้โอกาสแก้ตัว กลับมาสู่ครอบครัวมากกว่าลงโทษ  ซึ่งชุมชนพร้อมรองรับ นอกจากประเด็นอุบัติเหตุ ต้องให้ความรู้ พร้อมปัญหาอื่นๆ ของเยาวชน เพศ ลักทรัพย์ ยาเสพติด

“ผมมองว่าการให้ความรู้เด็ก ยังไม่ได้ผลเท่าไร เด็กไม่สนใจ อยากให้ ทางโรงเรียนมหาวชิราวุธไปร่วมกิจกรรม เพื่อมองเห็นปัญหาเกี่ยวข้อง สำหรับผมยินดีช่วยเหลือ”

พ.ต.ท. ถาวร ผลกล้า สวป.  สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ศิษย์เก่าโรงเรียนมหาวชิราวุธกล่าวว่า ตำรวจมีหน้าที่ปราบโจร แต่หน้าที่ทุกวันนี้ไม่ใช่หน้าที่นั้นอย่างเดียวแล้ว

“ผมเน้นการให้โอกาส ไม่เน้นทำลายเด็ก ที่เน้น มว.มากหน่อย เพราะผมเป็นศิษย์เก่าอยากให้ มว.เป็น แบบให้กับเด็กคนอื่น ถ้ากระทำผิดจะมานั่งชี้แจง อบรม สั่งสอน ที่จริงมีเด็กทุกโรง ในสงขลา พยายามชี้แจง อธิบาย ถ้าเขาเข้าใจก็ปล่อยกลับ บางเรื่องมาถึงโรงเรียนยกเว้น ความผิดเกี่ยวข้องรุนแรงต้องดูว่าเอาอย่างไร อย่างเอารถมาโรงเรียน หนีเรียน พบโพยบอลในกระเป๋าอย่างนี้ ต้องดูเป็นรายๆ  อย่างไรเราพยายามไม่ให้เขามาเสียหายในช่วงเวลาตรงนี้ ”


พ.ต.ท.ถาวรมองว่ากิจกรรมทางโรงเรียนช่วยได้เยอะ เพราะถ้าเด็กมีปัญหา ที่สุด ก็ถึงตำรวจ อยู่ดี แต่ถ้าเด็กไม่มีปัญหา ตำรวจก็สบาย

“ตรงนี้จึงจะสนับสนุนเต็มที่ทุกโครงการ ที่ สำนักงานสาธารณสุขเสนอมา เป็นประโยชน์ สำหรับส่วนรวม และตำรวจ พร้อมช่วยเหลือทุกเรื่อง”

นายชาตรี  ปรีชาชาญ นักเรียนชั้น ม.5/14 ซึ่งดำรงตำแหน่ง

ประธานนักเรียน ปี 2551 กล่าวว่า มหาวิชราวุธโมเดล เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของนักเรียน ตั้งแต่จัดระเบียบหน้าโรงเรียน

“แต่ก่อน เวลามาส่ง รถมีสองเลน จะเต็มติดยาว เราจัดระเบียบ รถยนต์เป็นเลนเดียว ตั้งกรวยไว้ให้เจ้าหน้าที่โบกเป็นเลนเดียว ลดอุบัติเหตุได้ เพราะครั้งหนึ่ง เกิดอุบัติเหตุ เพราะรถจอดแน่น ทุกเช้าทุกเย็น พอมาทำตามโครงการจัดระเบียบจราจร  ให้รถไม่จอดนาน  ให้รถทยอยเข้ามา  รถผ่านสะดวกขึ้น”

ชาตรีทำหน้าที่ โฆษกรายการเสียงตามสายยามเช้าของโรงเรียน เขาพูดเรื่องอุบัติเหตุ  และเปิด สปอร์ตอุบัติเหตุที่ได้จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา

“อย่างเรื่องกฎจราจร  หมวกกันน็อค เราจะพูดเสริม เหมือนการจัดรายการวิทยุทั่วไป  อย่างเปรียบเทียบสถิติ การใส่หมวกกันน็อคดีอย่างไร  หรือพูดว่า ทุกๆ ปัญหา ของอุบัติเหตุ เกิดจากการฝ่าฝืนกฎจราจร

ชาตรียังรับเป็นดีเจจัดรายการ อยู่ตามสถานีวิทยุเอกชน อยู่หลายแห่งเมื่อมีโอกาสเขาจะเอาเรื่องนี้ไปเผยแพร่

“ที่สถานีวิทยุที่ผมไปจัดครั้งหนึ่งเจ้าของสถานี เขาถามว่าผมเปิดสปอร์ตอุบัติเหตุทำไม เกือบทะเลาะกัน ผมอธิบายว่าวิทยุ เป็นเอกชน เป็นเชิงพาณิชย์ แต่เห็นแก่ตัวอย่างเดียวไม่ได้ ต้องช่วยสังคมบ้าง เขาก็โอเค เขาเข้าใจ ว่าเราทำอะไรเพื่อสังคม”

ในฐานะประธานนักเรียน เขาเล่าว่าได้ร่วมกิจกรรมมหาวชิราวุธโมเดลทุกเรื่อง อย่างโครงการอบรมดีเจ  เป็นโครงการของมหาวชิราวุธโมเดล และของ กรรมการนักเรียน  มาบูรณาการกันจะมีการให้ความรู้เรื่องอุบัติเหตุ และ  การจัดรายการวิทยุมารวมกัน

“เอาดีเจมาอบรม ให้น้องๆที่สนใจมาเข้าร่วม  พออบรมเสร็จ จะให้นักเรียนแต่ละคนมาจัดรายการ เสียงตามสายยามเช้า เป็นการฝึกความกล้า อะไร ไปด้วย ทุกคนได้ประโยชน์  ได้เรียน รู้เรื่องอุบัติเหตุด้วย”

ชาตรีมองว่า มหาวชิราวุธโมเดล เป็นแบบอย่างของการป้องกัน  และลดอุบัติเหตุของโรงเรียน

“ทุกอย่างจะเริ่มได้ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน เราจะปลูกฝัง พี่น้องทุกคนในการ เฝ้าระวัง และป้องกันอุบัติเหตุ และให้ทุกคน รู้ในเรื่องนี้”

ความร่วมมือของมหาวิชราวุธโมเดล ภายใน ระหว่างโรงเรียน กับ นักเรียน ชุมชน ครูอาจารย์ บุคลากร ภายนอก มี นักเรียนเก่า ตำรวจ ภาคเอกชน ชุมชน

ทุกส่วนสำคัญ เป็นเครือข่ายอยู่ทั่ว มีเครือข่าย รายชื่ออยู่พร้อมว่าใครอยู่ที่ไหน เรียกพบ ประชุมได้ตลอด

“การแก้ปัญหานักเรียนแอบ มอเตอร์ไซค์ สำเร็จได้ เพราะศิษย์เก่า และชุมชนช่วยเป็นหูเป็นตา เด็กเอารถไปซิ่งโชว์สาวๆ ไปยกล้อโชว์บ้าง  พอเกิดปัญหาโรงเรียน.ก็เสีย คนก็ว่า เด็กมหาฯ อีกแล้ว ก่อนหน้านี้ มาตรการไม่แข็งแรง เท่าไร  ตอนหลังเข็งแรง ขึ้นกับเครือข่ายข้างนอกด้วย และด้านใน จะมีเป็นสายให้ เด็กจึงไม่กล้าทำผิดอีก”

ชาตรียอมรับว่า มหาวชิราวุธโมเดล ทำให้เกิดความตระหนักอุบัติเหตุ อย่างชัดเจน  เขาประเมินจากการพูดเสียงตามสาย มีเด็กสนใจ และสนใจกิจกรรมเกี่ยวเนื่องทั้งหลาย

น.ส.ศิริวรรณ แก้วนพรัตน์  รองประธานนักเรียน กล่าวว่าการแก้ปัญหาอุบัติเหตุ  นักเรียนมีส่วนร่วมกับทางโรงเรียน เช่นหน่วยปฏิบัตการจราจร (ปจร.) ทำหน้าที่ร่วมกับตำรวจหน้าโรงเรียน  จัดระเบีบยรถจอด คนข้ามถนน คนเดิน
ปจร. จะมีการอบรมจราจร สัญญาณ อะไรกันมากขึ้น การเนกหวีด สัญญาณเตือนให้หยุด การออกอากาศเสียงตามสาย  มีการขอความร่วมมือทำให้ตระหนักมากขึ้น เธอมองว่าการพูดมากๆ บ่อย คงเข้าไปในความคิดของทุกคนจนได้

“หลังรณรงค์ มีการระวังตัวมากขึ้น เป็นระเบียบมากขึ้น เมื่อก่อนรถตุ๊กๆ จอดสะเปะสะปะ ตอนนี้ มีระบบการจอด ขึ้นเป็นระเบียบไม่มีการโหน  เห็นได้ชัดต่างจากเมื่อก่อน” เธอว่าแม้ยอมรับว่าเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งยังแอบใช้มอเตอร์ไซค์ มาโรงเรียน และยังแอบซิ่ง แต่เหลือน้อย

Relate topics

Comment #1พัพัพัพัพัพะ
ดเดเด้ดั (Not Member)
Posted @12 ก.ย. 51 15:50 ip : 222...169

ช่วยเอารูปนายวิรัช บัวยอม ขึ้นหน้าจอที

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว