สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

รายงานการวิจัยเรื่อง การรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นขององค์กรภาคประชาชนเพื่อจัดทำฐานข้อมูลสุขภาพ

โครงการการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นขององค์กรภาคประชาชนเพื่อจัดทำฐานข้อมูลสุขภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อองค์กรภาคประชาชนที่เข้าร่วมในการทำแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา พร้อมทั้งผู้รับผิดชอบในการจัดการฐานข้อมูลขององค์กร รวมถึงประเภทของข้อมูลที่องค์กรจัดเก็บ และความต้องการในการพัฒนาฐานข้อมูลสุขภาพในอนาคต เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การจัดการข้อมูลสุขภาพภาคประชาชนในจังหวัดสงขลา การศึกษาในครั้งนี้อาศัยแบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานขององค์กรจากผู้รับผิดชอบข้อมูลขององค์กร รวมทั้งการสนทนากลุ่มย่อยเพื่อกำหนดเป้าหมาย หากลไกการดำเนินงานและกระบวนการในการสร้างและจัดการฐานข้อมูลสุขภาพ

จากการวิเคราะห์แบบสอบถาม ที่สอบถามองค์กรภาคประชาชนจำนวน ๒๘ องค์กร จากองค์กรทั้งหมด ๔๔ องค์กร สามารถสรุปสถานการณ์ของการจัดการข้อมูลขององค์กรภาคประชาชนได้ดังนี้

๑. ข้อมูลที่องค์กรภาคประชาชนจัดเก็บประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐานขององค์กร เช่นรายชื่อสมาชิก , รายชื่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง , รายชื่อคน , แบบฟอร์ม , ภาพถ่าย ฯลฯ ข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้ ทั้งบทความ เอกสารทางวิชาการและองค์ความรู้ที่สังเคราะห์ขึ้นมา

๒. ข้อมูลที่องค์กรภาคประชาชนมีอยู่ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลทางสุขภาพทางอ้อม เพราะองค์กรภาคประชาชนส่วนใหญ่มีประเด็นการทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีขึ้น ไม่ได้ทำงานในลักษณะของการบริการสุขภาพโดยตรง มีบางองค์กรที่เก็บข้อมูลทางสุขภาพอยู่บ้างเช่นชมรมผู้ปกครองเด็กพิเศษ(ชมรมสานฝันปันรัก) มีการบันทึกพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กกลุ่มพิเศษ ,  กลุ่มคนพิการ , กลุ่มสัจจะวันละ ๑ บาท (มีการบันทึกการเบิกเงินสวัสดิการ แต่ไม่ได้บันทึกอาการของโรค)

๓. การจัดเก็บข้อมูลมีทั้งการบันทึกในกระดาษหรือสมุด และการบันทึกด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะบันทึกเป็นไฟล์เอกสารเช่นเวิร์ด เอ็กเซล มีองค์กรน้อยมากที่บันทึกด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปที่สร้างขึ้นมาเพื่อการจัดการข้อมูลโดยเฉพาะ

๔. ข้อมูลพื้นฐานส่วนใหญ่นำไปใช้ในการติดต่อสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรม และการทำงานตามภาระกิจขององค์กร

๕. องค์ความรู้ที่องค์กรรวบรวมและสังเคราะห์ขึ้นมา มีการนำไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพในการทำงานขององค์กรและเผยแพร่ให้ความรู้แก่สมาชิกและบุคคลภายนอก

๖. ภาคประชาชนส่วนใหญ่มักเน้นการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่กลุ่มมีความสนใจ เช่นการทำการเกษตร การออมทรัพย์  จึงขาดความรู้ในการจัดการข้อมูลภายในองค์กร และวิธีการสื่อสารข้อมูล ทำให้การเข้าถึงข้อมูลจากภายนอกยังอยู่ในรูปแบบที่เข้าถึงได้ยาก ขาดช่องทางในการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

๗. กิจกรรมในเชิงพัฒนาระบบฐานข้อมูลยังมีน้อย เนื่องจากการขาดบุคลากรและเครื่องมือในการทำงาน องค์กรส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญในการจัดการฐานข้อมูล บางองค์กรเริ่มวางแผนในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อจัดการระบบงานให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

๘. ยังไม่มีองค์กรหลักที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานและเป็นศูนย์ในการรวบรวมข้อมูล ทำให้ข้อมูลมีกระจายอยู่ทุกองค์กร ทำให้การเข้าถึงไม่สะดวก

การสร้างศูนย์กลางในการประสานงานข้อมูลและเป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมข้อมูลสุขภาพที่ประชาชน องค์กร และสื่อแขนงต่างๆ สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและรวดเร็วนับเป็นความสำคัญเร่งด่วนที่ต้องกระทำ โดยเน้นกระบวนการในการมีส่วนร่วมจากผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลและผู้พัฒนาฐานข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับความต้องการและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ควรมีกระบวนการต่อไปนี้

๑. ต้องสร้างกระบวนการในการพัฒนาและจัดการฐานข้อมูลสุขภาพ โดยวางเป้าหมายให้เป็นองค์ความรู้ของเครือข่าย เป็นฐานของการระดมทรัพยากรและเสริมสร้างศักยภาพ และสร้างเป็นห้องสมุดสุขภาพ

๒. สร้างกลไกในการทำงาน ให้มีกลุ่มแกน เพื่อสร้างกระบวนการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย สร้างทีมงานจากตัวแทนของแต่ละประเด็นของแผนสุขภาพ และมีการสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ที่องค์กรในเครือข่ายสามารถนำไปประยุกต์ใช้งาน

๓. สร้างฐานข้อมูลกลางที่ประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐาน(Data) ข้อมูลที่ผ่านการประมวลผล(Information) และองค์ความรู้(Knowledge) เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและความรู้สำหรับองค์กรและสื่อที่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

๔. สร้างแผนปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

๕. สร้างกระบวนการสื่อสารและรูปแบบการนำเสนอในสื่อประเภทต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ทางด้านสุขภาพ ตามศักยภาพที่แตกต่างกันของสื่อแต่ละประเภท

ไฟล์ประกอบเอกสาร
  1. org_database_report.pdf - ดาวน์โหลด

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว